posttoday

ทำไมมนุษย์ถึงติดเชื้อโรคจากสัตว์มากขึ้น

31 มกราคม 2563

การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งคาดว่ามีต้นตอมาจากสัตว์ป่า ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราเสี่ยงติดเชื้อโรคที่มาจากสัตว์เพิ่มมากขึ้น

ดูเหมือนว่าการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนจะยิ่งเป็นปัญหามากขึ้นในอนาคต เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโลกาภิวัฒน์ที่มนุษย์เดินทางไปทั่วโลก ได้เปลี่ยนแปลงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์

สัตว์ทำให้มนุษย์ป่วยได้อย่างไร

มนุษย์มักจะติดเชื้อโรคจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเอชไอวีจากลิง ไข้หวัดนกจากนก ซาร์สจากค้างคาวและอีเห็น อีโบลาจากค้างคาว

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมยิ่งเร่งกระบวนการให้เชื้อโรคจากสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่า แพร่สู่มนุษย์ได้เร็วขึ้น ในขณะที่การเดินทางไปทั่วโลกของมนุษย์ยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

เชื้อโรคกระโดดจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร

สัตว์ส่วนใหญ่มีเชื้อโรคทั้งไวรัสและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอยู่ในตัวอยู่แล้ว

เชื้อโรคจะอยู่รอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการทำให้แหล่งอาศัยใหม่ (host) ติดเชื้อ และการกระโดดจากสัตว์ไปยังมนุษย์คือวิธีการเอาตัวรอดอย่างหนึ่งของเชื้อโรค

โดยปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะพยายามกำจัดเชื้อโรคแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย นั่นหมายความว่าทั้งเชื้อโรคและภูมิคุ้มกันของคนจะต้องมีการวิวัฒนาการให้แข็งแกร่งเพื่อกำจัดอีกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมนำมาสู่การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย การดำรงชีวิต ลำดับห่วงโซ่อาหารว่าใครกินใครของสัตว์ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ด้วย

ปัจจุบันประชากรโลก 55% อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง จากเมื่อ 50 ปีก่อนที่มีเพียง 35%

เมืองเหล่านี้ได้กลายเป็นบ้านใหม่ของสัตว์ป่าด้วย ไม่ว่าจะเป็นหนู แรคคูน กระรอก สุนับจิ้งจอก นก ลิง ที่เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่สีเขียวอย่างสวนสาธารณะ และกินขยะที่มนุษย์ทิ้ง

สัตว์ป่าพวกนี้อยู่รอดในเมืองมากกว่าในป่าเสียอีก เนื่องจากมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ ทำให้พื้นที่เมืองกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคที่กำลังพัฒนาตัวเอง

ใครเสี่ยงสุด

โรคใหม่ใน host ใหม่จึงค่อนข้างอันตราย ดังนั้นโรคอุบัติใหม่จึงน่ากังวลมาก เนื่องจากคนบางกลุ่มมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนอื่น

การติดเชื้อสามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากมีผู้คนหนาแน่น หายใจจากอากาศเดียวกัน จับต้องสิ่งของเดียวกัน และในบางวัฒนธรรมยังนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่าซึ่งเป็นแหล่งของเชื้อโรค จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากสัตว์เหล่านั้น

โรคระบาดคือส่วนหนึ่งของอนาคต

ในอนาคตมนุษยชาติไม่สามารถหลีกเลี่ยงโรคระบาดได้ ดังนั้นการเรียนรู้การอุบัติและการแพร่ระบาด รวมั้งการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการลงทุนด้านสุขภาพในระดับโลกจะช่วยให้มนุษย์จัดการกับโรคเหล่านี้ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเตรียมตัวดีอย่างไรก็ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสที่เชื้อโรคระบาดจะกลายเป็นหายนะสำหรับมนุษยชาติ

เมื่อช่วงกลางของศตวรรษที่แล้ว บางคนในโลกตะวันตกเคยอ้างว่าโรคติดเชื้อเป็นโรคที่สามารถเอาชนะได้

แต่ต้องไม่ลืมว่ายิ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นเมืองใหญ่ไปรบกวนระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอุบัติใหม่ก็ยิ่งสูงขึ้น

***หมายเหตุ เรียบเรียงจากบทความเรื่อง Coronavirus: Why are we catching more diseases from animals? โดยศาสตราจารย์ ทิม เบนตัน ผู้อำนวยการทีม Emerging Risks จากสถาบัน Chatham House แห่งราชสมาคมว่าด้วยกิจการระหว่างประเทศของอังกฤษ