posttoday

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา

17 มกราคม 2563

ปธน.สีจิ้นผิงเยือนเมียนมาครั้งแรก พร้อมเตรียมลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างพื้นฐานสำคัญหลายพันล้านดอลลาร์

ปธน.สีจิ้นผิงเยือนเมียนมาครั้งแรก พร้อมเตรียมลงนามสัญญาโครงการก่อสร้างพื้นฐานสำคัญหลายพันล้านดอลลาร์

วันที่17 ม.ค. ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ได้เริ่มต้นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของปี 2020 โดยมีกำหนดเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นเวลาสองวัน ระหว่าง 17-18 ม.ค.นี้

การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเมียนมาครั้งแรกของนายสีจิ้นผิง และถือเป็นการเยือนของผู้นำจีนครั้งแรกในรอบ 19 ปี นับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน เดินทางเยือนเมียนมาในเดือนธันวาคม 2001

การเยือนเมียนมาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ไม่เพียงแค่จะเป็นการเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่การเยือนครั้งนี้หลายฝ่ายได้จับตาถึงผลประโยชน์และการลงทุนสำคัญที่จีนเตรียมลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับเมียนมา เป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา

โครงการที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย เส้นทางรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู (Kyaukphyu Special Economic Zone - SEZ) รวมถึงการปรับโฉมนครย่างกุ้ง

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีกำหนดการเดินทางถึงยังกรุงเนปิดอว์ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของนางอองซานซูจี

การลงทุนที่จีนเตรียมลงนามร่วมกับเมียนมานี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา หรือ China Myanmar Economic Corridor (CMEC) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในการเชื่อมโครงข่ายการค้าของจีนในแถบตะวันตกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ตามแผนเส้นทางสายไหมของจีน ประกอบด้วยโครงการสำคัญอาทิ ..

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา

 

ท่าเรือน้ำลึกรัฐยะไข่

ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่นี้จะตั้งอยู่ในเมืองเจาะพยู (Kyaukphyu) ในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ SEZ และถือเป็นหัวใจสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษจีน-เมียนมา มูลค่าสูงถึง 1.3 พันล้านเหรียญ ซึ่งท่าเรือแห่งนี้จะกลายเป็นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน

แม้ว่าเมียนมาจะสามารถต่อรองราคา "ท่าเรือเจาะพยู" จากเดิม 7.2 พันล้านดอลลาร์ เหลือ 1.3 พันล้านดอลลาร์ แต่พม่าก็ต้องร่วมลงทุนค่าก่อสร้างถึง 30%

พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเจาะพยู สยายปีกสู่มหาสมุทรอินเดีย

นอกจากท่าเรือแล้ว บริเวณพื้นที่โดยรอบท่าเรือของเมืองเจาะพยู ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่งนา และป่าสัก ในรัฐยะไข่ซึ่งตั้งอยู่ติดมหาสมุทรอินเดีย จะถูกเปลี่ยนให้เป็นที่ตั้งของเขตโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งโรงงานเย็บผ้า โรงงานแปรรูปอาหาร โดยทางการเมียนมาให้คำมั่นว่าชาวยะไข่จะเป็นคนงานกลุ่มแรก ที่ได้รับพิจารณาเข้าทำงานจากตำแหน่งงานใหม่ทั้งหมด 4 แสนตำแหน่ง แต่บางฝ่ายหวั่นว่าผลประโยชน์จะตกกับคนนอกรัฐ

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา

เขื่อนคะฉิ่น

"Myitsone Dam" จะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ของเมียนมา มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 6,000 เมกะวัตต์ มูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขื่อนแห่งนี้จะสร้างขึ้นบนแม่น้ำอิระวดี ซึ่งนั่นสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำอิรวดีโดยตรง เนื่องจากเขื่อนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ขนาดใหญ่พอๆกับประเทศสิงคโปร์

โครงการแห่งนี้ถูกเสนอในปี 2009 แต่โดนระงับไปในปี 2011 และหากเมียนมาจรดปากกาลงนามสร้างเขื่อนกับจีน เรื่องนี้อาจกลายเป็นประเด็นให้คนพม่าออกมาประท้วงอีกครั้ง

 

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา China Daily

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมียนมา-ยูนาน

โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 8.9 พันล้านดอลลาร์ จะเชื่อมมณฑลยูนาน ซึ่งเป็นมณฑลที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลของจีน ผ่านทางเมืองมูเซะของเมียนมา ไปสู่ชายฝั่งตะวันตกของพม่าเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย

ทว่าโครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ต่อผ่านกลางพื้นที่รัฐฉานของเมียนมาซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มติดอาวุธ และแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งต้องหาข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มเหล่านี้ นอกจากนั้นอีกประการคือ ในพื้นที่ดังกล่าวเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งถือเป็นความท้าทายเชิงวิศวกรรมในการก่อสร้าง

 

จับตา สีจิ้นผิงปิดดีล "เมกะโปรเจกต์" พลิกโฉมเมียนมา

เมืองใหม่นครย่างกุ้ง

แม้กรุงเนปิดอว์จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของเมียนมา มานานหลายปี แต่นครย่างกุ้งยังคงเป็นเมืองสำคัญที่มีประชากรอาศัยเป็นจำนวนมาก และเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมียนมา

ทางการเมียนมาหวังจะพลิกโฉมเมืองแห่งนี้ ด้วยการขยายความเจริญของเมืองไปยังแถบปริมณฑลในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำย่างกุ้ง ด้วยเงินลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์ โดยหวังว่าเมืองปริมณฑลนี้จะแก้ปัญหาความแออัด รถติด และการขาดแคลนไฟฟ้าและประปาของย่างกุ้งได้ แต่หลายฝ่ายหวั่นว่าจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการทุจริตในท้องถิ่น