logo-pwa

เพิ่ม Post Today

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
posttoday

พาราควอตอันตรายหรือไม่ ทำไมนักวิชาการเห็นไม่ตรงกัน

17 ตุลาคม 2562

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็เคยบอกว่าอาหารแปรรูปไม่อันตราย ก่อนจะมีผลวิจัยใหม่ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ก็เคยบอกว่าอาหารแปรรูปไม่อันตราย ก่อนจะมีผลวิจัยใหม่ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

หลายคนอาจจะเคยสับสนทำตัวไม่ถูกกับผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายๆ ชิ้นที่ให้ผลกลับไปกลับมา อาทิ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยระบุว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงหรืออาหารที่ผ่านการแปรรูป แต่ต่อมากลับมางานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง แนะนำว่าไม่ควรรับประทานทั้งเนื้อแดงหรืออาหารแปรรูป เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง

สาเหตุของความสับสนนี้มาจากความยากของการวิจัย เนื่องจากวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโภชนาการทางอาหารมีความไม่สมบูรณ์แบบอยู่ในตัวมันเอง การศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการรับประทานอาหารกับสุขภาพอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่แน่นอน เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนล้วนมีพฤติกรรมและพื้นฐานสุขภาพแตกต่างกัน การวิจัยจึงทำได้ที่ที่สุดเพียงเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นผลการวิจัยแต่ละครั้งจึงอาจไม่ตรงกัน

เช่นเดียวกับสารพาราควอตที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในบ้านเราว่าตกลงแล้วสารเคมีชนิดนี้มีประโยชน์หรือมีโทษมากกว่ากัน และสมควรแบนหรือไม่ ฝั่งนักวิชาการบางรายบอกว่าไม่เป็นอันตราย ขณะที่ฝั่งของแพทย์บอกว่าอันตรายมากทั้งตกค้างในดินและร่างกายมนุษย์

ในระดับนานาชาติมีงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นรองรับว่าพาราควอตมีอันตรายจริง และปัจจุบันมีการประกาศห้ามใช้สารนี้แล้วถึง 53 ประเทศ อาทิ กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี ฮังการี

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐ (CDC) ระบุว่าหากกลืนกินพาราควอตในปริมาณมากจะทำให้ปากและลำคอเจ็บปวดและบวมทันที ตามมาด้วยอาการทางระบบทางเดินอาหาร อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียหรืออาจถ่ายเป็นเลือด หากอาการรุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล และความดันต่ำ

นอกจากนี้ ยังทำให้ไตวายเฉียบพลัน มึนงง หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว หัวใจได้รับบาดเจ็บ ตับวาย ปอดเป็นแผล กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำท่วมปอด ระบบหายใจล้มเหลว ส่วนในระยะยาวจะทำให้ปอดได้รับความเสียหาย ไตวาย หัวใจล้มเหลว หลอดอาหารตีบ โดยผู้ที่ได้รับสารพาราควอตในปริมาณมากมักจะเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ

ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้พาราควอตเป็นสารเคมีอันตรายปานกลาง (ประเภท 2) แต่มีข้อสังเกตไว้ในรายงานว่าหากถูกดูดซึมเข้าร่างกายจะมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว และเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากรับประทานหรือสัมผัสกับผิวหนังเป็นบริเวณกว้าง

ส่วนเกษตรกรที่ฉีดพ่นสารพาราควอตเป็นประจำมักจะเกิดอาการอ่อนเพลียและเจ็บปวด รวมทั้งเกิดผื่นคันหรือผิวหนังไหม้ พุพอง หลุดลอก ติดเชื้อบริเวณเปลือกตา เล็บได้รับความเสียหายตั้งแต่เล็บซีดจนถึงเล็บหลุด จมูกเลือดออกเนื่องจากทางเดินหายใจส่วนบนระคายเคือง

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างพาราควอตกับการเกิดโรคพาร์กินสัน อาทิ ผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐเมื่อปี 2011 พบว่าสารพาราควอตทำให้เกิดอนุพันธุ์ออกซิเจนที่เป็นอันตรายกับโครงสร้างของเซลล์ และคนที่ใช้พาราควอตหรือยาปราบศัตรูพืชอื่นๆ มีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสัน ส่วนผลวิจัยอีกฉบับที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อปี 2013 พบว่าการได้รับสารพาราควอตทำให้เสี่ยงเป็นพาร์กินสันมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า รวมถึงผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยาอเมริกัน พบว่าการได้รับสารพาราควอตภายในรัศมี 500 เมตรมีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นถึง 75%

