posttoday

กับดักละเมิดลิขสิทธิ์ ล่อให้คนทำผิดเพื่อที่ตัวเองจะได้มีผลงาน

05 พฤศจิกายน 2562

Entrapment ถูกนำมาใช้ล่อให้เป้าหมายทำความผิดคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและมีความฟ้องร้องกัน

 


ในทางกฎหมาย มีหลักการหนึ่งซึ่งจำเลยสามารถใช้อ้างความบริสุทธิ์ได้หากถูกล่อลวงให้กระทำความผิด ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Entrapment เป็นหลักการที่ใช้กันในหลายประเทศ

ในประเทศไทยเรามักจะได้ยินเรื่องที่เจ้าหน้าที่ล่อซื้อยาเสพติดหรือล่อซื้อการค้าประเวณี หากความผิดนั้นสำเร็จลงแล้ว เช่น ผู้ค้ายาเสพติดมียาเสพติดไว้ในครอบครอง แล้วตำรวจเพียงแต่ไปล่อซื้อมา ผู้ต้องหาจะอ้างว่าตัวเองบริสุทธิ์ไม่ได้

แต่หากยังไม่มีการลงมือทำอะไร แล้วเจ้าหน้าที่หรือใครก็ตามไปล่อให้คนๆ นั้นละเมิดกฎหมาย ก็จะถือเป็นการลวงให้กระทำความผิด หรือ Entrapment กลายเป็นว่าจำเลยไม่ผิด และคนที่ล่อให้ทำผิดอาจจะถูกดำเนินคดีเสียเอง

ส่วนใหญ่การล่อให้กระทำความผิดมักเป็นความทางอาญา บางคดีตำรวจรู้ว่าจำเลยมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิด แต่แทนที่จะรอให้อีกฝ่ายบลงมือ ตำรวจกลับไปกระตุ้นให้จำเลยทำความผิด เช่นกรณีของผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายชาวแคนาดาคู่หนึ่ง ชื่อ Nuttall กับ Korody ถูกตำรวจบริติชโคลัมเบียล่อลวงให้ลงมือวางระเบิดเพื่อก่อการร้าย โดยล่อให้ทั้ง 2 เข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ และหากไม่ปฏิบัติตามเครือข่ายจะเก็บพวกเขา

ศาลบริติชโคลัมเบียชี้ขาดว่าทั้งคู่ไม่มีความผิดและมีคำพิพากษาว่า "โลกเรามีผู้ก่อการร้ายมากพอแล้ว เราไม่ต้องการให้ตำรวจสร้างคนพวกนี้เพิ่มขึ้นมาอีก"

ที่สหรัฐมีใช้ Entrapment มาเป็นข้อแก้ต่างได้หากจำเลยถูกล่อล่วงจากเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำความผิด โดยบริษัทกฎหมาย Hart Powell, S.C. อธิบายเงื่อนไขไว้ว่า 1. แผนการที่จะกระทำความผิดต้องมาจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหา 2. เจ้าหน้าที่รัฐโน้มน้าวให้ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดกฎหมาย 3. ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่ทำความผิดหากเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

มีเหมือนกันที่ Entrapment ถูกนำมาใช้เป็นตัวล่อให้เป้าหมายทำความผิดคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และมีความฟ้องร้องกัน เช่นกรณีหนึ่งที่เยอรมนีเมื่อปี 2009 มีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ Daniel Finger ดาวโหลดคลิปวิดิโอวาบหวิวทางเว็บไซต์แชร์ไฟล์แต่ถูกเจ้าของคลิปฟ้องร้องฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาตอบโต้ว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ว่าจ้างบริษัทหนึ่งล่อลวงให้เขาดาวโหลดไฟล์ดังกล่าว ซึ่งเข้าข่าย Entrapment

โดยในกฎหมายของเยอรมนีระบุไว้ชัดเจนว่า "ผู้กระตุ้นให้กระทำ หรือล่อลวงให้กระทำจะต้องรับโทษ หากล่วงให้คนผู้หนึ่งกระทำความผิดกฎหมายโดยตั้งใจ"

ในเมืองไทยเคยมีกรณีหนึ่งเมื่อปี 2540 โดยบริษัท M ได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบเพื่อทำการล่อซื้อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์แต่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ล่อซื้ออำพรางตัวเป็นลูกค้าได้พูดคุยเกี่ยวกับการซื้อคอมพิวเตอร์กับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ล่อซื้อขอให้ติดตั้งโปรแกรมสำหรับการเขียนเอกสารและการบัญชีลงในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในธุรกิจส่วนตัวของเขา ซึ่งจำเลยที่ 3 บอกว่าสามารถติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ฟรีๆ

หลังจากทำการซื้อ ผู้ล่อซื้อนำคอมพิวเตอร์ไปให้ช่างเทคนิคตรวจดูพบว่าโปรแกรมทั้งหมดที่พบเป็นโปรแกรมที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท M จึงทำการฟ้องร้องจำเลยทั้งหมด 3 คน คดีความไปถึงขึ้นฎีกา ปรากฎว่าศาล

ในความเห็นของศาลโจทก์ได้สร้างสถานการณ์ทั้งหมด เพื่อจุดประสงค์ในการดำเนินคดีทางอาญากับจำเลย โดยที่จำเลยไม่ไดมีความคิดที่จะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแต่ถูกล่อลวงโดยโจทก์ ศาลศาลจึงตัดสินว่า เนื่องจากโจทก์มีส่วนในการกระทำความผิดของจำเลย โจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิ์ฟ้องร้องจำเลยได้