posttoday

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่มาตามนัด

13 มกราคม 2563

บทวิเคราะห์สถานการณ์อิหร่านโดยกรกิจ ดิษฐาน เมื่อสถานการณ์พลิกผันไม่เหมือนที่คาดกันไว้

นับตั้งแต่วันที่อิหร่านทำการโจมตีฐานทัพของสหรัฐ 2 แห่งในอิรัก ความหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เกิดขึ้นแทบจะในทันที ในวันนั้นโซเชียลเน็ตเวิร์กพากันพูดถึงสงครามโลกราวกับว่ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศมองเห็นสถานการณ์ที่สิ้นหวัง และโยงความขัดแย้งอิหร่านสหรัฐไปไกล (เกินเหตุ) จนกระทั่งมองว่ามันอาจเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรทั้ง 2 ประเทศไปด้วย

เซียนการเมืองระหว่างประเทศบางคนคงจะเชื่อมั่นว่าทรัมป์ไม่ยอมให้อิหร่านเอาเท้าลูบหน้าแบบนี้แน่ๆ และจะต้องตอบโต้ให้สาสม

แต่ความกลัวเรื่องสงครามโลกเริ่มแผ่วลง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์มีปฏิกิริยาครั้งแรกไปคนละทางกับความคาดหวังของชาวโลก โดยบอกว่าไม่มีใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการโจมตีโดยอิหร่าน และดูเหมือนอิหร่านจะ "เขม็งเกลียวน้อยลง" ส่วนตัวเขาพร้อมที่จะ "อ้าแขนรับสันติภาพ" และสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาค

ท่าทีของทรัมป์แสดงให้เห็นว่าสหรัฐน่าจะทราบเรื่องที่อิหร่านจะโจมตี จึงมีท่าทีตอบสนองที่ค่อนข้างชิลๆ แถมยังสวมบทพระเอกด้วยการเอ่ยถึงสันติภาพเสียอย่างนั้น

ข้อสันนิษฐานเรื่องสหรัฐรู้ล่วงหน้าได้รับการยืนยันโดยข่าวเอ็กซ์คลูซีฟของสำนักข่าว CNN ที่อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในฐานทัพสหรัฐอัลอัสซาดในอิรัก (สถานที่ที่ถูกโจมตี) ซึ่งเผยว่าสหรัฐรู้ล่วงหน้าและมีการอพยพเจ้าหน้าที่ออกไปตั้งแต่หนึ่งวันก่อนหน้านั้น

หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ ทั้งๆ ที่อิหร่านโจมตีในรูปแบบซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการประกาศสงครามได้

นอกจากรัฐบาลทรัมป์จะบ่ายเบี่ยงที่จะเผชิญหน้าแล้ว สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็เรียกร้องให้ทรัมป์ลดการเผชิญหน้ากับอิหร่านลง แน่นอนว่าแม้จะไม่ส่งเสียงเรียกร้องออกมา เรื่องนี้ทรัมป์ก็ต้องทำอยู่แล้ว

ในวันที่ 9 มกราคม รัฐบาลสหรัฐมีจดหมายไปถึงสหประชาชาติ แจ้งว่าพร้อมที่จะดำเนินการเพิ่มเติม 'ตามความจำเป็น' เพื่อปกป้องบุคลากรของสหรัฐผลประโยชน์ในตะวันออกกลาง แต่ก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมโดยไม่มีเงื่อนไขในการเจรจาอย่างจริงจังกับอิหร่าน เพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น

คำว่า "สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น" อาจหมายถึงการนำไปสู่สงครามได้เหมือนกัน จากท่าทีนี้เราจึงอนุมานได้ว่าสหรัฐไม่ต้องการที่จะมีสงคราม

ทำไมสหรัฐจึงมีท่าทีแบบนี้?

แน่นอนว่า สหรัฐทราบล่วงหน้าว่าจะมีการโจมตี จึงจำกัดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินได้ การปล่อยให้อิหร่านโจมตียังเป็นการทำให้อีกฝ่ายนั้น "เขม็งเกลียวน้อยลง" เหมือนที่ทรัมป์กล่าว เหมือนกับเป็นการระบายความคับแค้นใจออกมา

แต่สหรัฐก็อาจทราบด้วยว่าอิหร่านทำผิดพลาดด้วยการยิงเครื่องบินพลเรือนตก สถานการณ์เช่นนี้อย่าว่าแต่จะประกาศสงครามต่อเลย แม้แต่อิหร่านก็ยังเสี่ยงที่จะตกเป็นอาชญากรสงครามเอาง่ายๆ ดังนั้น ยังไม่ทันที่ความฮึกเหิมจากการโจมตีฐานทัพสหรัฐจะซาลงไป อิหร่านก็เหี่ยวลงในทันทีที่ทราบว่าทำให้เครื่องบินตกผู้โดยสารตายยกลำ

แน่นอนว่า Collateral damage หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจต่อพลเรือนในสงคราม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ความเสียหายต่อพลเรือนในระดับนี้แสดงถึงความด้อยของเทคโนโลยี ความอ่อนประสบการณ์ และอาการควบคุมความตื่นเต้นเอาไว้ไม่อยู่ของฝ่ายอิหร่านอย่างชัดเจน อิหร่านจึงจะต้องรู้สึกขายหน้าจนไม่อาจแสดงอาการฮึกเหิมต่อไปได้อีก

