posttoday

จีนจะโต้อย่างไร เมื่อสหรัฐเดินหมากรุกฆาตด้วยกฎหมายสิทธิฯฮ่องกง

20 พฤศจิกายน 2562

วิเคราะห์อนาคต ถ้าจีนตอบโต้สหรัฐฐานแทรกแซงฮ่องกง โดยกรกิจ ดิษฐาน

วิเคราะห์อนาคต ถ้าจีนตอบโต้สหรัฐฐานแทรกแซงฮ่องกง โดยกรกิจ ดิษฐาน

หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐมีมติรับรองกฎหมายสิทธิและประชาธิปไตยฮ่องกง (Hong Kong Human Rights and Democracy Act) เมื่อวันที่ 19 พฤสจิกายนตามเวลาท้องถิ่น หรือวันที่ 20 ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศจนก็ดำเนินตอบโต้ในทันที โดยเรียกตัว (summon) อัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงปักกิ่งเข้าพบ และต่อมามีแถลงการณ์ว่า "จีนจะใช้มาตรการคัดค้านอย่างรุนแรง และสหรัฐจะต้องรับผลที่ตามมาในเรื่องนี้"

ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟจึงทำการวิเคราะห์สถานการณ์จำลองว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐบังคับใช้กฎหมายตัวนี้ และจีนจะตอบโต้อย่างไร และผลจะออกมารูปใด?

1. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐจะวีโต้ได้ไหม? คำตอบคือเป็นไปได้ ทรัมป์มีเวลาพิจารณากฎหมายฉบับนี้ 10 วัน ถ้าภายใน 10 วันไม่ลงนามรับรอง กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในทันที แต่ถ้าทรัมป์ส่งคืนกลับโดยมีเหตุผลอันสมควร ร่างจะตีกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสุดตามด้วยวุฒิสภา และสภาทั้ง 2 จะต้องออกเสียงรับรองถึง 2 ใน 3 กฎหมายจึงจะผ่านได้

2. มีเหตุผลอะไรที่ทรัมป์จะไม่ลงนามหรือวีโต้? คำตอบคือมี เพราะที่ผ่านมาทรัมป์ไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนเรื่องฮ่องกงหรือแม้แต่ซินเจียง บางทีทรัมป์อาจจะใช้ฮ่องกงหรือซินเจียงเป็นไม้ตายสุดท้ายในสงครามการค้า เพราะผลกระทบต่อฮ่องกงจะกระทบต่อธุรกิจทั่วโลกครวมถึงสหรัฐ เพราะแม้ว่าฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของจีนแต่ ในทางเศรษฐกิจฮ่องกงเป็นเมืองท่านานาชาติ อย่างไรเสีย ทรัมป์ก็จะลงนามอยู่ดี เพราะนี่คืออาวุธที่จะใช้เล่นงานจีนในเวลาที่จำเป็น สหรัฐไม่จำเป็นต้องใช้มันในทันที

3. กกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐทบทวนว่าฮ่องกงมีอิสระในการปกครองตนเองมากเพียงใด และสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายนโยบายฮ่องกงของสหรัฐ (Hong Kong Policy Act of 1992) หรือไม่ กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐปฏิบัติต่อฮ่องกงในฐานะดินแดนที่แยกต่างหากจากจีน หมายความว่าเวลาที่จีนถูกโจมตีจากนโยบายสงครามการค้า ฮ่องกงจะไม่เข้าข่ายนี้ แต่ถ้ากฎหมายใหม่ปี 2019 ผ่านแล้ว และรัฐบาลสหรัฐเห็นว่าฮ่องกงไม่มีอิสระพอ สหรัฐก็อาจจะปฏิบัติต่อฮ่องกงอย่างเข้มงวดขึ้นในทางเศรษฐกิจ

4. อิสระในทางการเมือง (autonomy) ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจ เพราะเราทราบดีว่าผู้บริหารฮ่องกงแต่งตั้งจากจีน และจากการจัดอันดับดัชนีเสรีภาพเศรษฐกิจโดย The Heritage Foundation ซึ่งเป็นองค์การที่ปรึกษาอเมริกันสายอนุรักษ์นิยมก็ยังยกให้ฮ่องกงเป็นดินแดนที่เศรษฐกิจเสรีที่สุดในโลกถึง 24 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 1995 หรือตั้งแต่ 2 ปีก่อนที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่จีนจนถึงทุกวันนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้การบริหารของจีนฮ่องกงมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจมากเท่ากับตอนที่อยู่กับอังกฤษ

