posttoday

อนาคตเมืองไทยยังเป็นบวก มีหวังศก.ค่อยๆ ฟื้นตัว

12 ธันวาคม 2562

ถ้าการเมืองมั่นคงก็อาจจะดีขึ้น แต่ถ้าแย่ลงก็เตรียมถูกปรับตำแหน่งได้

บริษัท Standard & Poor's หรือ S&P สถาบันการเงินชั้นนำของโลก ปรับระดับแนวโน้มของประเทศไทยเอาไว้ที่ 'BBB + / A-2' หรือปรับขึ้นเป็นระดับบวก แต่เตือนว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเผชิญกับแรงต้านสำคัญในช่วงเวลานี้ เนื่องจากความอ่อนแอของอุปสงค์ภายนอกและสกุลเงินที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวบวกกับสงครามการค้า ทำให้ความต้องการสินและบริการทั่วโลกชะลอตัวลง แต่ไทยยังพบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากขึ้นไปอีก เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าและบริการของไทยแพงขึ้นและทำให้ต่างชาตินำเข้าสินค้าจากไทยลดลง

S&P คาดว่าตัวเลขจีดีพีของไทยจะเติบโตที่ 2.6% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.8%

กระนั้น S&P กล่าวว่า แนวโน้มเชิงบวกของประเทศไทย เกิดจากความคาดหวังว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อันดับเครดิตของประเทศไทยโดย S&P สะท้อนถึงตัวชี้วัดเครดิตที่แข็งแกร่ง รวมถึงงบดุลและสภาพคล่องภายนอกที่แข็งแกร่ง ตราสารหนี้ภาครัฐสุทธิที่อยู่ในระดับจำกัด และประวัติการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบเคร่งครัดที่เอื้อต่อการจัดอันดับในแนวบวก จุดแข็งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับปัจจัยลบของบไทย คือระดับรายได้ต่ำและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง และช่องว่างคนรวยคนจน หากแก้ปัญหาความไม่แน่นอนเหล่านี้ได้ ก็อาจส่งผลให้การจัดอันดับดีขึ้นไปด้วย

แม้ว่าไทยจะยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง แต่ S&P เชื่อว่าความเสี่ยงทางการเมืองของไทยในระยะยาวอาจเริ่มผ่อนคลายลง เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือนที่ไร้ความขัดแย้งรุนแรง

"เราอาจเพิ่มการจัดอันดับในอีก 24 เดือนข้างหน้า หากมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าผู้มีบทบาททางการเมืองคนสำคัญมุ่งมั่นกับกรอบทางการเมืองในปัจจุบัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างฉับพลันและไม่คาดคิดนั้นไม่น่าเป็นไปได้ ในสถานการณ์สมมตินี้ เราคาดว่ารัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปและดำเนินยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างต่อเนื่องตามแผนระดับชาติ แม้จะมีความซับซ้อนในการดำเนินงานในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหลายพรรค" S&P ระบุ

กระนั้น S&P กล่าวว่าสามารถแก้ไขแนวโน้มของประเทศไทยให้อยู่ในระดับ "คงที่" (Stable) หากมีแรงกดดันมากขึ้นต่อกระบวนการทางการเมืองในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ แม้่ว่าจะมีปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของไทย แต่พื้นฐานด้านการเงินยังแข็งแกร่ง บวกกับความมั่นคงทางการเมือง ทำให้แนวโน้มของไทยจึงถูกปรับให้อยู่ในระดับบวก