posttoday

อย่ามัวแต่เหยียดคนอื่น คนไทยก็ไม่รอดเหมือนกัน

19 กุมภาพันธ์ 2563

3 คนไทยในต่างแดน แชร์ประสบการณ์ถูกฝรั่งเหยียดเป็นตัวแพร่เชื้อโคโรนาไวรัส

หลังจากเชื้อ Covid-19 ระบาดไม่นาน ชาวเอเชียในต่างประเทศก็เริ่มถูกสายตาของคนตะวันตกมองอย่างดูถูกเหยียดหยามราวกับเป็นตัวแพร่เชื้อ

คนเหล่านี้ รวมทั้งคนไทยที่ไปอยู่ในต่างแดน ได้แชร์เรื่องราวการถูกเหยียดเชื้อชาติของตัวเองลงในโซเชียลมีเดีย

กรณีล่าสุดก็คือ ภวัต ศีลวัตกุล ที่ปรึกษาด้านภาษีวัย 24 ปีที่ไปอยู่อังกฤษตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาบอกเล่าประสบการณ์ถูกทำร้ายในต่างแดนผ่านเฟซบุ๊คว่า ช่วงบ่ายของวันเสาร์ที่ 8 ก.พ. ระหว่างทางกลับบ้านเขาถูกกลุ่มวัยรุ่น 2 คนตะโกนใส่ว่า “โคโรนาไวรัส โคโรนาไวรัส 555 โคโรนาไวรัส โคโรนาไวรัส” บนถนนในย่านฟูแลม ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ

จากนั้นหนึ่งในนั้นตรงเข้ามาคว้าเฮดโฟนออกไปจากคอ แล้วพากันเดินหนีและออกวิ่ง เจ้าตัวจึงวิ่งตามไปเพื่อขอเฮดโฟนคืน แต่วัยรุ่นคนหนึ่งหันมาเหวี่ยงหมัดใส่จนเขาจมูกหักเลือดอาบ โดยระหว่างนั้นวัยรุ่นกลุ่มนี้ถ่ายคลิปไว้ตลอด

ภวัตเชื่อว่าเขาถูกกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายร่างกายเพราะเป็นชาวเอเชีย  

โพสต์นี้มีการแชร์ต่อกว่า 1,600 ครั้ง โดยมีทั้งคนไทย จีน เกาหลีเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์คล้ายกันนี้ บางคนเล่าว่าแม้จะเป็นชาวอังกฤษแต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดภายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ก็ถูกมองด้วยสายตารังเกียจและถูกตะโกนใส่ และยังมีชาวอังกฤษอีกส่วนหนึ่งเข้ามาแสดงความเสียใจ

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ค Tanny Rutdow Jiraprapasuke หญิงอเมริกันเชื้อสายไทยที่เกิดและเติบโตที่ลอสแองเจลิส เธอโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊คว่า เธอกับเพื่อนอยู่ในรถไฟสายสีทอง จู่ๆ ชายคนหนึ่งก็เริ่มโวยวายเกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ตอนแรกเธอคิดว่าชายคนดังกล่าวเมาจึงไม่ได้สนใจ แต่พอเริ่มสังเกตว่าชายคนนั้นพุ่งเป้ามาที่เธอก็รู้สึกตกใจมาก

ในคลิปที่เธอโพสต์จะเห็นว่าชายคนดังกล่าวตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคาย โทษว่าจีนเป็นต้นตอของเชื้อโคโรนาไวรัส รวมถึงถ้อยคำอื่นที่แสดงความเกลียดชังชาวอเมริกันเชื้อสายจีนด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสาวไทยอีกคนหนึ่งที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊ค Panrawee Rungskunroch ที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ โพสต์เล่าว่า เธอถูกบุลลี่ เช่น ตะโกนใส่หน้า ไล่ออกจากตลาด ไอล้อเลียน เพียงเพราะสวมหน้ากากอนามัย หลังจากที่ได้ข่าวว่าเชื้อโคโรนาไวรัสระบาดมาถึงอังกฤษแล้ว  

อันที่จริงหากเป็นประเทศในแถบเอเชีย การสวมหน้ากากอนามัยเพื่อปกป้องตัวเองจากมลภาวะหรือเชื้อโรคถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากเป็นที่อังกฤษการสวมหน้ากากอนามัยจะกลายเป็นคนน่ารังเกียจทันที เพราะคนที่นั่นมองว่าคนที่สวมหน้ากากอนามัยคือคนที่ป่วยร้ายแรง การสวมหน้ากากอนามัยจึงเป็นเรื่องแปลกในอังกฤษ

หากมองในแง่มุมหนึ่ง กระแสการเหยียดเชื้อชาติจีนหรือคนเอเชียอาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่าคนจีนทุกคนสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

ความเชื่อผิดๆ นี้อาจลบล้างได้ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ว่าเมื่อเชื้อแพร่ระบาดในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว ทุกคนเป็นพาหะแพร่เชื้อได้หมด

แต่ในอีกแง่หนึ่งก็สามารถมองได้ว่า ความคิดเหยียดคนเอเชียอยู่คู่กับชาวตะวันตกมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่มี “ความถูกต้องทางการเมือง” หรือ political correctness ที่หลีกเลี่ยงไม่ใช้คำหรือการแสดงออกที่กระทบต่อความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา รูปร่างหน้าตา กดไว้

หรือจะเปรียบเทียบง่ายๆ การเหยียดเชื้อชาติก็เหมือนกับกลิ่นตัว เราสามารถดับกลิ่นไม่พึงประสงค์นี้ด้วยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพียงแค่กลบกลิ่น ไม่ได้ทำให้กลิ่นหายไปถาวร เช่นเดียวกับ political correctness ที่ทำหน้าที่กลบฝังการเหยียดไว้ชั่วคราว

และเมื่อแนวคิดเหยียดคนอื่นยังคงอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ เพียงแค่มีปัจจัยภายนอกมากระตุ้น อย่างในกรณีนี้ก็คือ การระบาดของเชื้อ Covid-19 มันก็ผุดขึ้นมาราวกับลาวาปะทุ อย่างที่หลายคนพูดว่าเราจะเห็นธาตุแท้ของคนก็ต่อเมื่อคนคนนั้นอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่บีบบังคับ

หากเหตุการณ์การเหยียดเชื้อชาติที่ชาวเอเชียกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอย่างหลัง หนทางแก้ไขคงไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแนวคิดเหยียดคนเอเชียฝังรากลึกมานาน

เอริกา ลี ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และอเมริกันเอเชียศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐ เผยว่าแนวคิด Yellow Peris (ภัยเหลือง) ที่เชื่อว่าคนเอเชียคือภัยคุกคามของคนขาว เริ่มมีขึ้นราวศตวรรษที่ 19

โดยคนที่เริ่มใช้คนแรกก็คือ กษัตริย์ ไกเซอร์ วิลเฮลม ที่ 2 (Kaiser Wilhelm II) ของเยอรมนี ใช้คําว่าภัยเหลืองเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1895 อธิบายถึงภัยคุกคามของคนเอเชียที่นําพระพุทธรูปมาแขวนไว้บนเรือทุกลําที่แล่นเข้าไปสู่เยอรมัน ซึ่งถือเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ชั้นนําของยุโรปในยุคนั้น โดยมองว่าเป็นการนําอารยธรรมของคนผิวเหลืองเข้าไปท้าทายในดินแดนของตัวเอง

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการระบาดของเชื้อ Covid-19 ความกลัว กลัวติดโรค กลัวตายถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ก็ต้องไม่กลัวจนเกินกว่าเหตุ

อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติในช่วงที่เชื้อโคโรนาไวรัสระบาด แนะให้ทุกคนระมัดระวังตัวแต่พอดีๆ และเรียกร้องให้ “แสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับนานาชาติ สนับสนุนจีน รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก”

บางครั้งเชื้อไวรัสที่ว่าน่ากลัวแล้ว ยังไม่เท่ากับอคติที่มนุษย์มีต่อกัน