posttoday

ทำไมผู้ประท้วงฮ่องกงพังร้านสตาร์บัคส์ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง

11 ตุลาคม 2562

สตาร์บัคส์เป็นแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกัน แต่กลับถูกผู้ประท้วงฮ่องกงทุบกระจกและพ่นสีสเปรย์ใส่ราวกับโกรธแค้นกันมาก่อน

สตาร์บัคส์เป็นแฟรนไชส์สัญชาติอเมริกัน แต่กลับถูกผู้ประท้วงฮ่องกงทุบกระจกและพ่นสีสเปรย์ใส่ราวกับโกรธแค้นกันมาก่อน

ตลอดการประท้วงในฮ่องกงที่ย่างเข้าสู่เดือนที่ 5 บรรดาห้างร้านต่างๆ รวมทั้งธนาคารและรถไฟใต้ดินถูกกลุ่มผู้ประท้วงทุบทำลายกระจกหรือใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นภายนอกร้านจนเลอะเทอะหลายแห่ง หากมองเพียงผิวเผินก็เหมือนกับว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นร้านไหน ธนาคารเจ้าไหน แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นความตั้งใจของผู้ประท้วง

แล้วทำไมถึงต้องเป็นร้านสตาร์บัคส์ ทำไมถึงต้องเป็นรถไฟใต้ดิน ทำไมถึงต้องเจาะจงว่าเป็นร้านนั้นร้านนี้

เหตุผลคือ กลุ่มผู้ประท้วงไม่พอใจใครก็ตามที่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน เพราะฉะนั้นบริษัทใหญ่ๆ จากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างธนาคารแห่งประเทศจีน หรือบริษัทเสียวหมี่จึงตกเป็นเป้าหมายการทำลาย โดยที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกพฤติกรรมของพวกเขาว่าเป็นการ “รีโนเวชั่น” ร้านค้าเหล่านี้

ทำไมผู้ประท้วงฮ่องกงพังร้านสตาร์บัคส์ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง Photo by Nicolas ASFOURI / AFP

แล้วร้านสตาร์บัคส์ซึ่งเป็นของสหรัฐเกี่ยวอะไรกับรัฐบาลจีนจึงพลอยตกเป็นเป้าไปด้วย

แฟรนไชส์สตาร์บัคส์ในฮ่องกงดำเนินการโดย Maxim's Caterers ธุรกิจภัตตาคารรายใหญ่ในท้องถิ่น และหนึ่งในทายาทของผู้ก่อตั้ง Maxim Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็คือ แอนนี่ อู่ วัย 71 ปี

เมื่อเดือนที่แล้วเธอเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแล้ววิจารณ์กลุ่มผู้ประท้วงในบ้านเกิดว่าเป็นพวกสุดโต่งที่ชอบใช้ความรุนแรง นับแต่นั้นมาธุรกิจของ Maxim Group ทั่วฮ่องกงก็กลายเป็นเป้าหมายการทำลายและคว่ำบาตรของกลุ่มผู้ประท้วง จนมีภาพประตูร้านของสตาร์บัคส์ เกนกิซูชิ และร้านอาหารจีนของ Maxim Group ถูกทุบทำลาย รวมทั้งการพ่นสีสเปรย์ทับโลโก้ปรากฏในโลกออนไลน์หลายครั้ง

แม้ว่าในเวลาต่อมา Maxim Group จะออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า แอนนี่ อู่ ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการทำธุรกิจของบริษัท แต่ผู้ประท้วงก็ยังไม่หยุดทำลายร้านค้าในเครือ

ทำไมผู้ประท้วงฮ่องกงพังร้านสตาร์บัคส์ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง Photo by May JAMES / AFP

ส่วนรถไฟใต้ดินซึ่งเป็นกิจการเอกชนที่รัฐบาลฮ่องกงถือหุ้นใหญ่ ต้องรับศึกหนักทั้งจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่และกลุ่มผู้ประท้วง เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการถูกสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนตำหนิว่าช่วยให้กลุ่มผู้ประท้วงเคลื่อนย้ายกำลังคนไปประท้วงทั่วเมือง หลังจากนั้น MTR จึงเริ่มปิดให้บริการบางสถานีและบางครั้งก็ต้องยุติการให้บริการทั้งหมด

ต่อมาก็ถูกกลุ่มผู้ประท้วงกล่าวหาว่า MTR ช่วยตำรวจจับกุมผู้ประท้วงและไม่ยอมเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทำร้ายผู้ประท้วง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มม็อบจนนำมาสู่การจุดไฟเผาสถานีต่างๆ

นอกจากนี้ ยังมีเครือร้านปลีก Best Mart 360 ตกเป็นเป้าโจมตีด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ฮิวโก หลั่ม เจ้าของเป็นประธานสมาคมชาวฟูเจี้ยนในฮ่องกง (ชุมชนชาวฟูเจี้ยนในฮ่องกงหนุนให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังกับผู้ประท้วง) เคยรวมตัวประท้วงเพื่อสนับสนุนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อย่างชัดเจน จนนำมาสู่การปะทะกับผู้ประท้วง

อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่เกิดการเข้าใจผิด เช่น กรณีของธนาคารเซี่ยงไฮ้พาณิชย์ที่แม้จะใช้ชื่อว่าเซี่ยงไฮ้แต่รัฐบาลจีนไม่ได้เป็นเจ้าของ เมื่อทราบความจริงผู้ประท้วงถึงกับต้องโพสต์ข้อความขอโทษต่อสาธารณชน และบางครั้งก็ต้องช่วยร้านที่โจมตีเพราะความเข้าใจผิดทำความสะอาดเป็นการไถ่โทษด้วย

ต่อมากลุ่มประท้วงได้กำหนดมาตรการป้องกันการเข้าใจผิดด้วยการใช้สี เช่น ดำ แดง น้ำเงิน แยกแยะว่าร้านไหนเป็นเป้าการทุบกระจก พ่นสีสเปรย์ หรือควรถูกคว่ำบาตร ส่วนสีเหลือใช้สำหรับร้านค้าที่สนับสนุนการประท้วง