posttoday

“ความมีระเบียบวินัย” เคล็ดลับพลเมืองคุณภาพของประเทศญี่ปุ่น

03 พฤศจิกายน 2562

ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมีการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมา ตั้งแต่ยุคของการจดจำความรู้ สู่การนำความรู้ไปใช้งาน โดยญี่ปุ่นไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างคนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคนเก่งที่สมบูรณ์แบบ

เมื่อพูดถึง “ความมีระเบียบวินัย” ของประชาชนในประเทศต่างๆ “ญี่ปุ่น” มักจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ ที่ได้รับการกล่าวถึง ภาพของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบในการทำกิจกรรมต่างๆ หรือการไปทัศนศึกษา เป็นภาพคุ้นชินของคนจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นคนญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อเรื่องความสุภาพ และมีความรักชาติสูงจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้นั้น “ญี่ปุ่น” มีกระบวนการในการหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นกลายเป็นคนคุณภาพแบบนั้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบของเรื่องนี้ คงต้องเกี่ยวข้องกับ ระบบการศึกษาและกลไกการพัฒนาคน อย่างแน่นอน

หลังจากที่สงครามโลก ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่แรงขับที่สำคัญที่สุด คือความต้องการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโดยด่วนนั่นเอง ทั้งนี้การพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นในแต่ละยุคสมัยล้วนมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป โดยในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นยุคใหม่ มีจุดเริ่มต้นการพัฒนาที่โดดเด่นและถูกกล่าวถึงมากที่สุด ในยุคสมัยของ สมเด็จจักรรดิ์เมจิ ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษก็พัฒนาประเทศขึ้นมาได้ด้วยอุตสาหกรรม และเป็นยุคเริ่มต้นของการเชื่อมต่อกับโลกสากลอย่างจริงจัง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการศึกษาก็ได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่

“ความมีระเบียบวินัย” เคล็ดลับพลเมืองคุณภาพของประเทศญี่ปุ่น

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ถ้าลองสังเกตจะพบว่า ไม่ว่าจะมีวิกฤติราคาน้ำมัน วิกฤติเศรษฐกิจโลก หรือแม้แต่ Tsunami แต่ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังสภาวการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่มาจาก “ความมีระเบียบวินัย” ที่บ่มเพาะผ่านระบบการศึกษาและการส่งเสริมคุณภาพของคน ที่อยู่เบื้องหลังความเข้มแข็งของสังคมญี่ปุ่น

ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นมีการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมา ตั้งแต่ยุคของการจดจำความรู้ สู่การนำความรู้ไปใช้งาน โดยญี่ปุ่นไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างคนที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างคนเก่งที่สมบูรณ์แบบ มีทักษะสอดคล้องกับยุคสมัย เป็นที่มาของกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นที่รวมเอาเรื่องของวัฒนธรรมกีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้ามาไว้ด้วยกัน ภายใต้ชื่อของ Ministry of Education, Culture, Sport, Science and Technology

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน มีแคมเปญที่เรียกว่า MIC2025 หรือ Made in china 2025 อันมีเป้าหมายเรื่องของการสร้างนวัตกรรมทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เป็นหลัก ส่วนเกาหลีใต้ มุ่งมั่นสร้าง Creative Economy หรือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากพื้นฐานของ Knowledge based society หรือสังคมบนฐานความรู้ เป้าหมายของญี่ปุ่นก็น่าสนใจไม่น้อยหน้ากัน เพราะมุ่งหวังพัฒนารายบุคคล ให้มีขีดความสามารถการใช้ชีวิตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งยุคสมัยที่สังคมญี่ปุ่นกำลังจะมุ่งหน้าไปถึง เรียกว่า Society 5.0 หรือ “Super-Smart Society” อันเป็นสังคมที่คนญี่ปุ่นแต่ละคนจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีสุดชาญฉลาด

“ความมีระเบียบวินัย” เคล็ดลับพลเมืองคุณภาพของประเทศญี่ปุ่น

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมจึงต้องเป็น Society 5.0  ก็เพราะว่าญี่ปุ่นแบ่งยุคสมัยของวิวัฒนาการทางสังคมออกเป็นช่วงๆ ได้แก่ ยุค 1.0 เป็นสมัยที่รวมกลุ่มกันล่าสัตว์ ยุค 2.0 เป็นยุคเกษตรกรรม ต่อมายุค 3.0 เป็นอุตสาหกรรม ส่วน 4.0 ก็เป็นยุคของข้อมูล ดังนั้น ยุคต่อไปจึงเป็นยุคของสังคม 5.0 นั่นเอง

ยุคสมัยที่ว่านี้เป็นการมาบรรจบกันของเทคโนโลยีแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์รับใช้, ปัญญาประดิษฐ์, นาโนเทคโนโลยี, ควอนตั้มคอมพิวเตอร์, ไปจนถึงเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเปิดโอกาสให้มนุษย์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกนอกข้อจำเกิดเดิมๆ ด้วยเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาการของอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เนต และการผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์เข้ากับหุ่นยนต์ ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ที่ยกระดับคุณภาพ ชีวิต และทำให้มนุษย์สะดวกสบายรวมถึงปลอดภัย เรียกได้ว่า Society 5.0 จะกลายเป็นสังคมแห่งเทคโนโลยี ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั่นเอง

