posttoday

ยิ่งกินเนื้อสัตว์ ยิ่งทำให้โลกร้อน

13 พฤศจิกายน 2562

ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้รถยนต์และโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอจะหยุดยั้งหายนะของโลก มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงอาหารการกินด้วยจึงจะช่วยโลกได้

ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้รถยนต์และโรงงานเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอจะหยุดยั้งหายนะของโลก มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงอาหารการกินด้วยจึงจะช่วยโลกได้

เมื่อพูดถึงต้นตอของปัญหาโลกร้อน สิ่งแรกๆ ที่คนเรามักจะนึกถึงคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะต่างๆ จึงพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดนี้ ทั้งการหันไปใช้พลังงานทดแทน หรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางอย่างที่ เกรียตา ธูนแบรย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมจากสวีเดนใช้วิธีเดินทางด้วยเรือจากบ้านเกิดข้ามทวีปไปร่วมการประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

แต่เรามักจะละเลยไปว่าการผลิตอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประชากรโลกก็เป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลก ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเกิดจากการผลิตเนื้อสัตว์ โดยมีการเลี้ยงวัวเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซมีเทนที่วัวเรอและผายลมออกมา โดยก๊าซนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้มากว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งเนื้อสัตว์เหล่านี้

นอกจากนี้ การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัมยังต้องใช้น้ำมากถึง 43,000 ลิตร ขณะที่บทความเรื่อง Can a burger help solve climate change? (เบอร์เกอร์หนึ่งชิ้นช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ไหม) ในเว็บไซต์ The New Yorker ถึงกับเปรียบเทียบว่า การทานเนื้อวัวหนัก 1.8 กิโลกรัม ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เท่าๆ กับการนั่งเครื่องบินจากนิวยอร์กไปยังกรุงลอนดอน

การทำปศุสัตว์ยังส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกเก็บอยู่ในพื้นดินและป่าไม้ถูกปลดปล่อยออกมา และยังเป็นการลดจำนวนต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วย

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) คาดการณ์ว่าเมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคนในปี 2050 การบริโภคเนื้อสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีก 75% และภายในปีหน้าจีนประเทศเดียวจะบริโภคเนื้อสัตว์ 20 ล้านตันต่อปี จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดก๊าซเรือนกระจกตามมาอีกมหาศาล

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการ IPCC ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติ 107 คนเข้าร่วมด้วย จึงแนะนำให้พลเมืองโลกหันมาบริโภคพืชผัก เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทุกคนหันมาทานมังสวิรัติกันทั้งหมดอย่างที่ พีท สมิธ นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยอาร์เบอร์ดีนของอังกฤษเผยว่า “เราไม่ได้บอกให้มนุษย์เลิกทานเนื้อสัตว์ เพียงแต่ในประเทศร่ำรวย อาทิ สหรัฐและอังกฤษ ซึ่งบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัวมากเกินปริมาณที่แนะนำ ควรตัดลดการบริโภคลง”

ขณะที่รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่รวบรวมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร สุขภาพ เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อมจาก 16 ประเทศ แนะนำการบริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น หรือ flexitarian diet ซึ้งประกอบด้วยผักและผลไม้ ธัญพืช ถั่ว รวมถึงเนื้อสัตว์คุณภาพสูงอย่างเนื้อปลา เนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์จากนม และน้ำตาล แต่บริโภคในปริมาณที่น้อยกว่าที่บริโภคในประเทศร่ำรวยบางประเทศ

และล่าสุดยังมีรายงานจากนักวิทยาศาตร์ทั่วโลกกว่า 11,000 คนซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BioScience เตือนว่าหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมครั้งใหญ่ มนุษย์จะต้องเผชิญกับภัยพิบัติของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศชนิดที่ไม่เคยเจอมาก่อน และหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์

รายงานระบุว่าการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลงนอกจากจะเป็นผลดีกับสุขภาพของผู้บริโภค ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย นอกจากนี้ เมื่อไม่ต้องเลี้ยงสัตว์และไม่ต้องปลูกพืชำหรับเลี้ยงสัตว์ ก็ทำให้มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับปลูกพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์โดยตรงมากขึ้น