posttoday

ส่องวิธีกำจัดขยะของสวีเดน ที่เก็บได้หมดจดจนต้องนำเข้าจากประเทศอื่น

03 มกราคม 2563

ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มปฏิบัติการลดการใช้ถุงพลาสติกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่นับวันจะเพิ่มขึ้นๆ ประเทศสวีเดนสามารถลดปริมาณขยะในประเทศได้เกือบ 100% จนกลายเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการขยะและผลิตพลังงานจากขยะในระดับนานาชาติไปแล้ว

ในขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มปฏิบัติการลดการใช้ถุงพลาสติกไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่นับวันจะเพิ่มขึ้นๆ ประเทศสวีเดนสามารถลดปริมาณขยะในประเทศได้เกือบ 100% จนกลายเป็นผู้นำด้านการบริหารจัดการขยะและผลิตพลังงานจากขยะในระดับนานาชาติไปแล้ว

สวีเดนมีขยะจากครัวเรือนทั่วประเทศที่ต้องนำไปฝังกลบไม่ถึง 1% และในจำนวนขยะจากครัวเรือนที่เกิดขึ้นปีละ 4.4 ล้านตัน ครึ่งหนึ่งถูกนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานโดยกระบวนการที่เรียกว่า waste-to-energy ส่วนที่เหลือนำไปรีไซเคิล

สวีเดนริเริ่มโครงการเผาขยะเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง (waste-to-energy) ตั้งแต่ปี 1940 พลังงานที่ได้จากการเผาสามารถทำความร้อนและผลิตกระแสไฟฟ้าส่งไปยังบ้านเรือนรวมนับล้านหลัง

ทว่ากระบวนการรีไซเคิลขยะไม่จบเพียงการเผาเท่านั้น เถ้าถ่านที่เหลือซึ่งมีปริมาณประมาณ 15% ของน้ำหนักขยะก่อนเผาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เช่น โลหะถูกส่งไปรีไซเคิลอีกต่อหนึ่ง ส่วนแก้ว เครื่องเคลือบ ก้อนกรวดสามารถใช้ถมปิดหลุมฝังกลบขยะหรือสร้างถนน

ขณะที่แผ่นกรองอากาศที่ใช้กรองควันจากการเผาขยะนำไปถมเหมืองร้าง

ส่องวิธีกำจัดขยะของสวีเดน ที่เก็บได้หมดจดจนต้องนำเข้าจากประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี มีเสียงคัดค้านว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% ทว่า ไวเนอร์ วิคฟิสต์ ซีอีโอสมาคมบริหารจัดการและรีไซเคิลขยะสวีเดน (Avfall Sverige) อธิบายว่า การนำขยะกลับมาใช้ซ้ำใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตสิ่งของชิ้นหนึ่งชิ้นใดขึ้นมาใหม่

อีกทั้งการเผาขยะยังปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 72 เท่า น้อยกว่าการนำขยะไปฝังกลบ

ด้วยความที่สวีเดนจัดการกับขยะในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพอันดับต้นๆ ของโลก ทำให้สวีเดนขาดแคลนขยะที่จะนำมาป้อนให้โรงงานรีไซเคิลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จนต้องนำเข้าขยะจากประเทศในแถบยุโรป อาทิ อังกฤษ นอร์เวย ไอร์แลนด์ อิตาลีกว่า 2.3 ล้านตันในปี 2016
ที่สำคัญคือแทนที่สวีเดนจะต้องจ่ายเงินในการนำเข้าขยะ ประเทศต้นทางเหล่านั้นกลับยินดีจ่ายเงินให้สวีเดนรับขยะของตัวเองไปกำจัด ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องรับเถ้าถ่านของขยะกลับประเทศ

ส่องวิธีกำจัดขยะของสวีเดน ที่เก็บได้หมดจดจนต้องนำเข้าจากประเทศอื่น

นอกจากนี้ รัฐบาลสวีเดนยังมุ่งมั่นลดขยะให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือจะทำให้ประเทศปลอดขยะภายในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย กำหนดให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่แทนการฝังกลบ การใช้หลักการกำจัดขยะตามลำดับขั้น (Waste Hierarchy) ได้แก่ ไม่ก่อขยะโดยไม่จำเป็น นำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิล นำไปผลิตพลังงาน ฝังกลบ

สวีเดนยังมีระบบการจัดเก็บขยะที่ทันสมัย โดยสถานีรีไซเคิลขยะจะตั้งห่างจากพื้นที่พักอาศัยของประชาชนไม่เกิน 300 เมตร และยังมีท่อดูดขยะฝังอยู่ใต้ถนนเพื่อส่งขยะจากบ้านเรือนไปยังสถานีรีไซเคิล วิธีนี้ช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากขยะและลดการใช้พื้นที่บนถนน

นอกเหนือไปจากนั้น ประเทศสแกนดิเนเวียแห่งนี้ยังลงทุนกับเครื่องจักรที่สามารถคัดแยกถุงขยะที่มีสีสันแตกต่างกันตามประเภทของขยะ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการคัดแยกขยะ บวกกับประชาชนมีความรู้และใส่ใจกับการคัดแยกขยะอย่างเคร่งครัด

เมืองเอสกิลสตูนามีระบบคัดแยกขยะที่น่าสนใจมาก เมืองนี้จะคัดแยกขยะด้วยระบบ “ถุงขยะสีรุ้ง” คือใช้ถุงใส่ขยะสีสันสดใส 7 สีสำหรับใส่ขยะ 7 ประเภท อาทิ เศษอาหาร กระดาษหนังสือพิมพ์ โลหะ ผ้า พลาสติก กล่องกระดาษ และขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น กระดาษทิชชู ผ้าอ้อมสำเร็จรูปต้องแยกใส่ถุงสีขาว

เมื่อถึงเวลาเก็บขยะก็จะเก็บรวมกันไปทุกสี จากนั้นเครื่องสแกนในโรงงานรีไซเคิลก็จะแยกประเภทของขยะแล้วส่งไปจัดการอย่างเหมาะสม

ระบบการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและความร่วมมือของชาวเมือง ส่งผลให้เมืองเอสกิลตูนาบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปที่จะลดปริมาณขยะให้ได้ 50% ภายในปี 2020 ได้ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน

ส่องวิธีกำจัดขยะของสวีเดน ที่เก็บได้หมดจดจนต้องนำเข้าจากประเทศอื่น

อีกหนึ่งวิธีลดขยะของสวีเดนคือ ระบบมัดจำค่ากระป๋องและขวดน้ำพลาสติก เมื่อนำกระป๋องหรือขวดที่ใช้แล้วกลับมาหย่อนที่ตู้รับคืนก็จะได้เงินคืน โดยกระป๋องอลูมิเนียมบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1984 และ 1994 สำหรับขวดพลาสติก และแต่ละปีชาวสวีเดนจะรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ทั้งสองประเภทนี้ได้ราว 1.8 ล้านชิ้น

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ทำให้ตัวเลขการรีไซเคิลขยะต่อคนของชาวสวีเดนเพิ่มขึ้น 9 เท่าในระยะเวลา 41 ปี คือ จาก 18 กิโลกรัมในปี 1975 เป็น 162 กิโลกรัมในปี 2016

ภาพ : https://www.avfallsverige.se, https://sweden.se/nature/the-swedish-recycling-revolution/