posttoday

สี-ซูจี ลงนามเมกะโปรเจกต์ ฟื้นโครงสร้างพื้นฐานเมียนมา

18 มกราคม 2563

จีน-เมียนมา ลงนามMOU 33 ฉบับ เมียนมาได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนจีนได้สยายปีกการค้าเส้นทางสายไหมออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

จีน-เมียนมา ลงนามMOU 33 ฉบับ เมียนมาได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนจีนได้สยายปีกการค้าเส้นทางสายไหมออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

วันที่18 ม.ค. ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน และนางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเมียนมา ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจจำนวน 33 ฉบับกับทางการจีน โดยประเด็นสำคัญของทุกฉบับล้วนเป็นไปตามยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งทาง เพื่อสร้างการเชื่อมโยงทางการค้าตามแนวคิด "เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21"

กรอบความร่วมมือที่จีนลงนามร่วมกับเมียนมา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือ China Myanmar Economic Corridor (CMEC) ซึ่งเป็นการเชื่อมโครงข่ายการค้าของจีนในแถบตะวันตกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ตามแผนเส้นทางสายไหมของจีน

โครงการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่จีนจะลงทุนในเมียนมาตามข้อตกลง MOU ล้วนเป็นไปตามที่มีการรายงานไปก่อนหน้านี้ อาทิ การร่วมทุนก่อสร้าง และสัมปทานท่าเรือน้ำลึกเจาะพยูในรัฐยะไข่ มูลค่า1.3 พันล้านดอลลาร์ แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยูโดยรอบบริเวณท่าเรือ ซึ่งจะช่วยให้สยายปีกโครงข่ายการค้าจากบริเวณมณฑลยูนาน ผ่านทางเมียนมา เพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

สี-ซูจี ลงนามเมกะโปรเจกต์ ฟื้นโครงสร้างพื้นฐานเมียนมา

โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมียนมา-ยูนาน จากเมืองมูเซะ ในรัฐฉาน ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ ข้ามเมียนมาทั้งประเทศ ไปสิ้นสุดยังชายฝั่งตะวันตกของเมียนมาเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงแผนการปรับปรุงและขยายเขตปริมณฑลของนครย่างกุ้ง

อย่างไรก็ดี ตามMOUที่จีนลงนามกับเมียนมานี้ ไม่ได้กล่าวถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน ในรัฐคะฉิ่น มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 6,000 เมกะวัตต์ บริเวณต้นแม่น้ำอิรวดี ด้วยเงินทุนจีน ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2011 เนื่องจากข้อกังวลด้านผลกระทบทางระบบนิเวศ

ด้านนาย Richard Horsey นักวิเคราะห์จาก International Crisis Group ซึ่งจับตามองการลงนามครั้งนี้จากเมียนมา มองว่า แม้จะดูเป็นตัวเลขการลงทุนของทุนจีนขนาดใหญ่ แต่เมียนมาค่อนข้างระมัดระวังติดกับดักหนี้จีนพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลพรรคNLDของนางซูจีมีกำหนดถึงช่วงเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคมปี 2021

อย่างไรก็ดี ชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งเตรียมชุมนุมด้านหน้าสถานทูตจีนในเมืองย่างกุ้งในวันนี้ เพื่อประท้วงต่อการที่จีนเข้าฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเมียนมา รวมถึงการสร้างเขื่อนในรัฐคะฉิ่น แม้โครงการจะระงับไปแล้ว

เช่นเดียวกับที่มีนักธุรกิจเมียนมารายหนึ่งกล่าวว่า เมียนมาไม่มีเครื่องมือในการประเมินโครงการของจีนว่าสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศหรือไม่ หรือจะก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่นหรือไม่