posttoday

ผู้ใหญ่รังแกเด็กหรือเด็กยังอ่อนต่อโลก เมื่อผู้นำโลกรุมติงเกรียตา

03 ตุลาคม 2562

การปราศรัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของ เกรียตา ธูนแบรย์ กลายเป็นประเด็นร้อนที่คนพูดถึงมากกว่าโลกร้อนที่เธอต้องการเสียอีก โดยจารุณี นาคสกุล

การปราศรัยที่เต็มไปด้วยอารมณ์ของ เกรียตา ธูนแบรย์ กลายเป็นประเด็นร้อนที่คนพูดถึงมากกว่าโลกร้อนที่เธอต้องการเสียอีก โดยจารุณี นาคสกุล

วาทะของ เกรียตา ธูนแบรย์บนเวทีการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (UN Climate Action Summit) เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นถกเถียงไปทั่วโลกแซงหน้าประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อน ด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่แข็งกร้าวดุดัน และคำถามไปยังผู้นำที่อยู่ในห้องประชุมว่า “พวกคุณกล้าดียังไง” หลายครั้ง ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าธุนแบร์เป็นเด็กก้าวร้าวในสายตาผู้ใหญ่ รวมทั้งมีเสียงติติงจากบรรดาผู้นำระดับโลก

ล่าสุด ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวถึงธูนแบรย์ในการประชุมด้านพลังงานในกรุงมอสโกว่า “ผมอาจจะทำให้คุณผิดหวัง แต่ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นกับการปราศรัยของเธอเมื่อเดือนที่แล้วเลย ไม่มีใครเคยอธิบายให้เธอฟังหรือว่าโลกยุคนี้ช่างซับซ้อนและแตกต่าง และ...ผู้คนในแอฟริกาหรือในเอเชียอีกหลายประเทศต่างก็ต้องการเป็นประเทศร่ำรวยระดับเดียวกับสวีเดน ลองไปอธิบายกับประเทศกำลังพัฒนาสิว่าเหตุใดพวกเขาต้องทนอยู่กับความยากจนต่อไป”

ปูตินยังเผยอีกว่า “เราควรสนันสนุนคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อใครบางคนพยายามใช้เด็กหรือวัยรุ่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง คนคนนั้นควรถูกประณามที่สุด ผมมั่นใจว่าเกรียตาเป็นเด็กที่อ่อนโยนและจริงใจ แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่ดึงเด็กและวัยรุ่นเข้ามาในสถานการณ์ที่ยุ่งยากแบบนี้”

นอกจากปูตินแล้ว ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ได้ติติงธูนแบรย์เช่นกัน โดยมาครงเผยกับสำนักข่าว Europe 1 ว่า ความเห็นของธุนแบร์ค่อนข้างสุดโต่งและขัดแย้งกับสังคม

คำกล่าวของผู้นำฝรั่งเศสเกิดขึ้นหลังจากธูนแบรย์และเพื่อนนักเคลื่อนไหวอีก 15 คนยื่นฟ้องประเทศเศรษฐกิจใหญ่ 5 ประเทศ คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส บราซิล อาร์เจนตินา และตุรกี ต่อองค์การสหประชาชาติว่าละเมิดสิทธิของเยาวชนตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เนื่องจากไม่จัดการปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง (ความจริงแล้วสหรัฐและจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงมากพอๆ กับทั้ง 5 ประเทศ แต่ทั้งสองประเทศไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงไม่ถูกธูนแบรย์ฟ้อง)

ส่วนประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่พาสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้ทั่วโลกช่วยกันแก้ไขไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ได้ทวีตข้อความหลังจากธุนแบร์ปราศรัยว่า “เธอดูเหมือนเด็กผู้หญิงที่มีความสุขคนหนึ่งซึ่งกำลังเฝ้ามองอนาคตที่สดใส ดีใจที่ได้เจอเธอ” ข้อความนี้ถูกมองว่าเป็นการเยาะเย้ยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีมากกว่า

เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกและคำกล่าวของผู้นำประเทศทำให้เกิดคำถามตามมาว่าผู้ใหญ่รังแกเด็กหรือเปล่า สำหรับทรัมป์อาจจะใช่ เพราะข้อความที่ทรัมป์ทวีตดูเหมือนเป็นการเยาะเย้ยนักเคลื่อนไหววัย 16 ปีมากกว่า เพราะตรงข้ามกับภาพที่คนทั่วโลกได้เห็นคือ ธุนแบร์พูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและน้ำตาคลอในบางจังหวะ ไม่มีช่วงไหนเลยที่บ่งบอกว่าเธอมีความสุขตามที่ทรัมป์ทวีต

แต่สำหรับผู้นำรัสเซียและฝรั่งเศสเป็นการติติงด้วยความหวังดีจากผู้ใหญ่ที่มองโลกรอบด้าน อย่างที่ปูตินบอกว่าธูนแบรย์อาจจะยังไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและอาจมองปัญหาเพียงแง่มุมเดียว และต้องการให้หยุดตัวการที่ทำให้โลกร้อนทั้งหมดทันที ทว่าปัญหาโลกร้อนเกี่ยวพันไปถึงปากท้องของประชากรโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนาอีกนับพันล้านคน ไม่สามารถจัดการให้ลุล่วงได้ในทันที

เช่นที่ แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ มหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสเจ้าของแบรนด์สินค้าหรูอย่าง LVMH เอ่ยถึงธูนแบรย์ว่า เธอไม่ได้เสนออะไรนอกเหนือไปจากคำวิจารณ์ และยังเผยอีกว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาทำให้คนหลายล้านคนทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิต และปรับปรุงปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศยากจนอย่างแอฟริกา หากไม่อยากถอยหลังเข้าคลอง ก็ต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป

อีกทฤษฎีหนึ่งคือบรรดาผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบท่าทีของธุนแบร์สมคบกับบริษัทใหญ่ๆ แต่ทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากการประชุม UN Climate Action Summit ครั้งล่าสุดมีการริเริ่มโครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหามากมาย อาทิ ผู้นำประเทศและภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก เช่น อินเดีย สวีเดน ฝรั่งเศสที่ถูกธูนแบรย์ฟ้องว่าละเลยปัญหาภาวะโลกร้อน เยอรมนี รวมถึงธุรกิจการบิน เหล็กกล้า การเดินเรือ ประกาศร่วมมือกันหาทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ปล่อยก๊าซดังกล่าวเลยให้ได้ภายในปี 2050

หรืออย่างเครือ LVMH ที่รับปากว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนึ่งในตัวการของภาวะโลกร้อนให้ได้ 25% ภายในปี 2020 และให้ตรวจสอบวัตถุดิบทั้งหมดย้อนไปถึงที่มาได้ภายในปี 2025

จุดที่ธูนแบรย์พลาดจนทำให้เธอถูกวิจารณ์อย่างหนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอกล่าวในที่ประชุมว่าด้วยโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติด้วยอารมณ์โกรธเกรี้ยวจนถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว ผู้ฟังหลายๆ คนที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะรู้สึกไม่ถูกใจกับท่าทีนี้ กลายเป็นว่าบางคนยัดเยียดข้อหาให้เธอว่ามีประเด็นการเมืองซ่อนอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นหุ่นเชิดของพ่อมดทางการเงิน จอร์จ โซรอส ที่เคยแทรกแซงค่าเงินจนเกิดความปั่นป่วนเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 มาแล้ว

นอกจากนี้ ธูนแบรย์ยังถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองซึ่งถือเป็นพื้นที่สำหรับผู้ใหญ่ การที่เธอออกมาเคลื่อนไหวจึงถูกผู้ใหญ่บางคนมองว่าเป็นเพียงเด็กที่ต้องการเรียกร้องให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

อย่างไรก็ดี อีกฝั่งหนึ่งมองว่าอารมณ์เกรี้ยวกราดของธูนแบรย์เป็นผลมาจากอาการของโรคแอสเพอร์เกอร์ ที่จะมีพฤติกรรมทำเรื่องบางเรื่องซ้ำๆ จนกลายเป็นเชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ ไปเลย แต่อาจจะมีปัญหาในการเข้าสังคมจนบางครั้งแสดงความก้าวร้าวออกมา ทว่ากลุ่มนี้กลับถูกกระแสตีกลับว่าไม่ว่าจะด้วยคววามหวังดีหรือไม่ก็ไม่ควรหยิบยกอาการป่วยของธูนแบรย์มาลดทอนความมุ่งมั่นของเธอจนละเลยประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมไป

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยสาวน้อยวัย 16 ปีคนนี้ก็แสดงพลังของเธอด้วยการลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาให้สนใจประเด็นนี้กันมากขึ้น เพราะในที่สุดแล้วคนรุ่นใหม่ก็ต้องลงมือแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน