posttoday

มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน สัมพันธ์จีน-ไทยไม่ได้ราบรื่นเสมอไป

07 กุมภาพันธ์ 2563

การกดขี่จีนในสยาม ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับจีน แต่เป็นเรื่องของคนจีนที่ถูกทำให้เป็นไทยกับคนจีนที่ยังถือตัวเป็นจีนในไทย

ในวารสาร The China Critic ฉบับ 2 มกราคม 1936 เคยวิจารณ์ความสัมพันธ์อันทุลักทุเลของจีนและประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นยังเรียกว่าประเทศสยามเอาไว้อย่างน่าสนใจ เป็นเรื่องราวในอดีตที่สามารถนำมาวิเคราะห์ปัจจุยันและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ 

เวลานั้นสยามกับจีนยังไม่ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มที่ เพราะจีนติดพันสงครามญี่ปุ่น ส่วนสยามก็ไม่ได้ใส่ใจสงครามในจีนมากนักและยังเอียงญี่ปุ่นด้วยซ้ำ พร้อมๆ กับเกิดกวาดล้างลัทธิชาติจีนนิยมในหมู่คนจีนในประเทศสยาม โดยเฉพาะนโยบาย "นิยมไทย ไม่นิยมจีน" ของจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่ทำให้คนจีนในสยามอยู่กันอย่างยากลำบาก และแค่อนเคืองรัฐบาลเป็นอันมา

เวลาเราพูดถึงการกดขี่คนจีนในไทยเรามักจะนึกถึงจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นหลัก

แต่นอกจากหลวงจอมพลป. พิบูลสงคราม บทความในวารสาร The China Critic ยังออกชื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) กับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ด้วยน้ำเสียงไม่พอใจอย่างมากเพราะทั้งคู่มีเชื้อจีนแท้ๆ แต่สนับสนุนนโยบายกีดกันคนจีน โดยเฉพาะนายหลุย พนมยงค์ น้องชายหลวงประดิษฐ์ ที่ต่อต้านจีนรุนแรงมาก

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบ หลวงประดิษฐ์ฯ มีบิดาแซ่ตั้ง (เฉิน) ส่วนพระยาพหลฯ มีทวดแซ่ลิ้ม (หลิน)

ตามผู้เขียนบทความคือ "หลินซีชุน" อธิบายเราจะพบว่ากระแสต้านจีนในสยามมีความยอกย้อนมาก เพราะชนชั้นนำในสยามทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมีเชื้อจีนเป็นจำนวนมาก แต่แทนที่จะช่วยลดกระแสกลับทำให้การต่อต้านรุนแรงขึ้น

สรุปแล้วผู้เขียนบอกว่า การกดขี่จีนในสยาม ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับจีน แต่เปฺ็นคนจีนที่ถูกทำให้เป็นไทยกับคนจีนที่ยังถือตัวเป็นจีนในไทย

สาเหตุที่คนจีนในสยามลืมตัวเองว่าเป็นจีนและกลายเป็นไทยยิ่งกว่าไทยก็เพราะ

1. สมัยก่อนเวลาคนจีนออกจากประเทศ จะกลับเข้าไปไม่ได้ เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย ต้องปักหลักในต่างแดนไปจนตาย รัฐบาลจีนจะมองว่าพวกนี้เป็นพวกไม่พึงปรารถนา ต่างชาติจะฆ่าทิ้งก็ไม่แยแส เช่น คราวสเปนสังหารหมู่คนจีนที่มะนิลา และฮอลันดาฆ่าหมู่ชาวจีนที่ปัตตาเวียหรือจาการ์ตา ครั้งนั้นพวก จีนนอก (ชาวจีนที่ออกนอกประเทศ) ตายเป็นหมื่น พวกสเปนกับฮอลันดากลัวราชสำนักจีนจะเคืองถึงกับแต่งทูตไปชี้แจง แต่ราชสำนักต้าชิงบอกว่า ฆ่าไปเถิดเราไม่แคร์ พวกนี้ไม่ถือเป็นคนจีนอีก ด้วยเหตุนี้พวกจีนนอกจึงไม่รักรัฐบาลตัวเอง อีกทั้งสยามยังเดูแลค่อนข้างดี เพราะตอนนั้นขาดแรงงาน คนจีนจึงกลายเป็นไทยโดยง่าย แถมยังไต่เต้าเป็นขุนน้ำขุนนางอีก

2. ตามธรรมเนียมจีนไม่นับถือพวกที่ทิ้งแผ่นดินบ้านเกิด ละทิ้งสุสานบรรพชน ถือเป็นลูกหลานไม่ดี จีนนอกที่กลับบ้านเกิดพร้อมลูกที่เกิดนนอกจีน มักได้รับการดูถูกเหยียดหยาม หากจะเข้าชื่อในสกุลต้องเสียสินไหมเป็นเงินหลายร้อยเหรียญ แต่ถึงจะเสียเงินแล้วคนก็ยังดูถูก มักหาหญิงจีนแต่งงานด้วยยาก หากจะมีก็ต้องจ่ายสินสอดถึง 2 เท่าจากปกติ เพราะถูกกระทำย่ำยี ลูกจีนนอกจึงเลือกที่จะไม่กลับแผ่นดินบรรพชน และปักหลักในที่ต่างแดนที่ตัวเองเกิด

3. ไม่ยึดโยงวัฒนธรรมพ่อ (จีน) และถูกวัฒนธรรมแม่ (ไทย) กลืน ก่อนรัชกาลที่ 6 สยามมีโรงเรียนจีนน้อยมาก ทำให้ขาดการอบรมวัฒนธรรมพ่ออย่างเป็นรูปแบบ เมื่อจีนอพยพแต่งกับหญิงไทย ก็มักถูกข่ม เพราะธรรมเนียมไทยผู้หญิงเป็นใหญ่ในบ้าน และมักยกมรดกให้ลูกสาว จึงมักไม่อยากแต่งเข้าบ้านสามี ถ้าสามีจีนมีครอบครัวที่จีนอยู่แล้ว ภรรยาไทยจะพยายามให้สามีลืมความเป็นจีน เพื่อที่จะไม่ต้องแบ่งทรัพย์กับครอบครัวที่นั่น บางรายถึงกับจ้างมือสังหารฆ่าสามีจีนเพื่อจะเก็บทรัพย์เป็นของตัวแต่ผู้เดียว นอกจากนี้ คนจีนนอกและลูกจีนสยาม จะพยายามลืมความเป็นจีน และรับความเป็นไทย เพื่อจะได้ไต่เต้าเป็นใหญ่เป็นโตได้ง่ายในราชสำนัก

นี่เป็นเหตุผลของยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อสังคมการเมืองเปลี่ยนแปลง สยามเริ่มมีคนมาก แรงงานจีนล้น คนไทยไม่มีงานทำ การจำกัดคนจีนจึงเริ่มขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังปี 2475 เพราะการกวาดล้างคนจีนมักพ่วงกับการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ อีกทั้งคนจีนยังรวมตัวกันเป็นสมาคมที่เข้มแข็ง แต่มิใช่เพื่อต่อต้านรัฐบาลสยาม เพราะเป็นการรวมเพื่อช่วยกู้ชาติจากการรุกรานของญี่ปุ่น

หากรัฐบาลสยามมองว่าคนจีนเป็นภัยคุกคามทั้งการเมือง อีกทั้งไทยยังนิยมญี่ปุ่น มองญี่ปุ่นเป็นฮีโร่และแบบอย่าง ในทางเศรษฐกิจก็รู้สึกไม่มั่นคงเพราะจีนคุมทุกอย่าง จึงสั่งปิดโรงเรียน สั่งให้เพิ่มโควต้าคนไทยในกิจการที่จีนเป็นเจ้าของ พยายามรวบกิจการข้าวมาเป็นของรัฐ เพราะอุตสาหกรรมโรงสีอยู่ในมือคนจีน

การกดดันชาวจีนในไทย ทำให้ชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ถึงกับต้องคว่ำบาตรสินค้าไทย คือข้าว ส่งผลให้การส่งออกข้าวลดลง

สรุปอีกครั้งตามความเข้าใจของผู้เขียน (หลี่ซีชุน) ก็คือ การกดขี่จีนในสยาม ไม่ใช่การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับจีน แต่เป็นเรื่องของคนจีนที่ถูกทำให้เป็นไทยกับคนจีนที่ยังถือตัวเป็นจีนในไทย

ฟังแล้งงงไหมครับ?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพประกอบจากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam เป็นภาพพ่อค้าชาวจีนในประเทศสยามสมัยรัชกาลที่ 5