posttoday

อังกฤษคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18

05 ตุลาคม 2562

หลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างยุติธรรมก็คือ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาจะต้องไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใดๆ มาแทรกแซง หรือครอบงำบงการ เช่น สั่งให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีตามความต้องการหรือให้เป็นประโยชน์กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามข้อเท็จจริงแห่งคดี

หลักประกันขั้นพื้นฐานที่จะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างยุติธรรมก็คือ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา การพิจารณาคดีของผู้พิพากษาจะต้องไม่มีอิทธิพลหรืออำนาจใดๆ มาแทรกแซง หรือครอบงำบงการ เช่น สั่งให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีตามความต้องการหรือให้เป็นประโยชน์กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมและเป็นไปตามข้อเท็จจริงแห่งคดี

หลักการนี้มีบัญญัติอยู่ในหลักการพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในข้อแรกว่า “ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการต้องได้รับการประกันโดยรัฐและถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของรัฐ รัฐบาลและหน่วยงานอื่นมีหน้าที่ต้องเคารพและรักษาความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ”

นอกจากนี้ ยังมีกฎบัตรสากลของผู้พิพากษาที่ได้รับการรับรองโดยผู้พิพากษาทั่วโลกระบุว่า “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอำนวยความยุติธรรมภายใต้กฎหมาย ทุกสถาบันและทุกหน่วยงานทั้งในระดับชาติและนานาชาติต้องเคารพ คุ้มครอง และปกป้องความเป็นอิสระนั้น”

หลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอังกฤษซึ่งเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยเมื่อศตวรรษที่ 18 โดยปรากฏอยู่ในกฎหมาย The Act of Settlement 1701 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้พิพากษา โดยกำหนดชัดเจนว่า ผู้พิพากษาต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างเป็นธรรม โดยมีอิสระในการตัดสินคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วยความเป็นธรรมและมีเหตุผล ไม่ตัดสินบนพื้นฐานของแรงกดดันจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายอื่น

การคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตามกฎหมาย Act of Settlement 1701 ของอังกฤษยังถูกนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ โดยสหรัฐได้บัญญัติหลักประกันความอิสระเพิ่มเติมจากของอังกฤษไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น การเพิ่มเงินเดือนผู้พิพากษาให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ เพื่อให้ผู้พิพากษามีความเป็นอิสระส่วนตัว ไม่ต้องกังวลกับการหาเลี้ยงชีพอย่างอื่น

ส่วนประเทศเยอรมนี บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 97 ว่า “ผู้พิพากษาต้องมีความเป็นอิสระและอยู่ภายใต้กฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” โดยระบบกฎหมายของเยอรมนีแบ่งการคุ้มครองความมีอิสระของผู้พิพากษาเป็น 2 ประเภท คือ ความเป็นอิสระในเนื้อหา หมายถึง ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายใด หรือไม่ต้องตกอยู่ในอิทธิพลของบุคคลหรือองค์กรใด และความเป็นอิสระในทางส่วนตัว หมายถึง ผู้พิพากษาจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากความเกรงกลัวว่าจะได้รับผลร้ายหรือถูกกลั่นแกล้งจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน

จะเห็นว่าทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คนในสังคมว่าทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม