posttoday

ศาลดัตช์ไฟเขียว ความจำเสื่อมฆ่าตัวตายได้

12 กันยายน 2562

ศาลชั้นต้นในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์พิพากษาให้แพทย์หญิงพ้นความผิดในคดีการุณยฆาตผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม ถือเป็นคดีตัวอย่างของเนเธอร์แลนด์ซึ่งอนุญาตให้มีการการุณยฆาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเทศแรกของโลกเมื่อปี 2002

ศาลชั้นต้นในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์พิพากษาให้แพทย์หญิงพ้นความผิดในคดีการุณยฆาตผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม ถือเป็นคดีตัวอย่างของเนเธอร์แลนด์ซึ่งอนุญาตให้มีการการุณยฆาตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเทศแรกของโลกเมื่อปี 2002

หญิงสูงวัยรายหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคความจำเสื่อมเมื่อปี 2012 จากนั้นเธอได้เขียนจดหมายระบุให้ทำการุณยฆาตแทนการส่งเธอไปอยู่ที่สถานดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม โดยยังบอกอีกว่าต้องการตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะจบชีวิตเมื่อใดในขณะที่ตัวเองยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน

หลังจากผู้ป่วยรายนี้ถูกส่งตัวไปยังสถานดูแลผู้ป่วย แพทย์หญิงพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะทำการุณยฆาตคนไข้รายนี้แล้ว โดยมีแพทย์อีก 2 รายลงความเห็นยืนยันว่าเธอเป็นโรคความจำเสื่อมจริง จึงเตรียมลงมือ

ในวันที่หญิงวัย 74 เสียชีวิต เธอไม่รู้ตัวว่าแพทย์หญิงได้ใส่ยาระงับประสาทลงไปในกาแฟ ก่อนที่จะให้ยาในขั้นตอนสุดท้ายต่อหน้าสามีและลูกสาวของผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้ให้ความยินยอม แต่ผู้ป่วยกลับลุกขึ้นขณะที่แพทย์กำลังให้ยาการุณยฆาตจนคนในครอบครัวต้องเข้าไปจับไว้ ก่อนที่แพทย์จะให้ยาต่อจนหมด

คดีนี้มีการฟ้องร้องกันเมื่อปี 2016 โดยพนักงานอัยการชี้ว่าแม้ผู้ป่วยจะระบุเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วว่าให้ทำการุณยฆาต แต่แพทย์หญิงก็ไม่ได้ถามความสมัครใจของผู้ป่วยอีกครั้งหลังจากเธอเข้าไปอยู่ในสถานดูแลว่ายังต้องการทำตามประสงค์เดิมหรือไม่ เพราะผู้ป่วยอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้

ทว่าผู้พิพากษาลงความเห็นว่า แพทย์หญิงได้ทำทุกขั้นตอนตามกฎหมายแล้ว ทั้งการปรึกษากับแพทย์รายอื่นและครอบครัวของผู้ป่วย รวมทั้งทำตามที่ผู้ป่วยระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน อีกทั้งขณะลงมือผู้ป่วยยังมีสภาพจิตใจไม่ปกติ แพทย์จึงไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยยืนยันความตั้งใจอีกครั้ง ดังนั้นจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

หลังศาลอ่านคำพิพากษาผู้คนในห้องพิจารณาคดีต่างปรบมือแสดงความดีใจ เนื่องจากคดีนี้ถือเป็นคดีแรกของประเทศนับตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายเมื่อ 17 ปีที่แล้ว


ทั้งนี้ กฎหมายของเนเธอร์แลนด์อนุญาตให้ทำการุณยฆาตภายใต้ข้อจำกัดเข้มงวด รวมทั้งการที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานจนไม่สามารถทนรับได้และไม่มีหนทางรักษา และต้องการจบชีวิตตัวเอง โดยคณะกรรมการตรวจสอบการทำการุณยฆาตระบุว่าเมื่อปีที่แล้วมีการทำการุณยฆาต 6,126 ครั้ง