5. จีนเป็นคู่ค้ายรายใหญ่ที่สุดของฮ่องกง โดยฮ่องกงส่งออกไปยังจีนที่สัดส่วน 54.1% ตามด้วยสหรัฐ 7.7% และฮ่องกงนำเข้าจากจีนมากที่สุดที่ 44.6% ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 50 ตอนที่จีนเพิ่มก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนใหม่ๆ และถูกสหรัฐและสหประชาชาติคว่ำบาตร ฮ่องกงเป็นช่องทางไม่กี่ช่องของจีนในการค้าขาย โดยจีนส่งข้าวและอาหารราคาถูกให้ฮ่องกง ส่วนฮ่องกงเป็นที่ปล่อยสินค้าของจีนและเป็นทางรับเงินต่างประเทศของจีน จนกระทั่งจีนเปิดประเทศในทศวรรษที่ 70 - 80 อุตสาหกรรมในฮ่องกงก็ย้ายเข้าไปปักหลักในจีน แต่สถานการณ์พลิกกลับเมื่อฮ่องกงเผชิญกับวิกฤตการเงินปี 1997 และวิกฤตโรคซาร์สปี 2002 ทำให้การลงทุนของจีนเข้ามาช่วยอุ้มฮ่องกงเอาไว้ นับตั้งแต่เศรษฐกิจของทั้งสองก็แยกกันไม่ออก

6. เราจะเห็นได้ว่าฮ่องกงมีความผูกพันกับจีนอย่างมาก มีความเป็น "จีนที่เสรี" ตรงกันข้ามกับแผ่นดินใหญ่ที่ยังควบคุมโดยรัฐ จีนจึงได้ประโยชน์จากการทำให้ฮ่องกงเสรีในทางเศรษฐกิจในส่วนที่จีนไม่อาจทำได้ในประเทศตัวเอง การที่สหรัฐผ่านกฎหมายนี้ออกมาก็เท่ากับทำให้ฮ่องกงถูกปฏิบัติคล้ายจีนมากขึ้น เป็นการตัดกำลังของจีนในโลกเสรี บีบให้จีนถูกโดดเดี่ยวอยู่ในระบบเศรษฐกิจของตังเอง

7. การตอบโต้ของจีนจะมีทั้งที่เป็นการคว่ำบาตรสินค้าสหรัฐของประชาชนที่มีอารมณ์ชาตินิยมล้นปรี่ และการตอบโต้โดยรัฐบาลจีนซึ่งยังไม่อาจตอบโต้ได้จนกว่าทรัมป์จะลงนามและมีผลบังคับใช้และมีรายงานประเมินจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแล้วว่าควรจะจัดการรัฐบาลฮ่องกงอย่างไรดี กระบวนการนี้จะใช้เวลานานพอสมควร แต่ในระยะสั้น จีนอาจระงับความร่วมมือบางอย่างโดยใช้ข้ออ้างว่าสหรัฐแทรกแซงกิจการภายใน ในระยะยาวจีนอาจตอบโต้อย่างรุนแรงเพราะเราเห็นตัวอย่างจากสงครามการค้าแล้วว่า จีนไม่ยอมลดราวาศอกเลย

8. กฎหมายฉบับนี้ผลักดันโดยนักการเมืองสหรัฐสายฮาร์ดคอร์ ที่มีจุดยืนทางการเมืองแข็งกร้าวเรื่องรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐและค่านิยมแบบอเมริกัน เช่น จิม ริช (Jim Risch) วุฒิสมาชิกจากรัฐไอดาโฮ ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่แยแสคำขู่ของจีน และบอกว่าอยากจะให้กฎหมายนี้ผ่านโดยเร็ว จิม ริชยังเป็นผู้ผลักดันร่างกฎหมายให้การต่อต้านอิสราเอลเป็นเรื่องผิดกฎหมาย (Israel Anti-Boycott Act) โดยห้ามชาวอเมริกันต่อต้านอิสราเอลและการรุกรานของอิสราเอลในเขตเวสต์แบงก์ (ซึ่งคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวปาเลสไตน์) และเขายังมีกล่อมให้สภาคองเกรสเชื่อว่รัฐบาลสหรัฐไม่ดูดายกรณีสังหารผู้สื่อข่าวชาซาอุดีอาระเบีย ทั้งที่รัฐบาลสหรัฐทำเป็นทองไม่รู้ร้อนในเรื่องนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์กับซาอุดีอาระเบีย

ท่าทีนี้แสดงให้เห็นว่า ริช ไม่แยแสสิทธิมนุษยชนจริงๆ สนใจแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐมากกว่า

 

 

Photo by VIVEK PRAKASH / AFP