posttoday

ที่ประชุมแก้ปัญหาโลกร้อนพังไม่เป็นท่า นับถอยหลังวันหายนะ

16 ธันวาคม 2562

นับเป็นความสิ้นหวังของโลกอย่างแท้จริง เมื่อการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศสิ้นสุดลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ

 

นับเป็นความสิ้นหวังของโลกอย่างแท้จริง เมื่อการเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศสิ้นสุดลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งๆ ที่มีการต่อเวลาเพื่อเจรจาถึง 2 วัน จากกำหนดเดิมที่จะจบลงในวันที่ 13 ธันวาคม แต่แม้จะขยายมาเจรจากันต่อถึงวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม ก็ยังไม่ประสบผล การเจรจาสิ้นสุดลงโดยมีหลายประเทศไม่ใช้มาตการแก้ปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลง ท่ามกลางความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

การประชุมรัฐภาคีในกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ถูกเลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยแต่เดิมนั้นบราซิลเป็นเจ้าภาพตั้งแต่แรก แต่กลับขอยกเลิกเพราะอ้างว่าไม่พร้อม ต่อมาชิลีรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพแทน แต่ต้องยกเลิกไปเพราะเกิดจลาจลภายในประเทศ การประชุมจึงต้องย้ายมาจัดที่ประเทศสเปน ด้วยความหวังว่าจะต้องมีการผ่านมาตรการที่ลงมือจริงๆ จังๆ

การเจรจาที่เริ่มขึ้นในกรุงมาดริดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม มีวัตถุประสงค์เพื่อเจรจากฎเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติตามความตกลงปารีสเมื่อปี 2015 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และที่ประชุมจะต้องผ่านมาตรการเพื่อปรับใช้ข้อตกล ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

ผู้แต่ปรากฎว่า ประเทศต่างๆ ตกลงกันไม่ได้ เช่นบราซิลยืนยันว่าว่าคาร์บอนเครดิตที่สะสมภายไว้ใต้ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ ควรถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของภาระผูกพันภายใต้เป้าหมายของความตกลงปารีส และยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ตกลงกันไม่ได้อีก

ประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (ซึ่งเป็นประเทศที่จะจมน้ำก่อนใครหากโลกร้อนขึ้นและน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น) รวมถึงสหภาพยุโรป ต่างร่วมกันผลักดันเพื่อเพื่อให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยสมัครใจ

ประเทศเหล่านี้ ประณามประเทศที่ขัดขวางการลดก๊าซเรือนกระจกและขวางการผ่านฉันทามติของนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย

จีนและอินเดียซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนอันดับ 1 และอันดับ 4 ของโลกย้ำว่าจะไม่ปรับเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมอีกจากกำหนดเดิมที่ 2573 และประเทศยักษ์ใหญ่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ยังเน้นย้ำความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ของประเทศร่ำรวยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายมาก่อนประเทศกำลังพัฒนา และเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยจัดหาเงินทุนให้กับประเทศยากจน เพื่อชดเชยกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเกิดการการใช้มาตรการลดการปล่อยก๊าซ

ผู้สังเกตการณ์การเจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเผยกับสำนักข่าว AFP ว่ารู้สึกตะลึงงันกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

อัลเดน เมเยอร์ (Alden Meyer) ผู้อำนวยการกลยุทธ์และนโยบายของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นการขาดการเชื่อมโยงขนาดนี้มาก่อน ระหว่างสิ่งที่วิทยาศาสตร์ต้องการกับสิ่งที่ที่ประชุมเจรจากัน ในอันที่จะผลักดันการปรับใช้มาตรการอย่างจริงจัง

"ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดในโลกส่วนใหญ่ต่างก็แก้ปัญหาอย่างขาดๆ เกินๆ แถมยังขัดขืนที่จะยกระดับความพยายามลดการปล่อยก๊าซ" เมเยอร์ กล่าว