posttoday

ทำไมกะเทยญี่ปุ่นถึงได้เป็นพระ แต่กะเทยไทยบวชพระไม่ได้

24 พฤศจิกายน 2562

ในตอนนี้เมืองไทยมีวิวาทะร้อนแรงขึ้นมาอีกเรื่องชาวเพศทางเลือกควรได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุหรือไม่ บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

 

ในตอนนี้เมืองไทยมีวิวาทะร้อนแรงขึ้นมาอีกเรื่องชาวเพศทางเลือกควรได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุหรือไม่? ที่จริงประเด็นนี้เป็นเรื่องถกเถียงมาเนิ่นนาน แม้พระวินัยและอรรถกถาจะระบุชัด แต่ที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงขึ้นมาได้ เพราะความเข้าใจไม่ตรงกันในหลายๆ ด้าน (บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน)

เรื่องเกิดขึ้นจาก "ครูธัญ – ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 1 ใน 4 ส.ส. LGBT ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า "หากกะเทยมีความศรัทธาในศาสนา ทำไมสังคมบางส่วนจึงมองว่า เป็นพระตุ๊ด พระแต๋ว และไม่เหมาะสม ความศรัทธาทำไมจึงมีเรื่องเพศที่กำหนดการเข้าถึง มันไม่ควรจะเกี่ยวกับเรื่องเพศไม่ใช่หรือ"

ในโลกโซเชียลพูดถึงเรื่องนี้และมีการยกเอากรณีของ "พระ" ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคนหนึ่งคือโคโด นิชิมูระ (Kodo Nishimura) ซึ่งเป็นเมคอัพอาร์ติสต์ชื่อดังที่เคยรับหน้าที่ช่างแต่งหน้าประกวด Miss Universe และยังเป็น "พระ" ในพุทธศาสนาที่ญี่ปุ่น ทำให้สื่อในเมืองไทยใช้คำเรียกเขาว่า "พระ" และถึงกับบอกว่าเขาใช้การแต่งงานสอนธรรมมะ

อันที่จริงแล้วนิชิมูระมีรสนิยมทางเพศเป็นเกย์ ซึ่งว่ากันตามพระวินัยแล้วเกย์ถือเป็นบัณเฑาะก์ห้ามบวชเป็นภิกษุ แต่ทำไมเขาถึงได้บวชและเรียกตัวเองว่าเป็นพระ?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า "พระ" ในญี่ปุ่นไม่ใช่พระภิกษุในความเข้าใจของคนไทย บุคคลที่สวมจีวรปฏิบัติศาสนกิจในญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องถือพระวินัยที่ห้ามบัณเฑาะก์บวช เพราะในญี่ปุ่นแทบจะไม่มีการถือวินัยกันแล้ว พระที่เห็นกันอยู่คือบุคคลธรรมดาที่เสพสังวาส มีลูกเมีย ดื่มสุรา และทำศาสนกิจเป็นการหาเลี้ยงชีพ วัดเป็นดั่งบริษัทที่สืบทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น

ในบทความเรื่อง "ไม่ใช่ประสก ไม่ใช่บรรพชิต ไขมายาคติว่าด้วยพระมหายานมีเมีย" ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ผู้เขียนได้อธิบายได้ว่า ในยุคโบราณพระสงฆ์ญี่ปุ่นมีการอุปสมบท 2 แบบ คือ แบบรับศีลเต็มสูตรแบบบ้านเรา กับแบบรับแต่ศีลโพธิสัตว์ ต่อมาท่านชินรัน ตั้งนิกายโจโด ชินชู (Jodo Shinshu ) ประกาศถอนตัวจากพระวินัย แล้วสมรสมีครอบครัว ทำให้เกิด 3 สายขึ้นมา แต่สายแรกที่รับพระวินัยเต็มสูตรนั้นน้อยนิดยิ่ง

ความแตกต่างนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัตรปฏิบัติหย่อนยาน และเกิดวิวาทะว่าควรที่พระจะมีครอบครัว หรือควรจะรักษาพรหมจรรย์ตามธรรมเนียมที่มีมาตลอดนับร้อยๆ ปี กระทั่งเข้าสู่ยุคใหม่ คือสมัยเมจิ ที่พระพุทธศาสนาถูกกดขี่อย่างหนัก เพราะรัฐบาลส่งเสริมความเป็นชาตินิยมผ่านลัทธิชินโต อีกทั้งยังถูกศาสนิกอื่นโจมตีว่า พระสงฆ์พุทธเห็นแก่ตัวไม่มีครอบครัวบุตรหลานตามธรรมชาติ และยังงอมืองอเท้าขอเขากิน แต่ข้อวิจารณ์ผิวเผินนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของแรงผลัก

แรงผลักจริงๆ มาจากการที่รัฐบาลเมจิออกกฎหมาย นิคุชิกิ ไซไต (Nikushi Saitai) ในปี 1868 โดย “บังคับ” ให้พระสงฆ์ต้องแต่งงาน สืบทอดวัดผ่านสายเลือดจากการสมรส และสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ กฎหมายนี้มุ่งหมายเพื่อจะลดความแข็งแกร่ง ความน่าเลื่อมใสของพระพุทธศาสนา ทางหนึ่งก็เพื่อทำให้ศาสนาในญี่ปุ่นให้ทันสมัยแบบค่านิยมตะวันตก (แองโกล-โปรเตสแตนต์) ที่ญี่ปุ่นพยายามเลียนแบบ

กฎหมายนี้ปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะศาสนจักรยำเกรงรัฐ อีกทั้งนิกายใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นขณะนั้นบวชโดยไม่ถือพระวินัยหลัก หรือไม่ก็มีครอบครัวอยู่แล้วตามวัตรปฏิบัติของนิกายโจโด ชินชู ทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีความพยายามที่จะต่อต้านจากสายอนุรักษนิยม แต่พลังมีขีดจำกัด แต่นั้นมาพระสงฆ์ในญี่ปุ่นจึงแต่งงาน มีครอบครัว มีเพียงส่วนน้อยถึงน้อยที่สุดที่ยังต้านทานแรงกดดัน รักษาพรหมจรรย์เอาไว้ได้

ข้อมูลทั้งหมดนี้นำมาจากหนังสือชื่อ Neither Monk nor Layman : Clerical Marriage in Modern Japanese Buddhism (ไม่ใช่ทั้งประสก ไม่ใช่ทั้งพระ - การแต่งงานของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาญี่ปุ่นยุคใหม่) เป็นงานวิจัยของ ริชาร์ด แจฟฟ์ (Richard Jaffe)

ศ. รอเบิร์ท เธอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่า พระญี่ปุ่นมักเรียกตัวเองเป็นพระสงฆ์ หรือ Monk แต่ท่านจะโต้กลับว่า “ไม่ ไม่ใช่ พวกท่านไม่ใช่พระ พวกท่านป็นแค่อนุศาสนาจารย์ (หรือ Priest) เพราะไม่ได้ถือพระวินัย”

กลับมาดูที่กรณีของพระเกย์ "โคโด นิชิมูระ" ตัวเขาเป็นอนุศาสนาจารย์ในพุทธศาสนานิกายโจโด ชินชู ซึ่งเป็นนิกายแรกที่ละทิ้งพระวินัย สืบทอดฐานะเจ้าอาวาสผ่านทางพ่อถึงลูกชาย ตัวเขาเองไปโลดแล่นอยู่ในสหรัฐในฐานะเมคอัพอาร์ติส์หลายปี จนกลับมาสืบทอดกิจการวัดจากพ่อ ในตอนแรกเขาลังเลใจที่จะรับหน้าที่เพราะเนื้องานดูจะขัดกัน แต่สุดท้ายก็ตกลงที่จะ "บวช" (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การบวชที่ถูกต้องตามพระวินัยที่เรายึดถือกัน) โดยมีทัศนะว่าการแต่งหน้ากับการสอนธรรมะไปด้วยกันได้

ในชีวิตประจำวันอนุศาสนาจารย์ของนิกายโจโด ชินชูจะใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป แต่งตัวเหมือนประสกทุกอย่าง บางครั้งอาจจะโกนศีรษณะหรือบางคนอาจจะไว้ผมรองทรงให้เรียบร้อยก็ได้ แต่เมื่อประกอบพิธีพวกเขาจะห่มจีวรเหมือนพระ สวดเหมือนพระ เสร็จแล้วรับเงินค่าบริการทำพิธี

โคโด นิชิมูระและเกย์/กระเทยในญี่ปุ่นจึงสามารถบวชนได้ตามกฎหมาย (ที่ออกมาเพื่อกดขี่พุทธศาสนา) แต่หากวัดกันตามพระวินัยที่สถาบันสงฆ์ทุกประเทศในเอเชียยังคงรักษาไว้แล้ว "พระญี่ปุ่น" ไม่ถือเป็นพระ แม้ศีลห้าของอุบาสกก็ยังรักษาไว้ไม่ได้ เพราะดื่มสุราเป็นปกติ

อนึ่ง ความเสื่อมโทรมในพระวินัยในญี่ปุ่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว เพราะพระสงฆ์คลุกคลีกับเรื่องราคะและเรื่องทางโลกมากเกินไป รัฐบาลยุคโบราณพยายามปราบปรามมาโดยตลอด เช่นโชกุนโทคุงะวะ ถึงขนาดตรึงกางเขน หรือจับตัวมาประจาน หากจับได้ว่าพระรูปนั้นๆ มีสัมพันธ์ทางเพศ แต่ทุกวันนี้รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงเรื่องของศาสนาได้ เพราะหลักการแยกศาสนาออกจากรัฐ ทำให้ชาวพุทธมีอิสระที่จะถือหรือไม่ถือวินัยก็ได้ 

ซึ่งอาจจะเหมาะเหม็งตามแนวคิดเสรีนิยม แต่ผิดมหันต์ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ 

ภาพของ Kodo Nishimura จาก @kodomakeup