posttoday

สงสัยญี่ปุ่นจะเอาไม่อยู่เพราะ "ความมั่ว" แล้วโอลิมปิกจะไปรอดหรือไม่?

20 กุมภาพันธ์ 2563

เราหลายคนอาจจจะยังเชื่อมั่นในญี่ปุ่นต่อไป จนกระทั่งคนญี่ปุ่นด้วยกันเองต้องออกมาบอกว่าทุกอย่างมันโกลาหลอย่างที่สุด

ดูเผินๆ เหมือนการกักกันเรือ Diamond Princess จะเป็นภารกิจที่เราไว้ใจได้ เพราะเราเชื่อมั่นในคนญี่ปุ่น เราชื่อมั่นว่าประเทศที่เคร่งครัดในระเบียบและทำงานเนี๊ยบอย่างคนญี่ปุ่นจะไม่ปล่อยให้เกิดการระบาดที่บานปลายได้

แต่เมื่อเราพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นทุกทีๆ จากเรือสำราญลำนี้ ความเชื่อมั่นของเราต่อญี่ปุ่นก็เริ่มเสื่อมถอยลง

เราหลายคนอาจจจะยังเชื่อมั่นในญี่ปุ่นต่อไป จนกระทั่งคนญี่ปุ่นด้วยกันเองต้องออกมาบอกว่าทุกอย่างมันโกลาหลอย่างที่สุด

คนแรกที่ตำหนิเรื่องนี้อย่างเปิดเผยคือ เคนทาโร อิวาตะ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโกเบ ที่บอกว่าสถานการณ์ของ Diamond Princess นั้น "โกลาหลอย่างที่สุด" และละเมิดขั้นตอนการกักกันอีกด้วย

พูดภาษาชาวบ้านก็คือ "มั่วที่สุด"

อิวาตะกล่าวในวิดีโอเป็นภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นโพสต์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บอกว่าเขากังวลอย่างมากกับสิ่งที่เขาเห็นบนเรือในช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาจนเขาเองต้องกักตัวไว้ 14 วันด้วยตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในครอบครัว

เขาบอกว่า "เรือสำราญลำนี้ไม่มีการควบคุมการระบาดอย่างเพียงพอเลยแม้แต่น้อย" และบอกว่า "ไม่มีความแตกต่างระหว่างพื้นที่สีเขียวซึ่งปลอดจากการติดเชื้อและพื้นที่สีแดงซึ่งไวรัสอาจปนเปื้อน"

อิตาตะไม่ใช่ตาสีตาสาที่ไหน แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาด เขาเคยอยู่ในแอฟริกาเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคอีโบลา เคยอยู่ที่ประเทศจีนในปี 2546 เพื่อรับมือกับโรคซาร์ส และเคยอยู่ในหลายๆ ประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดของอหิวาตกโรค

แต่เขาบอกว่า แม้จะผ่านสถานการณ์เหล่านั้นมา เขายังไม่เคยกลัวที่จะติดเชื้อเท่ากับตอนที่อยู่บนเรือ Diamond Princess เพราะไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าไวรัสอยู่ที่ไหน

คีย์เวิร์ดสำคัญที่อิวาตะบอกก็คือ "ไม่มีผู้เชี่ยวชาญการระบาดเลยสักคนเดียวบนเรือ" และ "พวกข้าราชการเจ้ากี้เจ้าการไปหมดทุกอย่าง"

ประโยคที่ว่า "พวกข้าราชการเจ้ากี้เจ้าการไปหมดทุกอย่าง" อาจฟังดูธรรมดาๆ เพราะประเทศไหนๆ ก็ใช้ข้าราชการรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ แบบนี้

แต่ประเด็นก็คือ ข้าราชการฝ่ายบริหารไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจำเพาะ และญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องใช้งานข้าราชการแบบสากกะเบือยันเรือรบ และเราเห็นว่าเรื่องที่ต้องใช้มืออาชีพแบบนี้ ญี่ปุ่นก็ยังไม่วายใช้งานข้าราชการแบบไม่เลือกหน้า

อิวาตะชี้ว่า พวกข้าราชการทำให้สถานการณ์แย่ลงเพราะไม่ปฏิบัติตามกระบวนการควบคุมโรคที่ถูกต้อง

ในทศวรรษก่อนๆ นั้นสิ่งที่ขับเคลื่อนการบริการประเทศของญี่ปุ่น คือ "สามเหลี่ยมเหล็ก" (Iron Triangle) คือฝ่ายข้าราชการ ฝ่ายการเมือง และฝ่ายธุรกิจ โดยที่ฝ่ายข้าราชการมีบทบาทรับใช้ฝ่ายการเมืองด้วยความภักดี

ในสมัยก่อนข้าราชการระดับสูงเมื่อเกษียณอายุแล้ว จะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองให้ไปนั่งตำแหน่งใหญ่ในภาคธุรกิจ เพื่อสานต่อภารกิจเกื้อหนุนกัน

ระบบนี้เรียกว่า "อะมะคุดะริ" แปลว่า "ลงมาจากสวรรค์" คือการที่ข้าราชการลงมาจากหอคอยงาช้าง แล้วลงมาขับเคลื่อนภาคธุรกิจและรับใช้นักการเมืองไปพร้อมๆ กัน

ระบบนี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้เติบโตและมีพลังอำนาจมหาศาล แต่มันขาดความโปร่งใส และทำให้นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจมีความหยิ่งยะโสว่าตัวเองคือผู้ที่ชี้ชะตาบ้านเมือง

ระบบนี้สิ้นสภาพเมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีการตรากฎหมายห้ามใช้วิธีอะมะคุดะริ แต่ไม่ได้หมายความว่าอะมะคุดะริ และ "สามเหลี่ยมเหล็ก" จะพังทลายไป ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเพิ่งจะส่งทีมงานอะมะคุดะริไปเป็นฝ่ายบริหารระดับสูงของสนามบินฮาเนดะ

ฝ่ายราชการของญี่ปุ่นก็ยังรับใช้ฝ่ายการเมืองเช่นเดิม ฝ่ายการเมืองมีท่าทีเช่นไรก็สะท้อนที่วิธีปฏิบัติของข้าราชการญี่ปุ่นเช่นกัน

ท่าทีของฝ่ายการเมืองญี่ปุ่นก็น่าตำหนิอย่างหนัก

ในการประชุมทีมปฏิบัติงานป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ชินจิโร โคอิซุมิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมถูกตำหนิอย่างหนักฐานโดดประชุมเพื่อไปร่วมงานปาร์ตี้กับผู้สนับสนุนพรรค

เมื่อถูกสมาชิกร่วมสภาซักไซ้เขาก็ตอบว่าว่า การขาดประชุมของเขาไม่มีผลอะไรต่อมาตรการรับมือการระบาด

ในระหว่างถูกซัก มีถึง 5 ครั้งที่เขาย้ำคำตอบเดิมว่า "การจัดการวิกฤตของเราครอบคลุม"

ชินจิโร โคอิซุมิ คนนี้ไม่ธรรมดาเพราะเป็นถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคต การแสดงออกของเขาคงสะท้อนอะไร ได้ชัดเจนเกี่ยวกับการเมืองญี่ปุ่นและการระบาดของไวรัส

แต่มันไม่ใช่แค่นั้น ไม่ใช่โคอิซุมิที่ขาดประชุม เพราะยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงจังหวัดโอกินาวะและดินแดนภาคเหนือ ทั้งหมดนี้ขาดประชุมเพราะติดภารกิจทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขาดประชุมเพราะอยู่ในเขตเลือกตั้งของตน

การระบาดของไวรัสโคโรนาในญี่ปุ่นเวลานี้เขาสู่ "เฟสใหม่" คือการรระบาดภายในประเทศโดยที่ผู้ติดเชื้อติดจากคนในประเทศเอง ไม่ต้องติดต่อกับคนจากจีน จากอู่ฮั่น หรือที่เสี่ยงอื่นๆ

สถานการณ์คับขันขนาดนี้ ต่อให้อ้างไม่ใช่กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่ได้ เพราะนี่คือวิกฤตของประเทศแล้ว

และอย่าลืมว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่เริ่มมีความกังวลกันแล้วว่าญี่ปุ่นจะ "เอาอยู่" หรือไม่ หรืออาจจะเจอโรคเลื่อน หรือไม่ก็ต้องล้มกันไปเลย?

ดร. ฮิโตชิ โอชิตานิ นักไวรัสวิทยา อดีตที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกและเคยมีประสบการณ์ช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส บอกว่า

"ตอนนี้เราไม่มียุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ และผมคิดว่ามันอาจเป็นเรื่องยากที่จะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (ตอนนี้) แต่ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมเราอาจอยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป"

โอชิตานิหมายความว่าหากจะจัดโอลิมปิกกันตอนนี้คงไม่ได้ เพราะจะติดไวรัสกันหมด แต่ถ้าจัดตามกำหนดก็อาจจะยังพอถูไถไปได้

ตอบแบบนี้เป็นการตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ แต่นัยหนึ่งในคือคำเตือนไปถึงผู้เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นว่าจะมาเอ้อระเหยไม่ได้แล้ว

การที่นักไวรัสวิทยาชาวญี่ปุ่นยังออกปากเองว่า "เราไม่มียุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ" มันคือคำตำหนิตรงๆ ไปยังรัฐบาลญี่ปุ่น

เรื่องนี้ทำให้เราไม่วิตกก็คงไม่ได้แล้ว!

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน