posttoday

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019

26 ธันวาคม 2562

ปี 2019 เป็นปีที่เกิดการประท้วงทั่วโลกเนื่องจากผู้คนเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการเมือง

 

ปี 2019 เป็นปีที่เกิดการประท้วงทั่วโลกเนื่องจากผู้คนเรียกร้องให้มีการปรับปรุงระบบการเมืองและเรียกร้องร้องให้รีบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักข่าว AFP ได้สรุปข่าวใหญ่ประจำปีเพื่อที่เราจะสามารถย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อเตรียมที่จะเดินหน้าเข้าสู่ปีใหม่และทศวรรษใหม่ 2020

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 การประท้วงยืดเยื้อในชิลี Photo by Martin BERNETTI / AFP

- ประท้วงระบาดทั่วละตินอเมริกา -

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ฮวน ไกวโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาประกาศตนเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ยาวนาน

ไกวโดได้รับการยอมรับจากกว่า 50 ประเทศรวมถึงสหรัฐ แต่กองทัพไม่ทำตามเสียงเรียกร้องให้ทำรัฐประหาร และกลับสนับสนุนประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรและจนถึงขณะนี้มาดูโรก็ยังคงอยู่ในตำแหน่ง

ในช่วงกลางเดือนกันยายนการประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่เฮติหลังจากขาดแคลนเชื้อเพลิง โดยประชาชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโชเวอเนล มออีส ลาออกแต่การประท้วงลุกลามกลายเป็นความรุนแรงคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 40 ชีวิต

การขึ้นราคาตั๋วรถไฟใต้ดินในเมืองหลวงของชิลีเมื่อกลางเดือนตุลาคม เป็นต้นเหตุของการประท้วงยืดเยื้อที่ทำให้มีคนตายมากกว่า 20 รายก่อนที่จะมีการลงประชามติเรื่องการปฏิรูป

โบลิเวียเผชิญกับการประท้วงนาน 3 สัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส อ้างว่าชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม แต่ประชาชนไม่พอใจจนชุมนุมกันและมีหลายสิบคนถูกฆ่าตาย โมราเลสลาออกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนและหนีไปลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รัฐบาลต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

เอกวาดอร์กลายเป็นอัมพาตเกือบสองสัปดาห์หลังเกิดการประท้วงในเดือนตุลาคม และในประเทศโคลัมเบียมีการนัดหยุดงานและการประท้วงต่อต้านรัฐบาลฝ่ายขวาโดยเริ่มกลางเดือนพฤศจิกายน

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019  อับเดลมัดจิด เตบบูนเน Photo by RYAD KRAMDI / AFP

- ความรุนแรงในแอฟริกาเหนือ/ตะวันออกกลาง -

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เดิดการประท้วงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศแอลจีเรีย เพื่อต่อต้านการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 5 ของประธานาธิบดีอับเดลาซิซ บูเตฟลิกา ที่ครองอำนาจมานานถึง 20 ปี

บูเตฟลิกา สูญเสียการสนับสนุนจากกองทัพและลาออกไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน แต่การเดินขบวนประท้วงยังดำเนินต่อไป โดยเรียกร้องให้ยกเครื่องการจัดตั้งทางการเมืองทั้งหมดและปฏิเสธประธานาธิบดีคนใหม่คือ อับเดลมัดจิด เตบบูนเน ผู้ได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม

ในซูดานเมื่อวันที่ 11 เมษายน การกุมอำนาจที่ยาวนานสามทศวรรษของกองทัพและเผด็จการโอมาร์ อัลบาชีร์ต้องสิ้นสุดลง เพราะแรงกดดันจากพลังประชาชนที่ปักหลักการประท้วงทั่วประเทศนาน 4 เดือน

แต่การเดินขบวนยังดำเนินต่อไปและมีการเจรจาอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งมีการตกลงกันได้ในเดือนสิงหาคม โดยจัดตั้งสภาปกครองร่วมเพื่อดูแลการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากทหารไปสู่พลเรือน โดยรวมแล้วมีผู้เสียชีวิตกว่า 250 คน

ในอิรักการประท้วงครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม โดยสั่งสมจากความไม่พอใจในปัญหาว่างงาน การทุจริตและการบริการสาธารณะที่ย่ำแย่ และขยายวงกว้างเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรง จนมีผูเสียชีวิตถึง 460 ชีวิต จนกระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม รัฐสภายอมรับการลาออกของคณะรัฐบาลอิรัก

ในเลบานอน การประท้วงใหญ่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยมีแผนที่เรียกเก็บภาษีแอพสำหรับส่งข้อความและลุกลามกลายเป็นการต่อต้านชนชั้นนำทางการเมือง และยังคงเดินหน้าประท้วงต่อไปหลังจากนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮาริรี ลาออกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม เพราะผู้ประท้วงยังไม่ยอมรับฮัสซัน ดิอับ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มฮิซบุลลอฮ์ จึงต้องจัดการเลือกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

อิหร่านเกิดการจลาจลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนหลังจากการขึ้นราคาน้ำมัน เจ้าหน้าที่เข้าสลายผู้ก่อความไม่สงบโดยตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทำให้โลกภายนอกไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 304 คนส่วนใหญ่ถูกกองกำลังรักษาความปลอดภัยยิง แต่เจ้าหน้าที่อิหร่านปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 อะบู บักร์ อัลบัฆดาดี Photo by - / various sources / AFP