เมื่อสหรัฐไม่ต่อความยาวสาวความยืด อิหร่านก็ไม่มีเหตุผลที่จะลงไม้ลงมือต่อ

ดังนั้นอิหร่านจึงเริ่มส่งสัญญาณที่จะเลือกสันติภาพมากกว่าความขัดแย้ง โอกาสนี้มาถึงเมื่อเอมีร์แห่งกาตาร์เดินทางมาเยือนอิหร่าน

กาตาร์นั้นเป็นที่ตั้งของฐานสหรัฐที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค แต่กาตาร์ก็มีความผูกพันกับอิหร่านอย่างมาก ดังนั้นกาตาร์จึงอาจเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งได้

เมื่อประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานิของอิหร่านคุยกับกับเอมีร์แห่งกาตาร์ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าการลดระดับการเผชิญหน้าเป็น "ทางออกเดียว" ของวิกฤตการณ์ในระดับภูมิภาค

เชค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลตานี ประมุขหรือเอมีร์แห่งกาตาร์กล่าวว่า "เราเห็นด้วย ... ว่าทางออกเดียวสำหรับวิกฤตการณ์เหล่านี้คือการลดระดับการเผชิญหน้าลงและหันมาเจรจา"

ส่วนรูฮานิ ผู้นำอิหร่านกล่าวว่า "เราตัดสินใจที่จะมีการปรึกษาหารือและความร่วมมือเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงของทั้งภูมิภาค"

นี่เป็นสัญญาณที่ดี แต่มันยังบ่งชี้ด้วยว่าอิหร่านไม่อาจจะสานต่อกรกับสหรัฐได้ สหรัฐจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่นงานอิหร่านให้เปลืองตัว

ทรัมป์อาจจะดูเหมือนแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนการก่อสงคราม แต่เขาเพิ่มงบประมาณกลาโหมก้อนใหญ่ โดยในวันที่ทรัมป์แถลงเรื่องการโจมตีของอิหร่านเขายังคุยว่า "กองทัพอเมริกันถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมดภายใต้การบริหารของผมด้วยงบประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กองทัพสหรัฐแข็งแกร่งกว่าที่เคยเป็นมา"

การสร้างกองทัพใหม่ไม่ได้นำมาจัดการกับอิหร่านโดยตรง แต่เพื่อทำให้โลกยำเกรงสหรัฐ โดยแทนที่จะอัดฉีงบไปกับการทำสงครามยืดเยื้อ ทรัมป์ผันงบประมาณไปที่การวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเพิ่มขึ้นถึง 50% ระหว่างปี 2016 - 2020

เราเห็นแล้วว่า R&D ของกองทัพสหรัฐ "เจ๋ง" แค่ไหนในปฏิบัติการสังหารซูเลมานี

สาเหตุที่อิหร่านไม่อาจต่อกรกับสหรัฐได้ ไม่ใช่แค่เพียงความด้อยกว่าในด้านเทคโนโลยีจนทำให้เกิดความผิดพลาดมหันต์ แต่ในอิหร่านเองยังมีกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่บานปลายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

อาวุธสำคัญของสหรัฐและชาติตะวันตกที่จะใช้จัดการอิหร่านในตอนนี้ไม่ใช่ขีปาวุธหรือโดรน แต่เป็นประชาชนชาวอิหร่านที่ไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้นทุกที ตอนนี้แม้แต่หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลอิหร่านบางฉบับก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเสียเองเรื่องเครื่องบินตกรวมถึงวิธีการจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

อาจกล่าวไว้ว่าอาวุธสำคัญที่จะเล่นงานรัฐบาลอิร่าน คือเครื่องบินพลเรือนธรรมดาๆ ลำหนึ่งที่พวกเขายิงตกนั่นเอง

ไม่น่าแปลกใจที่ทรัมป์จะสวมบทพระเอกใจกว้างโดยบอกกับประชาชนชาวอิหร่านที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของพวกเขาว่า “สำหรับชาวอิหร่านที่กล้าหาญและต้องอดทนมานาน ผมยืนอยู่เคียงข้างคุณตั้งแต่ผมเริ่มต้นตำแหน่งประธานาธิบดี และรัฐบาลของผมจะยังคงยืนหยัดอยู่กับคุณต่อไป”

ส่วนรัฐบาลตะวันตกที่เป็นพันธมิตรสหรัฐก็รับลูก เช่น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีมาเรีย อะเดบาห์ร ที่กล่าวว่าชาวอิหร่านควรมีสิทธิที่จะเดินขบวนตามท้องถนน เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกอัดอั้นและโกรธเคือง หลังเกิดโศกนาฏกรรมกับเครื่องบินของยูเครน

สิ่งที่รัฐบาลอิหร่านต้องเคลียร์ด้วยอาจไม่ใช้คนภายนอก แต่เป็นประชาชนอิหร่านด้วยกันเอง

บทวิเคราะห์โดยกรกิจ ดิษฐาน