posttoday

#ฉลองไม่ฉลาม แม้แต่ต้นตำรับอย่างจีนยังสั่งห้ามเสิร์ฟเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงรัฐบาล

05 ธันวาคม 2562

หูฉลามกลายเป็นประเด็นที่สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ในสังคมไทย

หูฉลามกลายเป็นประเด็นที่สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ในสังคมไทย

จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การรับประทานเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ จนนักแสดงคนดังอย่างป้อง ณวัฒน์ และผู้คนในโลกโซเชียลมีเดียพากันท้วงติงและติดแฮชแท็ก #ฉลองไม่ฉลาม วันนี้โพสต์ทูเดย์ขอนำเสนอข้อมูลน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับหูฉลามดังนี้

การตัดครีบฉลามเพื่อนำมาแปรรูปเป็นหูฉลามเสิร์ฟนั้น ส่วนใหญ่ตัดกันสดๆ ก่อนที่ฉลามเคราะห์ร้ายเหล่านั้นจะถูกโยนลงทะเลอย่างไม่ไยดีทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ ฉลามที่ไร้ครีบเหล่านี้จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเลแล้วขาดอากาศหายใจตายอย่างช้าๆ หรือไม่ก็ถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร

จากการศึกษาของสหภาพระหว่างประเทศพื่อการอนุรักษ์ธรรรมชาติ (IUNC) พบว่าแต่ละปีมีฉลามถูกฆ่าตายราว 100 ล้านตัว ในจำนวนนี้อย่างน้อย 73 ล้านตัวถูกฆ่าเพื่อเอาครีบมาทำหูฉลาม และในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของจีนได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้การบริโภคหูฉลามเป็นที่รู้จักในวงกว้างในฐานะเมนูที่เป็นเครื่องบ่งบอกระดับฐานะ ระหว่างปี 1985-2001 พบว่าการบริโภคหูฉลามเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว

ความต้องการของตลาดเป็นตัวเร่งให้เกิดการล่าฉลามมากขึ้น แต่ในทางกลับกันกว่าฉลามแต่ละตัวจะเติบโตต้องใช้เวลาราว 12-15 ปี ส่วนตัวเต็มวัยก็สืบพันธุ์ช้า ทั้งยังใช้เวลาตั้งท้องเฉลี่ย 1-3 ปี การเกิดของฉลามจึงไม่สามารถชดเชยจำนวนฉลามที่ถูกฆ่า การล่าฉลามเกินขีดจำกัดจึงส่งผลให้ประชากรฉลาม 10 สายพันธุ์ลดลงถึง 98% จนเข้าสู่ขั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

นอกจากนี้ WildAid Thailand ระบุว่า การลดจำนวนของฉลามยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศท้องทะเล เนื่องจากฉลามอยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารแห่งท้องทะเล ทำหน้าที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและความสมดุลของมหาสมุทร หากไม่มีฉลาม ระบบนิเวศทางทะเลอาจถูกทำลายและล่มสลายในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นานาประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจในการอนุรักษ์ฉลาม อาทิ 13 รัฐของสหรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก อิลลินอยส์ แมสซาชูเซตส์ เทกซัส มีกฎหมายห้ามขายหรือครอบครองหูฉลาม ออสเตรเลียห้ามตัดครีบตอนที่ฉลามยังมีชีวิต ขณะที่ในมาเลเซีย 1 ใน 10 ประเทศที่นำเข้าส่งออกหูฉลามมากที่สุดในโลกระหว่างปี 2000-2009 ทางการประกาศแบนเมนูหูฉลามในงานเลี้ยงของรัฐบาลในปี 2007

ในปี 2012 รัฐบาลจีนก็ออกคำสั่งเช่นเดียวกับมาเลเซีย ล่าสุดแคนาดาออกกฎหมายห้ามนำเข้าส่งออกหูฉลามที่ไม่ได้ติดมากับตัวฉลาม ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศ G20 หลังจากกำหนดให้การตัดครีบฉลามผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 1994