posttoday

Victim Blaming ทำไมถึงต้องโทษว่าเป็นความผิดเหยื่อ

21 กันยายน 2562

เผยอิทธิพลของสังคมและมายาความเชื่อที่ทำให้คนบางกลุ่มชี้นิ้วโทษว่าเหยื่อมีส่วนทำให้เกิดคดีข่มขืน

เผยอิทธิพลของสังคมและมายาความเชื่อที่ทำให้คนบางกลุ่มชี้นิ้วโทษว่าเหยื่อมีส่วนทำให้เกิดคดีข่มขืน

ส่วนใหญ่หลังจากเกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศ มักจะมีคนบางกลุ่มโยนความผิดให้เหยื่อว่าอาจมีส่วนทำให้เกิดการกระทำผิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแต่งตัวโป๊บ้างล่ะ ให้ท่าบ้างล่ะ หรือว่าเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงเองบ้างล่ะ หรือที่หนักกว่านั้นคือทำให้ตัวเองอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์หรือเสพยาบ้างล่ะ อย่างที่เราเห็นกันในคดีของพริตตี้รายหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวอยู่ตอนนี้ พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เรียกว่า Victim Blaming หรือการโทษว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำ

พฤติกรรมนี้มีให้เห็นทั่วโลก อย่างเมื่อปี 2013 หญิงชาวสวิสถูกกลุ่มชายฉกรรจ์รุมโทรมขณะไปตั้งแคมป์กับสามีในป่าแห่งหนึ่งของรัฐมัธยประเทศของอินเดีย แต่ระหว่างการสอบสวนคดีตำรวจท้องถิ่นกลับโทษว่าส่วนหนึ่งเป็นความผิดของนักท่องเที่ยวสองสามีภรรยาที่ไม่ยอมแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะตั้งแคมป์ที่ไหน

หรือในเคสของนักร้องสาวร่างเล็ก อาเรียนา แกรนเด ที่ถูกบาทหลวงจับหน้าอกระหว่างพูดไว้อาลัยการจากไปของ อารีธา แฟรงคลิน นักร้องชาวอเมริกัน ที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง ฝั่งหนึ่งบอกว่าไม่ใช่ความผิดของแกรนเดเลย อีกฝั่งหนึ่งบอกว่าบาทหลวงคนนี้ทำผิด แต่แกรนเดสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้โดยการแต่งตัวให้มิดชิด บางคนบอกว่าไม่มีการแต๊ะอั๋งเกิดขึ้น มันเป็นแค่อุบัติเหตุ แล้วสักพักเรื่องก็เงียบไป

Victim Blaming ทำไมถึงต้องโทษว่าเป็นความผิดเหยื่อ อาเรียนา แกรนเด และบาทหลวงชาร์ลส์ เอลลิส REUTERS/Mike Segar

เมื่อเกิดวัฒนธรรมการโทษผู้ถูกกระทำขึ้น ผู้หญิงมักจะถูกสั่งให้เปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกข่มขืนหรือคุกคามทางเพศ ทั้งให้แต่งตัวให้มิดชิด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่อยู่ในสถานที่เปลี่ยวหรืออโคจร ต่างๆ นานา จนเกิดความเชื่อว่าหากถูกคุกคามก็เป็นความผิดของผู้หญิงเอง เจสสิกา อีทตัน นักรณรงค์เพื่อผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถึงกับตัดพ้อว่า “เมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้น รัฐบาลหรือตำรวจมักจะบอกว่าเราจะไม่เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน เราจะไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เราจะทำทุกอย่างตามปกติ แต่กับเหตุข่มขืนรัฐบาลหรือตำรวจกลับบอกให้ผู้หญิงเปลี่ยนพฤติกรรม เหตุใดผู้หญิงต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อคนร้าย”

ประเด็นเรื่องการแต่งตัวมักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวโทษผู้หญิง โดยทึกทักเอาว่าการสวมใส่เสื้อผ้าที่โชว์เนื้อหนังคือการแสดงความยินยอมให้ตัวเองถูกลวนลาม และแม้งานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่จะพบว่าผู้ชายมองผู้หญิงที่สวมเสื้อผ้าเซ็กซี่ว่ามีแนวโน้มยินยอมพร้อมใจมีเพศสัมพันธ์มากกว่า แต่กลับไม่มีข้อมูลใดๆ ระบุไว้เลยว่าผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊มีโอกาสถูกข่มขืนมากกว่า และจากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ชี้ว่าความเป็นไปได้ในการก่อคดีข่มขืนขึ้นอยู่กับอายุและสถานที่ ไม่เกี่ยวกับสไตล์การแต่งตัว

ก่อนหน้านี้เคยมีการจัดนิทรรศการ “What were you wearing?” (คุณสวมชุดอะไร?) ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ที่จำลองเสื้อผ้าที่ผู้ถูกกระทำสวมใส่ในวันที่เกิดเหตุข่มขืน เช่น ชุดนอน ชุดวอร์มแขนยาวขายาว เสื้อยืดลายลิตเติลโพนี ซึ่งล้วนเป็นชุดที่มิดชิดไม่น่าจะกระตุ้นให้คนร้ายลงมือข่มขืนเลย เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่าเสื้อผ้าไม่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ

ส่วนคำถามว่าแล้วทำไมผู้คนบางคนในสังคมยังชี้นิ้วโทษผู้หญิงที่ถูกกระทำ สำหรับบางประเทศเกิดจากอิทธิพลของสังคมที่มองว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ส่วนผู้หญิงเป็นรองต้องเชื่อฟังและเคารพผู้ชาย ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง เชอร์รี่ แฮมบี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Sewanee University ของสหรัฐ เผยว่าการโทษผู้ถูกกระทำเป็นผลข้างเคียงที่น่าแปลกของความเชื่อของมนุษย์ที่ว่าโลกนี้ยุติธรรม เมื่อเกิดเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง เราจึงมักจะเชื่อกันว่าคนคนนั้นจะต้องทำอะไรไม่ดีมาแน่ๆ ถึงได้เจอเรื่องร้ายๆ

แฮมบี ยังกล่าวอีกว่าการเชื่อเช่นนั้นช่วยปกป้องภาพลวงตาที่คนเราสร้างขึ้นมาว่าเรื่องร้ายๆ จะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ทว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นแทนที่จะไปโทษว่าผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศเพราะแต่งตัวโป๊ เพราะดื่มแอลกอฮอล์จนไม่มีสติ ลองคิดถึงใจเขาใจเราและเผื่อเผ่ความเห็นใจให้คนที่ถูกกระทำบ้างก็ไม่เสียหาย