posttoday

ทำไมไทยต้องแบกรับปัญหาโรฮีนจา

11 ธันวาคม 2562

การให้ข้าวให้น้ำแก่ผู้อพยพชาวโรฮีนจาของทางการไทยยังไม่เพียงพอหรือ เหตุใดนานาชาติถึงได้เรียกร้องให้ไทยช่วยเหลือให้มากขึ้นกว่านี้

นับตั้งแต่เหตุความวุ่นวายในรัฐยะไข่ของเมียนมาปะทุขึ้นเมื่อปี 2017 หลังจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่อาจเป็นชาวโรฮีนจาบุกโจมตีป้อมตำรวจหลายแห่งพร้อมกันจนบานปลายเป็นการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมาและชาวโรฮีนจา ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาต้องอพยพข้ามพรมแดนไปยังบังกลาเทศนับแสนคน โดยมีส่วนหนึ่งพยายามเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งทางบกและทางน้ำ

สิ่งที่รัฐบาลไทยทำเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ก็คือช่วยเหลือด้านอาหาร น้ำ และยารักษาโรค เติมน้ำมัน และซ่อมแซมเรือให้ก่อนจะผลักดันออกนอกน่านน้ำไทย แต่ก็ยังไม่วายมีเสียงเรียกร้องจากนานาชาติให้ไทยช่วยเหลือชาวโรฮีนจาให้มากกว่านี้ อาทิ องค์การนิรโทษกรรมสากล (AI) ที่เรียกร้องให้ไทยเปิดศูนย์พักพิงให้ผู้อพยพเหล่านี้

ขณะที่ เซอิด ราอัด ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยนแห่งสหประชาชาติ เคยกล่าวว่า การที่กองทัพเรือไทยจัดหาสเบียงอาหารเบื้องต้นแก่ชาวโรฮีนจาก่อนจะผลักดันออกจากน่านน้ำไทยจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้น และเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม

ด้านสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย เรียกร้องให้ไทยยุติการผลักดันเรือผู้อพยพออกจากน่านน้ำทันที รวมทั้งเป็นแกนนำในการสร้างกลไกในการปกป้องและเตรียมความพร้อมให้ผู้อพยพชาวโรฮีนจาในระดับภูมิภาคให้สอดคล้องกับการทำงานของหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน และทางการไทยควรอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาติเข้ามาตรวจสอบสถานะผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่เข้ามาในไทย

หากพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้ว ประเทศอื่นที่เผชิญปัญหาเรือผู้อพยพเช่นเดียวกับไทยอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็มีนโยบายผลักดันเรือเหล่านี้ออกจากน่านน้ำเช่นกัน หรือแม้แต่สหภาพยุโรปเองก็ยังทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดเรือของผู้อพยพชาวลิเบียและตะวันออกกลางไม่ให้ออกจากน่านน้ำลิเบีย ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ผู้อพยพใช้ล่องเรือเข้ายุโรป

เมื่อเทียบกับไทยที่ยังให้อาหาร ให้น้ำ และความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว น่าจะยังดีกว่าการสกัดกั้นกันตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทางด้วยซ้ำ และน่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมในระดับหนึ่งแล้วตามหลักมนุษยธรรม

ส่วนข้อเรียกร้องให้ไทยตั้งศูนย์อพยพให้ผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้นอาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่ผู้อพยพต้องการ จริงอยู่ว่าคนเหล่านี้พยายามล่องเรือเข้าน่านน้ำไทย แต่จุดหมายปลายทางจริงๆ ของผู้อพยพส่วนใหญ่เพียงต้องการใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังออสเตรเลียและมาเลเซีย ซึ่งประเทศหลังเป็นประเทศมุสลิมเช่นเดียวกับชาวโรฮีนจา

ซอว์ดา อุลลาห์ หนึ่งในผู้อพยพชาวโรฮีนจาเผยว่า สิ่งที่ชาวโรฮีนจาต้องการคือการกลับคืนเมียนมาอย่างมีเกียรติ และยังบอกอีกว่าชาวโลกสามารถช่วยให้ฝันของชาวโรฮีนจาเป็นจริงได้โดยการกดดันให้รัฐบาลเมียนมาคืนชีวิตที่ปลอดภัยและสิทธิความเป็นพลเมืองแก่ชาวโรฮีนจา “สิ่งที่พวกเราต้องการไม่ใช่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พวกเราต้องการกลับบ้านเกิด”

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ไทยเคยให้ที่พักพิงกับชาวโรฮีนจาราว 3,000 คนเข้ามาตั้งรกรากมากว่า 20 ปี โดยกระจายกันอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ แม่สอด ระนอง และในจังหวัดอื่นๆ

หากจะต้องมีผู้รับผิดชอบชีวิตของชาวโรฮีนจาอพยพเหล่านี้ ก็น่าจะต้องเป็นผู้ที่เป็นต้นตอของปัญหาอย่างเมียนมา แต่จนถึงตอนนี้วันนี้ที่ ออง ซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐเมียนมาให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เธอยังปฏิเสธว่าทางการเมียนมาไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความขัดแย้งภายในประเทศที่กลุ่มชาวโรฮีนจาเป็นผู้จุดขึ้น แต่ยอมรับว่าทหารเมียนมาใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

หรือหากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ มองว่าวิกฤตชาวโรฮีนจาเป็นปัญหาระดับภูมิภาคหรือระดับสากล ไทยก็ไม่ควรต้องแบกรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่ไทยไม่ใช่ต้นตอของปัญหานี้

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นที่ทางการไทยหยิบยื่นให้ผู้อพยพชาวโรฮีนจาอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว