posttoday

ทำไมมนุษยชาติไม่ควรฝากความหวังไว้กับวัคซีนโคโรนาไวรัส

14 กุมภาพันธ์ 2563

การผลิตวัคซีนเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานาน และหากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคชะลอตัวลง ความสนใจในการผลิตวัคซีนของบรรดาบริษัทผลิตยาก็ลดลงตามไปด้วย

ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อโคโรนาไวรัสเพื่อแข่งกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (CEPI) จากนอร์เวย์ ซึ่งร่วมมือกับทีมนักวิจัยทั่วโลก คาดว่าจะผลิตวัคซีนได้ภายใน 6-8 เดือน

Johnson & Johnson คาดว่าจะได้วัคซีนภายใน 8-12 เดือน Clover Biopharmaceuticals ในจีนเผยว่าจะเริ่มทดสอบประสิทธิภาพวัคซีนภายใน 6-8 สัปดาห์ และ Gilead ที่ร่วมมือกับทางการจีนได้นำวัคซีนอีโบลามาพัฒนาต่อยอดสำหรับเชื้อโคโรนาไวรัส และกำลังจะทดลองในผู้ป่วยที่เมืองอู่ฮั่นเร็วๆ นี้

ทว่าแม้จะมีบริษัทหลายแห่งสนใจพัฒนาวัคซีน แต่การผลิตวัคซีนโคโรนาไวรัสออกสู่ตลาดอาจไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด

การผลิตวัคซีนต้องใช้ระยะเวลาและค่อนข้างยากลำบาก เนื่องจากต้องผ่านหลายขั้นตอน ตั้งแต่การคิดค้น การทดลองในสัตว์ การทดลองในมนุษย์ ยังไม่รวมถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน การขออนุญาตต่างๆ และการผลิตออกสู่ตลาดจริงๆ

เช่นนั้นระยะเวลาข้างต้นจะปฏิบัติได้จริงหรือ?

นิโคลา สโตนเฮ้าส์ ศาสตราจารย์ด้านอณูไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยลีดส์เผยว่า การผลิตวัคซีน  การทดสอบ และการจำหน่ายในท้องตลาดอาจต้องใช้เวลานับสิบปี และในอดีตวัคซีนหลายตัวก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปี

วัคซีนป้องกันโรคอีโบลาคือตัวอย่างที่ดีที่สุดของกรณีนี้ นักวิทยาศาสตร์เฝ้าจับตาไวรัสนี้มาตั้งแต่ปี 1976 หรือเมื่อ 44 ปีก่อน แต่เมื่อครั้งที่อีโบลาระบาดครั้งใหญ่ในแอฟริกาตะวันตกเมื่อปี 2014 ก็ยังไม่มีวัคซีน

และแม้ว่าขณะนั้นจะเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ทันกับช่วงเวลาที่เชื้ออีโบลาระบาดสูงสุดก็ยังไม่ทัน จนการแพร่ระบาดผ่านไป 1 ปีจึงได้นำวัคซีนมาทดลองทางคลินิคกับชาวกินี

กว่าองค์การอนามัยโลกจะรับรองให้นำวัคซีนมาใช้กับคนก็ต้องรอจนถึงเดือน พ.ย. 2019

แต่ถึงอย่างนั้น สโตนเฮ้าส์ยังมองว่าขั้นตอนทั้งหมดอาจเร็วกว่านั้น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่านักวิจัยทำงานไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว

สำหรับกรณีของเชื้อโคโรนาไวรัส สโตนเฮ้าส์เผยว่านักวิจัยไม่ได้เริ่มคิดค้นวัคซีนจากศูนย์ แต่เป็นการต่อยอดและใช้ประสบการณ์จากการระบาดของเชื้อซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ซึ่งเป็นเชื้อในกลุ่มเดียวกัน ข้อมูลเก่าเหล่านั้นช่วยย่นระยะเวลาการพัฒนาวัคซีนได้ไม่มากก็น้อย

บวกกับที่ทางการจีนเผยแพร่การจัดลำดับคู่บนสายดีเอ็นเอของไวรัสอย่างรวดเร็ว คือ 10 วันหลังจากที่แจ้งองค์การอนามัยโลกว่าพบการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ยิ่งช่วยให้นักวิจัยเริ่มลงมือคิดค้นวัคซีนได้เร็วขึ้น ผิดกับโรคซาร์สที่กว่าจะเผยแพร่ต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน

กรณีของโรคซาร์สวัคซีนยังไม่ทันได้ออกสู่ตลาด เพราะระหว่างที่นักวิจัยกำลังพัฒนาวัคซีน หน่วยงานสาธารณสุขก็ควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วและบริษัทยาก็ไม่ต้องการผลิตวัคซีนแล้วเช่นกัน เมื่อปี 2004 บริษัท Berna Biotech ประกาศยุติการทดลองวัคซีนโรคซาร์ส เนื่องจากไม่ใช่วัคซีนที่จำเป็นเร่งด่วนแล้ว

และสำหรับเชื้อโคโรนาไวรัส สโตนเฮ้าส์มองว่า ด้วยระยะเวลาที่ต้องใช้ในการผลิตวัคซีน จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่าวัคซีนที่กำลังจะออกมาจะไม่ทันได้ใช้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสครั้งนี้ แต่จะมีประโยชน์กับการแพร่ระบาดในอนาคต

เช่นเดียวกับสถาบันวิจัยเพื่อสุขภาพแห่งชาติของไต้หวัน (NHRI) ที่ระบุว่าวัคซีนที่พร้อมจำหน่ายในท้องตลาดอาจมาไม่ทันใช้กับการระบาดในครั้งนี้ แม้ว่าจะเร่งพัฒนาทั้งวันทั้งคืนก็ตาม

สอดคล้องกับ โรบิน แชทท็อค หัวหน้าแผนกการติดเชื้อทางเยื่อบุและภูมิคุ้มกันจากราชวิทยาลัยลอนดอน ที่ระบุว่า แม้ว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้า แต่เราอาจต้องรอวัคซีนต้านเชื้อโคโรนาไวรัสไปจนถึงต้นปีหน้า