ดังนั้นแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ของญี่ปุ่น จึงไม่เน้นการสอนให้เด็กเก่งกว่าจักรกล หรือคอมพิวเตอร์ แต่สอนให้เด็กมีความเป็นมนุษย์ที่ต่างจากคอมพิวเตอร์ รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์และคุณธรรม รวมไปถึง ความมีระเบียบวินัยและรักชาติที่ฝั่งแน่นอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ด้วยแนวทางที่ว่าจะต้องฝึกทักษะที่จะทำให้เด็กนักเรียน อยู่รอดได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อให้พวกเขาไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น

“ความมีระเบียบวินัย” เคล็ดลับพลเมืองคุณภาพของประเทศญี่ปุ่น

ว่ากันตามจริงแล้วการพัฒนาทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นในทุกประเทศ แต่ตัวเร่งที่จะทำให้สังคมญี่ปุ่นไปถึง Society 5.0 เร็วกว่าประเทศอื่นๆ มาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่นมีพัฒนาการเรื่องหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์เป็นทุนเดิม และยังเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ด้วย ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นกลุ่มแรกๆ อีกประการคือ การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนญี่ปุ่นต้องการหุ่นยนต์มาช่วยทำงาน แทนแรงงานคน และต้องการสิ่งประดิษฐ์ทันสมัย มาช่วยดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนมากขึ้น

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2065 ประชากรญี่ปุ่นจะลดลงจาก 127 ล้านคน เหลือเพียง 88 ล้านคนเท่านั้น และ 88 ล้านคนที่ว่านั้นจะเป็นผู้สูงอายุเสียเป็นส่วนมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นจะมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ  อย่างเช่นปัจจุบันนี้ ก็มีคนอายุยืนยาวเกิน 100 ปีมากกว่า 68,000 คนดังนั้น สังคมญี่ปุ่นที่คนมีอายุเฉลี่ย 100 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูง การใช้ชีวิตใน “ยุคชีวิต 100 ปี” หรือ “the era of 100-year lifetime” จึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมการแต่เนิ่นๆ  เพราะอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับผู้สูงวัยและคนหนุ่มสาวที่ต้องเข้าสู่วัยชราที่อายุยืนมากขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการทำให้ช่วงชีวิต 100 ปีของแต่ละคน เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด โดยมุ่งเน้นว่าแนวคิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ “Life Long Learning” ควรต้องมีอยู่ในคนญี่ปุ่นทุกคน เพื่อให้แต่ละคนมีความใฝ่รู้ หมั่นพัฒนาทักษะอันสอดคล้องกับยุคสมัยและความสามารถทางร่างกาย โดยเรื่องเหล่านี้ได้รับการปลูกฝังและยอมรับมาอย่างต่อเนื่องในสังคมญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นถูกฝึกให้มีระเบียบวินัย และให้เป็นคนใคร่รู้ใคร่เรียนอยู่ตลอดเวลา รู้จักนำความรู้ใหม่ๆไปประยุกต์ในการใช้ชีวิต ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะทำให้อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีคุณค่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร และไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม

“ความมีระเบียบวินัย” เคล็ดลับพลเมืองคุณภาพของประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนั้นแล้ว การสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้เพียงพอ ในยุคที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยให้การพัฒนาของญี่ปุ่นไม่หยุดชะงัก โดยการเรียนรู้ผ่านการทดลองจริง และการอภิปรายในชั้นเรียน เป็นวิธีที่เชื่อว่าจะช่วยให้เด็กเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง เมื่อถึงระดับมัธยมก็จะมีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเรียนในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้นำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ครั้นพอถึงระดับอุดมศึกษา ผู้เรียนก็จะมีพื้นฐานวิชาการที่แน่น พอที่จะสร้างสรรค์ผลงานวิจัยใหม่ๆ ได้ รัฐบาลก็จะสนับสนุนด้านงานเงินทุนวิจัย และเครื่องมือทันสมัยอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมก็ทำงานร่วมกับภาคการศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันผลิตคนคุณภาพสู่สังคม เพราะยิ่งมีคนวัยทำงานเหลือน้อยลง  ทุกคนจึงต้องมีคุณภาพและทุกคนต้องมีบทบาทมีคุณค่าทางสังคม

เรื่องของการศึกษาและการพัฒนาคนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้กลายเป็นพลเมืองคุณภาพแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะ นั่นเพราะมีการปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัยและความรักชาติควบคู่กันไป มาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะญี่ปุ่นรู้จักตัวเองชัดเจนว่าต้องการพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อเผชิญกับสังคมที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้นต้องทำให้คนที่กำลังจะเหลือน้อยลง เป็นคนคุณภาพ ต้องทำให้ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้น ไม่เป็นภาระทางสังคม ต้องสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อไม่ให้การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน