posttoday

ถอดบทเรียนนักศึกษาเคลื่อนไหวการเมือง ปังหรือพังอยู่ที่อะไร

29 กุมภาพันธ์ 2563

โซเชียลมีเดียคือกุญแจสำคัญในการระดมพลนักศึกษาให้ออกมารวมตัวกัน

การลุกขึ้นประท้วงของนักเรียนนักศึกษาเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีทั้งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศ และบางครั้งที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมรับเงื่อนไขที่ผู้ประท้วงเรียกร้อง

ในช่วงเวลาที่การลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านความอยุติธรรมของนักศึกษาไทยเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ โพสต์ทูเดย์ขอนำเสนอขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่น่าสนใจ ว่าพวกเขาใช้กลยุทธ์อะไรและสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับประเทศบ้าง

ขบวนการดอกทานตะวัน (Sunflower Student Movement)

นักเรียนนักศึกษาและประชาชนรวมตัวปิดล้อมและยึดห้องประชุมสภานิติบัญญัติในกรุงไทเปของไต้หวัน ระหว่างวันวันที่ 18 มี.ค.-10 เม.ย. 2014 เพื่อคัดค้านการผ่านร่างข้อตกลงการค้าข้ามช่องแคบระหว่างจีนกับไต้หวัน (CSSTA) ของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งที่นำโดย ประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว โดยไม่มีการพิจารณาทบทวนข้อตกลงเป็นรายข้อและทำแบบลับๆ โดยฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว

การประท้วงสิ้นสุดลงในเวลา 23 วัน หลังจาก หวังจินผิง ประธานสภานิติบัญญัติรับปากว่าจะไม่พิจารณาร่างข้อตกลงดังกล่าวจนกว่าจะมีกฎหมายควบคุมดูแลการลงนามข้อตกลงระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ตามที่นักศึกษาเรียกร้อง

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ครั้งนี้ ยังส่งแรงกระเพื่อมทางการเมืองครั้งใหญ่ จนทำให้พรรคก๊กมินตั๋งของประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไปให้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่อิงเหวินเมื่อปี 2016

ด้วยกลยุทธ์ที่เฉียบแหลมและข้อเรียกร้องที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาวไต้หวันช่วยให้ขบวนการดอกทานตะวันได้รับแรงสนับสนุนจากมหาชน จนมีทั้งนักศึกษาและประชาชนมาร่วมประท้วงราว 500,000 คน และองค์กรไม่แสวงกำไร (NGO) อีก 22 แห่ง

นอกจากนี้ ตอนที่นักศึกษาเข้าไปในสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ 18 มี.ค.พวกเขาสื่อสารกันผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เครือข่าย NGO และกลุ่มนักกิจกรรมรุ่นที่อาวุโสกกว่ารับรู้และเห็นข้อความขอความช่วยเหลือ จึงพากันมายังพื้นที่ประท้วงภายในเวลาไม่กี่นาที เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาในช่วงที่มีการปิดล้อม

เกล็น สมิธ ระบุให้บทความเรื่อง Taiwan’s Sunflower Revolution: One Year Later (การปฏิวัติดอกทานตะวันของไต้หวัน : 1 ปีให้หลัง) ว่า สิ่งที่ทำให้การประท้วงชอบธรรมคือ การที่ประชาชนชาวไต้หวันหลายแสนคนเข้าไปร่วมขบวนกับนักศึกษาเพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งพยายามเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับจีนแผนดินใหญ่

ขบวนการนักศึกษาอินโดนีเซีย

วันที่ 23 ก.ย. 2019 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกว่า 300 แห่งทั่วประเทศลงถนนประท้วงการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ของรัฐบาลประธานาธิบดี โจโก วิโดโด รวมทั้งการลดอำนาจของคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต (KPK) ที่ชาวอินโดนีเซียถือว่าเป็นองค์กรที่เชื่อถือได้มากที่สุดและเป็นความหวังในการล้างบางการคดโกง และกำหนดให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำประเทศและการมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสเป็นความผิดอาญา

การประท้วงของนักศึกษาที่กระจายตามเมืองต่างๆ เช่น จาการ์ตา บันดุง ปาดังครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียนับตั้งแต่การประท้วงโค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเมื่อปี 1998 แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการเสียชีวิตของผู้ร่วมประท้วง 5 ราย 

กลยุทธ์เด็ดของนักศึกษาอินโดนีเซียคือ อินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการใช้แฮชแท็ก การเปิดระดมทุนออนไลน์ และการเรียนรู้จากประสบการณ์การประท้วงของนักศึกษาในฮ่องกง อาทิ การรับมือแก๊สน้ำตา และการแตรียมตัวต่างๆ  แล้วแปลเป็นภาษาบาฮาซาโพสต์ลงโซเชียล

ดานู ริซกี ฟาดิลเลาะห์ นักศึกษาวัย 22 ปีเผยว่า อินเทอร์เน็ตคือกุญแจสำคัญในการระดมนักศึกษาให้ออกมาต่อต้านการแก้ไขกฎหมาย "ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตไม่สามารถแยกจากการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เทคโนโลยีอยู่คู่กับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการติดแฮชแท็ก การโพสต์ หรือการขอความช่วยเหลือ " 

การกระจายตัวประท้วง ปิดถนน ก่อจลาจล และอารยขัดขืน บวกกับข้อเรียกร้องที่ชัดเจนทำให้ในที่สุดประธานาธิบดีโจโกวีมีคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาแก้ไขกฎหมายชั่วคราว

อีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลยอมถอยก็คือ การที่ทางการออสเตรเลียออกคำเตือนพลเมืองว่าอาจถูกจำคุกไม่เกิน 1 ปีหากมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสในอินโดนีเซีย เพราะนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางเข้าอินโดนีเซียมากที่สุดเป็นอันดับ 4 รองจากมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ และโจโกวีก็ตั้งเป้าว่าจะต้องมีนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเข้าประเทศอย่างน้อย 20 ล้านคนในปีนี้

หากยังดึงดันแก้กฎหมายอาญา คงดึงดูดนักท่องเที่ยวออสเตรเลียไม่ได้ตามเป้า รายได้จากภาคการท่องเที่ยวของประเทศจะหายไปด้วย

การนัดหยุดเรียนเพื่อสิ่งแวดล้อม (School Strike For Climate)

นักเรียนจากทั่วโลกนัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อเข้าร่วมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศหันมาใส่ใจและลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมี เกรียตา ธูนแบรย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 17 ปี เป็นคนจุดชนวน

แม้จะมีการรวมตัวกันหลายครั้ง แต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมนับล้านๆ คน แต่ก็ไม่สามารถกดดันให้บรรดาผู้นำโลกเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ขณะที่ธูนแบรย์เองถึงกับเอ่ยปากว่า การหยุดเรียนประท้วงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ  เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งที่ธูนแบรย์ไม่สามารถปลุกให้โลกเปลี่ยนได้เป็นเพราะปัญหาโลกร้อนเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และต้องมองปัญหาในหลายมิตินอกเหนือจากสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเสนอที่ธูนแบรย์เสนอล้วนสุดโต่ง อาทิ ให้ยกเลิกการเดินทางด้วยเครื่องบิน

นอกจากนี้ แม้แต่การประชุมรัฐภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ปีที่แล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสิ้นหวังให้กับโลกอย่างแท้จริง เพราะการเจรจาสิ้นสุดลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เนื่องจากประเทศต่างๆ ตกลงกันไม่ได้

ประท้วงร่มเหลือง (Umbrella Movement) ปี 2014

หลังจากคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ (NPCSC) แก้ไขระบบการเลือกตั้งทั่วไปของฮ่องกง ซึ่งตัวแทนผู้สมัครผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต้องผ่านการพิจารณาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน กลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ที่นำโดยสหภาพนักศึกษาฮ่องกง และกลุ่ม Scholarism ของ โจชัว หว่อง จึงพากันรวมตัวประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและปิดถนนเส้นหลักตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2014

การประท้วงจบลงในวันที่ 79 โดยที่ NPCSC ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างนั้นการประท้วงครั้งนี้เป็นการเพาะเชื้อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและนำมาสู่การประท้วงในปี 2019

การประท้วงปี 2019 มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปรับโทษที่จีนแผ่นดินใหญ่ โดยผู้ประท้วงส่วนใหญ่เป็นนักเรียนวัยมัธยมปลายจนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัย

การประท้วงรอบนี้ยืดเยื้อยาวนาน 349 วัน และค่อนข้างรุนแรง มีทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนจริง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บกว่า 2,600 ราย

ทว่า การประท้วงครั้งนี้ขับคลื่อนภายใต้ความกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอนและความรู้สึกว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กำลังยื่นมือเข้ามาใกล้พวกเขาทุกที และความล้มเหลวจากการประท้วงร่มเหลืองยังสอนให้นักเรียนนักศึกษาปรับกลยุทธ์

ผู้ประท้วงจะสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ลบประวัติการใช้งานในสมาร์ทโฟนและกูเกิลแม็พ ซื้อตั๋วรถไฟแบบกระดาษแทนบัตรเดินทางที่ชำระเงินล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการติดตามแกะรอยจากทางการ

ขณะที่การสื่อสารพูดคุยระหว่างกันจะทำผ่านแอพพลิเคชั่นเทเลแกรมที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดและมีการเข้ารหัสข้อความ ต่างจากการประท้วงร่มเหลืองที่ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไปอย่างเฟซบุ๊ค วอทส์แอพ ซึ่งใครๆ ก็เข้าถึงได้

นอกจากนี้ ยังมีกลยุทธ์อื่นๆ เช่น ไม่มีผู้นำแต่จะขอความเห็นจากผู้เข้าร่วมผ่านการพูดคุยในแอพพลิเคชั่น, แยกการรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยกระจายในหลายพื้นที่

แม้กลุ่มผู้ประท้วงจะกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลถอดถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนออกจากการพิจารณาถาวร แต่ แครี่ หลั่ม ยอมเพียงระงับการพิจารณาไว้ชั่วคราวเท่านั้น ผู้ประท้วงจึงชุมนุมต่อ ก่อนจะเข้าไปปักหลักในมหาวิทยาลัยกระทั่งถูกรัฐบาลล้อมปราบจนต้องพากันหนีออกมาอย่างทุลักทุเล

ยุทธวิธีการประท้วงครั้งล่าสุดของนักศึกษาฮ่องกงแม้ว่าจะได้บทเรียนจากการประท้วงร่มเหลืองแต่ก็ยังมีจุดอ่อนในบางจุด การขาดผู้นำทำให้บางครั้งการตัดสินใจลงมือปฏิบัติการอาจหลุดออกจากเป้าหมายกลายเป็นความสะใจส่วนบุคคล การแยกกลุ่มผู้ประท้วงทำให้มีกลุ่มคนเสื้อดำเข้ามาผสมโรงใช้ความรุนแรงเกินเหตุ การประท้วงที่เริ่มจากความสงบจึงบานปลายกลายเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น

ขณะที่รัฐบาลก็พยายามถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ คล้ายกับจะรอวันให้กลุ่มผู้ประท้วงเริ่มหมดไฟไปเอง แม้ แครี่ หลั่ม จะเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าหารือแบบตัวต่อตัว แต่ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถเจรจาได้

อีกจุดหนึ่งที่นักศึกษาฮ่องกงพลาดคือ การเลือกเข้าไปรวมตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคในเกาลูน ทำเลของมหาวิทยาลัยกลายเป็นจุดบอดเพราะถูกล้อมรอบด้วยถนน ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ล้อมจับจากทุกทิศทางจนแทบจะไร้หนทางหนี บางคนถึงกับต้องมุดท่อระบายน้ำออกมาโดยห่อตัวด้วยฟิล์มถนอมอาหารเพื่อป้องกันรอยขีดข่วน

ส่วนกรณีการรวมตัวกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยก็จุดติดขึ้นจากการติดแฮชแท็กนัดแนะกันในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นช่องทางที่คนรุ่นใหม่ถกปัญหาการเมืองไทยอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาในต่างประเทศ

ที่จะต่างกันคือ นักศึกษาไทยรวมตัวกันแสดงพลังอย่างสงบเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะสลายตัว ไม่มีการสร้างความเดือดร้อน

แต่เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้รัฐบาลเห็นว่า เชื้อไฟได้ถูกจุดติดขึ้นมาแล้ว หากสถานการณ์การเมืองไทยยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไฟกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้อาจรวมตัวกันกลายเป็นกองไฟที่โชติช่วงนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมในสักวันหนึ่ง