แต่ถึงอย่างนั้นในหลายประเทศ แม้แต่ในสหรัฐเองก็ยังใช้พาราควอตกันในวงกว้าง เพียงแต่มีข้อจำกัดว่าต้องได้รับใบอนุญาตจากทางการ

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของสหภาพยุโรป เมื่อปี 2003 คณะกรรมาธิการยุโรปมีมติอนุมัติการใช้สารกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งสารพาราควอต แต่สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรีย และฟินแลนด์ ซึ่งห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวก่อนหน้าแล้วได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นของสหภาพยุโรปให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมาธิการยุโรป อีก 4 ปีต่อมา ศาลชั้นต้นของสหภาพยุโรปมีคำพิพากษากลับให้แบนสารพาราควอต เนื่องจากคำสั่งเดิมของคณะกรรมาธิการยุโรปไม่เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองสุขภาพของมนุษย์ เพราะบริษัทที่ยื่นขอใบอนุญาตจำหน่ายพาราควอตไม่ได้ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างสารพาราควอตและโรคพาร์กินสันในขั้นตอนการขออนุญาต

หลังจากมีคำพิพากษา เยอรมนีเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศให้ยุติการจำหน่ายและใช้สารพาราควอต แม้ว่าผู้จำหน่ายบางเจ้าจะยังมีสต็อกสินค้าค้างอยู่ก็ตาม ผิดกับสหราชอาณาจักรที่ค่อนข้างค่อยเป็นค่อยไป คือแม้จะประกาศว่าจะห้ามใช้พาราควอต แต่ก็เลื่อนการบังคับใช้ออกไปในระหว่างที่กำลังพิจารณาว่าจะแบนทันทีหรือรอให้หมดระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษา

นอกจากนี้ อังกฤษยังถูกโจมตีว่าใช้สองมาตรฐาน เพราะแม้ว่าสหภาพยุโรปจะส่งแบนพาราควอต แต่บริษัทผลิตสารเคมีสัญชาติสวิสที่ตั้งบริษัทอยู่ในอังกฤษกลับผลิตสารพาราควอตส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนาหลายแสนตันนับตั้งแต่ปี 2015 หรือเฉลี่ยราว 41,000 ตันต่อปี จากข้อมูลของ Public Eye พบว่าพาราควอต 62% ที่ผลิตในอังกฤษถูกส่งไปยังประเทศยากจน อาทิ บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย กัวเตมาลา เวเนซุเอลา และอินเดีย

ด้านเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย ห้ามใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2002 เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทว่าในปี 2006 ทางการมีคำสั่งยกเลิกการแบนชั่วคราวเพื่อศึกษาการใช้พาราควอตในเชิงลึกและนำมาเป็นข้อมูลในการชั่งน้ำหนักว่ามีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน จนนำมาสู่การแบนครั้งล่าสุดซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2020

ซาลาฮุดดิน อายุบ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรเผยว่า แม้พาราควอตจะถูกกว่าสารกำจัดวัชพืชอื่น และเห็นผลทันตาแต่ไม่สามารถกำจัดวัชพืชได้ถึงราก ทำให้ต้องใช้บ่อยกว่าสารชนิดอื่น ขณะที่ราคาสารเคมีแต่ละชนิดก็ไม่แตกต่างกันมาก การห้ามใช้พาราควอตจึงไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตร

ขณะที่ในกัมพูชาซึ่งห้ามใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2003 แต่ยังมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศใกล้เคียงอย่างเวียดนามและลาว หรือจากจีนและอินเดีย โดยสารกำจัดวัชพืชที่ลักลอบจำหน่ายในตลาดมืดส่วนใหญ่เป็นสารเคมีอันตรายและหมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรไปแล้ว

หากในอนาคตไทยจะแบนพาราควอตและสารกำจัดศัตรูพืชอย่างอื่น คงต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย รวมทั้งออกมาตรการป้องกันการลักลอบจำหน่ายพาราควอตในตลาดมืดให้ครบคลุม มิเช่นนั้นประชาชนคนไทยก็คงต้องรับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้ต่อไป