- ผู้นำรัฐอิสลามถูกฆ่า -

หลังจากการโจมตีห้าปีเพื่อยึดคืนเขตการยึดครองของขบวนการรัฐอิสลาม (IS) อันกว้างใหญ่ในอิรักและซีเรียในที่สุดพวกญิฮาดก็ถูกขับออกจากฐานที่มั่นสุดท้ายในเดือนมีนาคมโดยกองกำลังพันธมิตรต่อต้านรัฐอิสลามที่นำโดยกองกำลังเคิร์ด

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐประกาศว่าผู้นำของรัฐอิสลาม คือ อะบู บักร์ อัลบัฆดาดี ถูกสังหารในระหว่างการโจมตีโดยกองหน่วยรบพิเศษของสหรัฐในประเทศซีเรีย

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 กองเรือลาดตระเวนของอิหร่าน Photo by ATTA KENARE / AFP

- อิหร่านเกือบจุดชนวนสงคราม -

ในวันที่ 8 พฤษภาคม รัฐบาลอิหร่านประกาศไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้ในปี 2558 หลังจากที่สหรัฐยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวก่อนและคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง โดยอ้างว่าอิหร่านไม่ยุติโครงการนิวเคลียร์จริงๆ จังๆ

ในอีกไม่กี่เดือนต่อมาอิหร่านก็หันมาพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของตนอีกครั้ง รวมถึงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม หลังจากที่ยุติไปนาน

การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับอิหร่านตึงเครียดเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลสหรัฐกล่าวโทษอิหร่านว่าโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียหลายลำ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม

เมื่อวันที่ 14 กันยายนอิหร่านถูกกล่าวโทษอีกครั้ง เมื่อโรงงานผลิตน้ำมันรายใหญ่ของซาอุดิอาระเบียถูกโจมตีโดยกลุ่มกบฏฮูษีของเยเมน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน แต่อิหร่านปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็น

ในเวลาหกเดือนที่ผ่านมา อิหร่านเสริมสมรรถนะยูเรเนียมและน้ำมวลหนักในปริมาณที่เกินกว่าข้อตกลงกับนานาประเทศ และยังเดินหน้าพัฒนาเครื่องหมุนเหวี่ยงสำหรับโครงการนิวเคลียร์อีกด้วย

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 ความรุนแรงในฮ่องกงเดือนธันวาคม Photo by Dale DE LA REY / AFP

- ฮ่องกงปะทุ-

วันที่ 9 มิถุนายนเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกงตั้งแต่กลับสู่การปกครองของจีนในปี 1997 ติดตามมาด้วยการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเกือบทุกวัน

การประท้วงเริ่มต้นจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ แต่พัฒนาไปสู่การประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนและกลายเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในวงกว้าง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่การประท้วงและเหตุรุนแรงก็ยังไม่จบลง

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 โดนัลด์ ทรัมป์ Photo by Nicholas Kamm / AFP


- สหรัฐนำโลกกลับสู่สงครามเย็น -

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมสหรัฐถอนตัวออกจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) กับรัสเซียอย่างเป็นทางการ ทำให้โลกเสี่ยงที่เกิดการสะสมอาวุธและการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจทางการทหารอีกครั้ง ในลักษณะเดียวกับสงครามเย็น

แนวคิด "America First" (อเมริกามาก่อน) ของทรัมป์ยังเป็นจุดเริ่มของการทำสงครามการค้ากับจีน และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ทรัมป์ยังถอนตัวจากความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สหรัฐมีสภาพโดดเดี่ยวตัวเองจากข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ และทำให้เกิดเงื่อนไขของการเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น

วันที่ 24 กันยายน พรรคเดโมแครตในสภาคองเกรสเปิดการไต่สวนคดีฟ้องร้องทรัมป์หลังจากพบข้อมูลว่าทรัมป์กดดันให้รัฐบาลยูเครนดำเนินการสอบสวนโจ ไบเดน คู่แข่งของเขาจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในปี 2563

ในเวลาต่อมมา สภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงส่วนใหญ่มาจากพรรคเดโมแครต ก็ดำเนินกระบวนการถอดถอนทรัมป์อย่างเป็นทางการในข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดขวางการทำงานของรัฐสภา แต่คาดว่ากระบวนการถอดถอนไม่น่าจะผ่านความเห็นชอบโดยวุฒิสภาที่ควบคุมโดยพรรครีพับลิกัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีถอดถอนดังกล่าว

ปีแห่งการประท้วงและการโค่นเผด็จการ มองย้อนความวุ่นวายในปี2019 ชาวเคิร์ดต่อต้านกองทัพตุรกี Photo by Delil SOULEIMAN / AFP

- ตุรกีรุกรานซีเรีย -

ในวันที่ 9 ตุลาคมตุรกีโจมตีซีเรียทางตอนเหนือ เพื่อผลักดันชาวเคิร์ดกลับจากชายแดนซีเรีย เพราะตุรกีถือว่าชาวเคิร์ดเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เพราะเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในตุรกี

เมื่อสองวันก่อนหน้าที่ตุรกีจะโจมตีซีเรีย ทรัมป์ได้ประกาศถอนทหารสหรัฐออกจากพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลสหรัฐได้ละทิ้งพันธมิตรชาวเคิร์ดที่มีความสำคัญในการต่อสู้กับนักรบญิฮาดของขบวนการรัฐอิสลาม

ตุรกีหยุดการโจมตีในวันที่ 23 ตุลาคมหลังจากที่สหรัฐและรัสเซียตกลงกันว่า จะเปิดทางให้นักรบชาวเคิร์กเดินทางออกจากพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนตุรกี-ซีเรีย