posttoday

โคโรนาไวรัสพ่นพิษซัพพลายเชน ป่วนโรงงานเอเชีย

26 กุมภาพันธ์ 2563

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสเริ่มส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของหลายประเทศในเอเชียที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน เนื่องจากบริษัทในจีนยังปิดต่อเนื่อง ทำให้การส่งมอบชิ้นส่วนสำคัญไปยังภาคอุตสาหกรรมนอกจีนสะดุด

วิลเลียม ชัม เจ้าของบริษัท Memorigin Watch ผู้ผลิตนาฬิกาชื่อดังของฮ่องกง เผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า การปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนนาฬิกาในจีนทำให้บริษัทส่งมอบนาฬิกาล่าช้าเป็นครั้งแรก และหากเลือกใช้ชิ้นส่วนจากประเทศอื่นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนั้นจึงทำได้เพียงรอเท่านั้น

ขณะที่การขนส่งสินค้าทางเรือก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เรือสินค้าบางลำที่แล่นไปเทียบท่าที่จีนแล้วไม่สามารถขนถ่ายสินค้าลงจากเรือ เนื่องจากไม่มีแรงงาน

ส่วนบริษัท Komatsu ผู้ผลิตอุปกรณ์ทำเหมืองแร่ของญี่ปุ่นกำลังจะย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนออกจากจีนไปยังประเทศอื่นในเอเชีย ทั้งยังต้องซื้อชิ้นส่วนสำคัญจากประเทศอื่นแทน เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย ขณะที่บริษัท Hitachi Construction Machinery ต้องหยุดการผลิตในมณฑลอันฮุยของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส  

ขยับมาที่เพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม เจินต่วนอัน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ยอมรับว่า ภาคการผลิตของเวียดนามทั้งสิ่งทอ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน เพราะโรงงานส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัสดุอุปกรณ์จากจีนเป็นหลัก

ซัมซุง ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายเดียวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คือหนึ่งในบริษัทที่ได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิต เพราะต้องนำเข้าชิ้นส่วนจำเป็นจากจีนทางอากาศหรือทางทะเลแทนเส้นทางรถยนต์ เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามจำกัดปริมาณรถยนต์จากจีนเข้าประเทศ บริษัทในจีนจึงไม่กล้าเสี่ยงส่งสินค้าเพราะกลัวเสียเที่ยว

ภาคการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอซึ่งเป็นแหล่งรายได้อันดับ 3 ของการส่งออกของประเทศรองจากสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเช่นกัน

หวูดึ๊กซาง ประธานสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนามเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า บริษัทสิ่งทอจะเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์รายหลักในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ บรรดาศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาทิ การบิน รถไฟล้วนหนีไม่พ้นวิกฤตโคโรนาไวรัส  เพราะรัฐบาลเวียดนามสั่งปิดเมืองและห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าเวียดนาม

เมื่อไม่สามารถทำธุรกิจได้ตามปกติ ปัญหาที่จะตามมาคือ การปรับลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย กรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว คือสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลนส์ที่ประกาศหยุดรับพนักงานภาคเพื้นดินรายใหม่ชั่วคราว เพราะนักม่องเที่ยวใช้บริการลดลงในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด

ส่วนกรณีของเวียดนามนั้น เลดังซวน อดีตที่ปรึกษารัฐบาลเวียดนามเผยกับ Business Insider ว่า ปีนี้จีดีพีของเวียดนามจะลดลงราว 1% จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 6.9% มาอยู่ที่ 6.0-5.9%

ทว่า สตีเฟ่น ไวแอตต์ จากสถาบันอสังหาริมทรัพย์ Jones Lang LaSalle ในเวียดนาม กลับมองว่า วิกฤตโคโรนาไวรัสอาจสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เวียดนาม ปัญหาห่วงโซ่อุปทานในจีนอาจกระตุ้นให้โรงงานหลายแห่งในจีนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงถูกและเหมาะสำหรับหลีกเลี่ยงภาษีจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

อย่างไรก็ดี แคเธิรีน มานน์ นักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup เผยว่า ตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบเต็มรูปแบบจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสราวช่วงปลายของไตรมาสแรกของปี

กิจกรรมการค้าขายที่ชะงักงันนี้ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทยต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ ส่วนสิงคโปร์กำลังเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ จีนเพิ่งลดดอกเบี้ยนโยบาย และคาดว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้จะประกาศปรัดลดดอกเบี้ยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้ผล ตราบใดที่โรงงานต่างๆ ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบและชิ้นส่วนจากจีน หนทางเดียวที่จะแก้ไขภาวะชะงักงันนี้ก็คือ การควบคุมการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ให้อยู่หมัด