posttoday

ธารน้ำแข็งในอินโดนีเซียจะหายไปใน 10 ปีเพราะโลกร้อน

13 ธันวาคม 2562

ภาวะโลกร้อนส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นๆ เมื่อธารน้ำแข็งในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นธารน้ำแข็งในเขตร้อนที่สุดท้ายของแถบแปซิฟิกละลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ และอาจจะหมดไปภายในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อนส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นๆ เมื่อธารน้ำแข็งในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นธารน้ำแข็งในเขตร้อนที่สุดท้ายของแถบแปซิฟิกละลายอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ และอาจจะหมดไปภายในเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน

ผลการศึกษาการละลายของธารน้ำแข็งซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences ระบุว่า ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์พบว่าธารน้ำแข็งคาร์สเทนซ์ที่อยู่ใกล้กับยอดเขาปุนจักจายาบนเกาะนิวกินีของอินโดนีเซียละลายหายไป 85% ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

แต่ล่าสุดพบว่าธารน้ำแข็งที่เคยครอบคลุมพื้นที่ราว 20 ตารางกิโลเมตรละลายไปจนเหลือไม่ถึงครึ่งตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นการละลายเร็วขึ้นถึง 5 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดนัลดิ เปอร์มานา ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งชาวอินโดนีเซียและผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ เผยว่า “สถานการณ์ของธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียน่าเป็นห่วงมาก เพราะน้ำแข็งไม่ก่อตัวเพิ่มแล้ว มีแต่จะหายไปเรื่อยๆ”

เช่นเดียวกับ ลอนนี ธอมป์สัน หนึ่งในทีมวิจียที่กล่าวว่า ธารน้ำแข็งในอินโดนีเซียเป็นเสมือนสัญญาณเตือนอันตรายของธารน้ำแข็งอื่นๆ บนโลก โดยธารน้ำแข็งคาร์สเทนซ์เริ่มละลายในระดับที่น่าตกใจหลังเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2015-2016 ที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งเกิดภาวะโลกร้อนผลกระทบของเอลนีโญยิ่งรุนแรงขึ้น

งานวิจัยชิ้นล่าสุดระบุว่า ธารน้ำแข็งของอินโดนีเซียจะหายไปภายในระยะเวลา 10 ปี

ธอมป์สันยังกล่าวอีกว่า มีแนวโน้มว่าธารน้ำแข็งในเขตร้อนอื่น อาทิ บนยอดเขาคีรีมันจาโรในแทนซาเนีย และธารน้ำแข็งเคลคายาในเปรู จะมีชะตากรรมเดียวกับธารน้ำแข็งของอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ทีมของธอมป์สันเริ่มวิจัยเก็บข้อมูลของธารน้ำแข็งคาร์สเทนซ์ตั้งแต่ปี 2010 โดยพบว่าผิวหน้าของธารน้ำแข็งหายไปราว 75% ระหว่างปี 2010-2018 โดยเฉพาะในปี 2016 ที่น้ำแข็งละลายอย่างหนักจนแยกตัวเป็นธารน้ำแข็งเล็กๆ 2 สาย และในปีนี้เมื่อนักปีนเขาขึ้นไปเก็บภาพธารน้ำแข็งก็พบว่าน้ำแข็งละลายไปเกือบหมดแล้ว

ธอมป์สันเผยว่า น้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีราวครึ่งหนึ่งหรือ 1 ใน 3 มาจากการละลายของธารน้ำแข็งจากทั่วโลก และธารน้ำแข็งเขตร้อนมักจะอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ เนื่องจากมีขนาดเล็กและอยู่ในเขตอากาศอบอุ่น

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้อากาศที่อยู่รอบๆ ธารน้ำแข็งอุ่นขึ้นตามไปด้วย ทั้งยังทำให้ตำแหน่งที่สายฝนปะทะกับหิมะเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าในจุดที่หิมะตกลงยังธารน้ำแข็ง แล้วก่อให้เกิดการทับถมจนกลายเป็นชั้นน้ำแข็งเดิมกลายเป็นจุดที่ฝนปะทะกับหิมะ พูดง่ายๆ คือสายฝนกลายเป็นจุมพิตมรณะของธารน้ำแข็ง

นอกจากนี้น้ำยังดูดซับความร้อนไว้มากกว่าหิมะ เมื่อธารน้ำแข็งได้รับน้ำฝนเพิ่มขึ้นก็ยิ่งทำให้ธารน้ำแข็งมีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งเร่งให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น

ธอมป์สันยังเผยข้อมูลที่น่ากังวลอีกว่า การหายไปของธารน้ำแข็งคาร์สเทนซ์ยังส่งผลกระทบกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย เนื่องจากชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่รอบยอดเขาปุนจักจายาบูชาธารน้ำแข็งที่ก่อตัวเมื่อราว 5,000 ปีแห่งนี้ และถือว่าธารน้ำแข็งเป็นศีรษะของพระเจ้า