posttoday

พระราชวงศ์ยุโรปรุ่นใหม่ ไม่มีฐานันดรศักดิ์

08 ตุลาคม 2562

นอกจากพระนัดดาในคิงสวีเดนทั้ง 5 องค์แล้ว พระโอรสในเจ้าชายแฮร์รี่ก็อีกหนึ่งสมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่ที่ไม่ดำรงฐานันดรศักดิ์เช่นกัน

นอกจากพระนัดดาในคิงสวีเดนทั้ง 5 องค์แล้ว พระโอรสในเจ้าชายแฮร์รี่ก็อีกหนึ่งสมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่ที่ไม่ดำรงฐานันดรศักดิ์เช่นกัน

ราชสำนักสวีเดนได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์แบร์นาด็อต จากการที่สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ทรงออกพระราชโองการประกาศถอนพระราชนัดดาทั้ง 5 พระองค์อันประกอบด้วย เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ และเจ้าชายกาเบรียล พระโอรสในเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป รวมถึงพระโอรสและพระธิดาในเจ้าหญิงเมดเดอลีน ได้แก่ เจ้าหญิงเลโอนอร์ เจ้าชายนิโคลัส และเจ้าหญิงอาเดรียนน์ ออกจากการเป็นสมาชิกพระบรมวงศ์

พระราชวงศ์ยุโรปรุ่นใหม่ ไม่มีฐานันดรศักดิ์ ROYAL COURT OF SWEDEN

"part of the royal family, but not the Royal House"

พระราชโองการระบุตอนหนึ่งว่า เจ้าหญิงและเจ้าชายน้อยทั้ง 5 พระองค์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวงศ์ แต่ไม่มีสถานะในสมาชิกพระบรมวงศ์สวีเดน (part of the royal family, but not the Royal House) โดยทุกพระองค์ยังคงอิสริยศเป็นเจ้าหญิงและเจ้าชาย รวมถึงมีสิทธิ์สืบสันราชสันตติวงศ์(ในทางทฤษฎี) แต่พระนัดดาทั้ง 5 จะไม่มีฐานันดร His / Her Royal Highness นำหน้าพระนาม ส่งผลให้ในอนาคตพระราชนัดดาทั้ง 5 องค์ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติกรณียกิจเป็นทางการ

ครอบครัวใหญ่ใช้งบเยอะ

เหตุที่คิงคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ ทรงมีพระราชโอการดังกล่าวนักวิเคราะห์ราชวงศ์ในสวีเดนมอง ช่วงระยะไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมาราชวงศ์สวีเดนได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก กลายเป็นครอบครัวใหญ่ จากการที่มีสมาชิกพระราชวงศ์ประสูติใหม่ นั้นหมายความว่าการมีสมาชิกพระราชวงศ์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายในราชสำนักที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ราชวงศ์สวีเดนเป็นเพียงราชวงศ์เดียวในยุโรปที่ดำรงราชสถานะประมุุขของรัฐ แต่ทรงแทบไม่มีพระราชอำนาจทางการเมืองใดๆ สมเด็จพระราชธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ พระองค์ไม่จำเป็นต้องลงพระปรมาภิไธยในการตรากฎหมายใหม่เสียด้วยซ้ำ

พระราชวงศ์ยุโรปรุ่นใหม่ ไม่มีฐานันดรศักดิ์ ROYAL COURT OF SWEDEN

 

ราชสำนักสวีเดนได้รับเงินถวายรายปีจากรัฐบาลซึ่งมาจากภาษีประชาชนเป็นรวมเป็นจำนวนราว 136 ล้านโครนา หรือราว 418 ล้านบาทต่อปี สำหรับการบริหารราชสำนัก (The Court Administration) และ กิจการในสำนักพระราชวัง (The Palace Administration)

ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลสวีเดนได้พิจารณาทบทวนงบประมาณในส่วนของงบประมาณในราชสำนักจากการขยายตัวของสมาชิกราชวงศ์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิจารณ์จากบางส่วนในประเด็นดังกล่าวเช่นกัน

เรื่องดังกล่าวสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดนจึงทรงตัดสินพระทัยแก้ปัญหาด้วยการ"จำกัด"ขนาดของราชวงศ์ให้เล็กลงซึ่งจะเหลือสมาชิกพระราชวงศ์เพียงไม่กี่พระองค์เท่านั้นดำรงอิสริยยศและปฏิบัติกรณียกิจต่อสาธารณะ ส่วนพระราชนัดดาทั้ง 5 พระองค์จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลในส่วนนี้

 

พระราชวงศ์ยุโรปรุ่นใหม่ ไม่มีฐานันดรศักดิ์ ROYAL COURT OF SWEDEN

อิสระจากกรอบในราชสำนัก

ในเมื่อพระราชนัดดาทั้ง 5 พระองค์ไม่ได้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นสมาชิกพระบรมวงศ์แล้ว นั้นหมายความว่าเมื่อทั้ง 5 พระองค์เจริญพระชันษาขึ้นจะมีโอกาสใช้ชีวิตได้หรือทำงานได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ภายใต้กรอบเกณฑ์ของราชสำนัก แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ยังคงสามารถออกงานสังคมได้ตามฐานันดรดำรงอยู่ ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะคล้ายกับเจ้าหญิงเบียทริซและเจ้าหญิงยูจีนี พระธิดาในเจ้าชายแอนดรูว์แห่งราชวงศ์อังกฤษ

ภายหลังมีประกาศราชโองการดังกล่าว ทั้งเจ้าชายคาร์ล ฟิลิป และเจ้าหญิงโซเฟีย มีพระดำรัสลงในอินสตาแกรมว่า "ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการดีต่ออเล็กซานเดอร์ และกาเบรียลที่จะมีทางเลือกในชีวิตที่มากขึ้น" เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าหญิงเมดเดอลีนก็ทรงมีพระดำรัสลงอินสตาแกรมส่วนพระองค์เช่นกันว่า "ข้าพเจ้าและสวามีคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ลูกๆของเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระในอนาคต"

 

พระราชวงศ์ยุโรปรุ่นใหม่ ไม่มีฐานันดรศักดิ์ Photo : AFP

 

"อาร์ชี เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์"

พระโอรสในเจ้าชายแฮร์รี่ และเมแกน ดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ อยู่มีลักษณะคล้ายกับกรณีของราชวงศ์สวีเดนเช่นกัน โดยพระโอรสน้อยอาร์ชี่ แม้จะพระสูติจากเจ้าชายแฮร์รี่พระบิดาผู้มีสถานะเป็น "เจ้าชาย" แต่โอรสน้อยอาร์ชี่ไม่ได้มีสถานะเป็น "เจ้าชาย" เฉกเช่นพระบิดา แม้ว่าพระองค์จะอยู่ในลำดับที่ 7 ของการสืบสันตติวงศ์สหราชอาณาจักรก็ตาม

Katie Nicholl ผู้แต่งหนังสือ Harry and Meghan: Life, Loss and Love ได้เปิดเผยถึงเหตุผลที่โอรสน้อยอาร์ชี่ไม่ดำรงสถานะ"เจ้าชาย" กับนิตยสารไทม์ ว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ... สัญชาติอเมริกันของดัชเชสมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ทั้งเจ้าชายแฮร์รี่และดัชเชสเมแกน เคยตรัสในหลายครั้งว่า ประสงค์ให้ทายาทของพระองค์มีชีวิตแบบธรรดาสามัญทั่วไป และแม้ว่าในอนาคตเราอาจเห็นโอรสน้อยอาร์ชี่ปรากฎองค์บนสีหบัญชรหน้าพระราชวังบักกิ้งแฮม แต่เขาจะมีชีวิตเฉกเช่นคนทั่วไป"

ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับกรณีของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง ที่ทั้งนายปีเตอร์ ฟิลลิปส์ พระโอรส และซารา ฟิลลิปส์ พระธิดา ไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหญิงเจ้าชาย แต่ก็อยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์อังกฤษเช่นกัน