posttoday

เรือที่ใครก็ไม่รับ แต่ทำไม "ฮุน เซน" อ้าแขนรับ

12 กุมภาพันธ์ 2563

ทำไมผู้นำประเทศที่ไม่ยอมให้ประชาชนกลับประเทศ จึงอ้าแขนรับเรือที่ประเทศแล้วประเทศเล่าปฏิเสธไม่ให้เข้ามา?

แม้ว่าเรือ Westerdam จะได้ท่าเทียบในที่สุดและไม่ใช่ประเทศไทยอย่างที่หลายคนกังวล แต่ยังมีบางคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน

คำถามแรก เรือลำนี้บอกว่าได้รับการอนุมัติให้เทียบท่าที่แหลมฉบัง และเดินทางมุ่งมายังไทยในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากชาวไทยอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดยมีทั้งเสียงคัดค้านและความเห็นใจผู้คนบนเรือ

แต่รุ่งขึ้นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยกลับบอกว่า ไม่อนุญาตให้เรือเข้ามา

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์เรือก็ยังมุ่งหน้าเข้าอ่าวไทย และยังเข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ โดยมีเรือรบหลวงเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชตามประกบ พร้อมกับที่มีกระแสข่าวว่าเรือกำลังมุ่งหน้ามาไทย ซึ่งอาจจะเป็นฐานทัพเรือแห่งหนึ่งในไทยตามข้อมูลที่ผู้โดยสารบนเรือเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์

แต่เมื่อเรือเดินทางเข้ามาในอ่าวไทยแนวเดียวกับเกาะช้าง จังหวัดตราด เรือก็เปลี่ยนเส้นทางหันหลังกลับแล้วล่องลงมาทางใต้ด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.5 น็อต หลังจากมีข่าวเรือได้สถานที่เทียบท่าแน่นอนแล้ว นั่นคือเมืองสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา

ทำไมต้องเป็นสีหนุวิลล์?

ขณะที่ไทยมีความพร้อมมากที่สุดอันดับที่ 6 ของโลกในการรับมือกับโรคระบาด จากดัชนี Global Health Security (GHS) แต่กัมพูชามีศักยภาพอันที่ 89 ของโลกจากทั้งหมด 117 ประเทศที่ทำการสำรวจ

เรียกว่าอยู่อันดับท้ายๆ เลยทีเดียว

แต่นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ดูเหมือนจะมีความมั่นใจเกินร้อยว่ารับมือกับการระบาดได้ ความมั่นใจนี้มีเครื่องรับประกันด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อแค่ 1 รายในกัมพูชา และ 1 รายที่ว่านั้นก็รักษาหายแล้วด้วย

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฮุน เซน แสดงความมั่นใจอีกครั้งโดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า โรคที่แท้จริงคือความกลัว ไม่ใช่โคโรนาไวรัส และยัง "ดุ" ผู้สื่อข่าวด้วยว่า "นายกฯ ยังไม่สวมหน้ากากเลย แล้วคุณจะสวมทำไมกัน?"

ฮุน เซน ยังเดินทางไปจีนเพื่อให้กำลังใจจีนต่อสู้กับการระบาด ทั้งยังแสดงความจำนงค์ที่จะเดินทาไงปอู่ฮั่นด้วย ดีที่ทางการจีนเบรคไว้ทัน

ฮุน เซนยังบอกว่าจะไม่สั่งห้ามนักท่องเที่ยวจีนมายังกัมพูชา ที่เหนือไปกว่านั้น ขณะที่ประเทศต่างๆ พยายามอพยพประชาชนของตัวเองกลับ ฮุน เซน ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะไม่อพยพชาวกัมพูชากลับประเทศโดยบอกว่า "เราจะให้ (ชาวกัมพูชา) อยู่ที่นั่นเพื่อร่วมแบ่งปันความสุขและทุกข์ (ของชาวจีน) และช่วยพวกเขาแก้ไขสถานการณ์นี้"

ฮุน เซน อาจจะรักจีนแต่คงกลัวสูญเสียผลประโยชน์จากจีนมากกว่า เพราะเขาบอกเองว่า "การอพยพพวกเขากลับมา อาจจะเป็นการยุติโอกาสสำหรับชาวกัมพูชาที่จะศึกษาที่นั่น จีนจะหยุดให้ทุนการศึกษา"

หากวิเคราะห์ตามนี้ ผู้นำกัมพูชายอมเสียสละประชาชนตัวเอง เพื่อไม่ให้จีนเคือง เพราะหากจีนเคือง กัมพูชาจะเสียโอกาส และโอกาสที่ฮุน เซนน่าจะปรารถนาที่สุดคือ "เงิน"

ปี 2561 จีนลงทุนในจีนถึง 3,594 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรงมากที่สุดในกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนของ FDI ทั้งหมด 43% หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

และในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 2 ล้านคนมาเที่ยวกัมพูชา เพิ่มขึ้นถึง 24% และคาดว่าภายในปี 2566 การค้าทวิภาคีของจีนและกัมพูชาจะมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ป่วยที่พบในกัมพูชาเป็นชาวจีนอยู่ที่สีหนุวิลล์

ในตอนนี้หากใครไปเยือนสีหนุวิล์อาจอุทานเบาๆ ว่า "นี่คือเมืองจีนหรือเปล่า?" เพราะเต็มไปด้วยชาวจีนและการลงทุนจากจีน

แล้วทำไมผู้นำประเทศที่ไม่ยอมให้ประชาชนกลับประเทศ (เพราะอาจกลัวการตอบโต้จากจีน) จึงอ้าแขนรับเรือที่ประเทศแล้วประเทศเล่าปฏิเสธไม่ให้เข้ามา?

คำตอบนั้นอาจอยู่ในเนื้อหาตอนท้ายๆ ของบทวิเคราะห์นี้แล้ว