posttoday

กลต.สหรัฐ แนะวิธีจับโป๊ะแชร์ลูกโซ่ รู้ให้ทันก่อนหมดตัว

05 พฤศจิกายน 2562

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เผยวิธีจับผิดการลงทุนที่เข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่มักจะมีลักษณะคล้ายๆ กันไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ให้ได้ระวังกันไว้ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เผยวิธีจับผิดการลงทุนที่เข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ ที่มักจะมีลักษณะคล้ายๆ กันไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย ให้ได้ระวังกันไว้ดังนี้

ได้ผลตอบแทนสูงโดยไม่มีความเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อย ทุกๆ การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ยิ่งการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงยิ่งมีความเสี่ยงมาก กลต.สหรัฐแนะว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการการันตีว่าจะได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้ตายตัวให้สงสัยไว้ก่อนเลย

ให้ผลตอบแทนคงเส้นคงว่าเกินไป มูลค่าการลงทุนมักจะมีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะการลุงทุนที่มีความเสี่ยงสูงๆ ดังนั้นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ ตลอดไม่ว่าสถานการณ์ตลาดการลงทุนโดยรวมจะเป็นอย่างไรก็ควรเฉลียวใจไว้บ้าง

ไม่มีการจดทะเบียน แชร์ลูกโซ่มักจะเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์หรือกับทางการ การจดทะเบียนอย่างเป็นทางการจะช่วยให้นักลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลสำคัญของบริษัท เช่น การดำเนินการ สินค้า การเงิน เป็นต้น

คนชักชวนลงทุนไม่มีใบอนุญาต ข้อบังคับของ กลต. กำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและบริษัทที่สังกัดต้องได้รับใบอนุญาตและจดทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่แชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ไม่มีการจดทะเบียนหรือขอใบอนุญาต

มีกลยุทธ์ซับซ้อนและ/หรือเป็นความลับ กลต. สหรัฐแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ผู้ลงทุนไม่เข้าใจหลักการลงทุนหรือไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอ

ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร การที่บริษัทไม่สามารถแสดงข้อมูลการลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ลงทุนดู รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวทางบัญชีที่น่าสงสัย ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าอาจไม่มีการนำเงินไปลงทุนตามที่สัญญาไว้

ได้รับเงินคืนยาก ไม่ว่ากับทั้งเงินผลตอบแทนหรือการถอนการลงทุน ให้จำไว้เสมอว่าเครือข่ายแชร์ลูกโซ่มักจะชักชวนให้ลูกแชร์นำผลตอบแทนมาลงทุนต่อ และมักจะสัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าสำหรับเงินที่นำมาลงทุนต่อ เพื่อจูงใจไม่ให้ลูกแชร์ถอนเงิน

เมื่อทราบอย่างนี้แล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่หรือการหลอกต้มตุ๋นลงทุนรูปแบบอื่นอย่างไร

กลต. สหรัฐแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่หรือลงทุนมาหลายปีแล้ว ก็ควรตั้งคำถามและตรวจสอบคำตอบนั้นๆ กับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ก่อนจะนำเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงไปลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและการเสียเงิน ดังนี้

  • ผู้ชักชวนลงทุนได้รับใบอนุญาตหรือไม่
  • บริษัทที่จะไปลงทุนมีการจดทะเบียนหรือไม่
  • ความเสี่ยงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนเป็นอย่างไร
  • เราเข้าใจการลงทุนนี้หรือไม่
  • หากมีปัญหาจะขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง