posttoday

อย่ามัวแต่ภูมิใจ ค่าเงินแข็งอาจทำลายเศรษฐกิจกับบทเรียนวิกฤตจากยุโรปถึงไทย

03 กันยายน 2562

บทวิเคราะห์โดยทีมงานโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ เจาะปัญหาจากภาวะค่าเงินแข็ง เศรษฐกิจแย่

 

"ค่าเงินที่แข็งขึ้น มักถูกมองว่าเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาจเป็นสัญลักษณ์แห่งความภูมิใจของคนในชาติ นักการเมืองมักจะกังวลเมื่อเห็นอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลง พวกเขาจะชี้ให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งขึ้นคือสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางเศรษฐกิจ"

นี่คือความเห็นของ Tejvan Pettinger ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือเรื่อง Cracking Economics

หลายๆ คนในประเทศไทยรู้สึกว่า การแข็งค่าของเงินบาทคือสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ และเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง ท่ามกลางความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก

เป็นความจริงที่ค่าเงินแข็งขึ้นเพราะเงินเฟ้อน้อย ทุนนอกไหลเข้า ศักยภาพด้านการแข่งขันเพิ่มขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจที่ดูดี แต่เมื่อกลับมาดูที่บ้านเราจะพบว่าสถานการณ์ค่อนข้างสับสน

ในเวลานี้ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังต่ำคาดว่าอยู่ที่ 0.1% ในปีนี้ (ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย) ส่วนศักยภาพด้านการแข่งขันของไทยในปีนี้ดีขึ้นจากที่ 30 ขึ้นมาอยู่ที่ 25 (ตัวเลขจาก IMD) ตัวเลขทั้ง 2 นี้ค่อนข้างดีมาก ยกเว้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ คือ 3.3% จากเดิม 3.8% ในปีนี้ (ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย)

เศรษฐกิจที่โตน้อยลงสวนทางกับค่าเงินที่แข็งขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่แปลกคือหลายคนคิดว่าค่าเงินที่แข็งหมายถึงเศรษฐกิจดีเท่านั้น

มีหลายประเทศที่เคยตกที่นั่งเดียวกับประเทศไทย เช่น กรีซ ซึ่งค่าเงินยูโรที่แข็งเกินไป (overvalued) นานหลายปี เนื่องจากมีกระแสเงินไหลเข้ามามาก ไม่ใช่เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจดี พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการแข็งค่าอย่างไม่เป็นธรรมชาติ จึงทำให้ศักยภาพด้านการแข่งขันแย่ลง การส่งออกแย่ลง และเศรษฐกิจแย่ลงในที่สุด และทำให้กรีซเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ กรีซจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของสถานการณ์ "ค่าเงินแข็ง เศรษฐกิจแย่"

นอกจากกรีซ ประเทศในยุโรปที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีนัก เช่น สเปนกับโปรตุเกส ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน นั่นคือใช้เงินยูโรที่แข็งปั๋ง แต่ขณะเดียวกันยังพึ่งการส่งออกมาก ทำให้ขายสินค้าไม่ได้ บวกกับเงินที่ไหลเข้ามาทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจจึงทรุด

เงินยูโรที่มีเสถียรภาพสูงอาจเป็นความภูมิใจของประเทศที่ได้ใช้ แต่เพราะพื้นฐานแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้สกุลเงินที่น่าภาคภูมิใจ กลายเป็นศัตรูที่บ่อนทำลายประเทศ เหมือนอาการของโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายร่างกายตัวเอง ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นกับสมาชิกชายขอบ (peripheral) ของสหภาพยุโรป มักจะไม่เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกหลักๆ เช่น เยอรมนีที่พื้นฐานดีจึงได้สมดุลกับค่าเงิน

ประเทศชายขอบกลุ่มยูโรที่ติดกับดักค่าเงินแข็ง คือ กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปน ลัตเวีย และเอสโทเนีย แม้ว่าจะทราบปัญหาแต่ว่าการแก้ไขไม่ง่าย เพราะการตัดสินใจทางการเงินของประเทศที่ใช้เงินยูโร อยู่ในกำมือของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB และในช่วงที่กรีซเกิดวิกกฤตหนี้สาธารณะ กรีซไม่สามารถที่จะลดค่าเงินเพื่อแก้วิกฤตได้ก็เพราะเหตุนี้ และทำให้มีข้อเสนอให้กรีซถอนตัวจากการใช้เงินยูโร เช่น พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกก็เสนอแนวทางนี้

แม้แต่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแกนหลักของสหภาพยุโรป ในเวลานี้ก็ยังพบกับภาวะ overvalued เนื่องจากหนี้สินมากเกินไป ต้นทุนการผลิตสูงเกินไป ทำให้สภาพเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับค่าเงินยูโร และทำให้ฝรั่งเศสมีค่าเงินที่แข็งที่สุดในหมู่ประเทศพัฒนาแล้ว แน่นอนว่ากระทบต่อศักยภาพด้านการแข่งขันของฝรั่งเศส

คำถามคือ ในเมื่อประเทศในกลุ่มยูโรโซใช้เงินสกุลเดียวกัน แล้วทำไมประเทศหนึ่งจึงมีค่าเงินสูงกว่าอีกประเทศ? เช่น เยอรมนีมีค่าเงินยุโรปต่ำกว่าฝรั่งเศส (และต่ำกว่าประเทศอื่นๆ) คำตอบก็คือ จะวัดด้วยภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ หรือ PPP อธิบายด้วยภาษาง่ายๆ ก็คือ เงินที่ถืออยู่ในมือสารถซื้อสินค้าได้สมกับราคาหรือไม่

เมื่อวัด PPP ปรากฎว่า เงินยูโรของฝรั่งเศสแข็งค่าเกินไป 5% ส่วนกรีก 7% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินยูโรในเยอรมนีอ่อนค่าถึง 17% ทำให้การส่งออกได้ผลดีมาก (และในปีนี้ Peter Navarro ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐเพิ่งจะต่อว่าเยอรมนีว่าใช้ประโยชน์จากค่าเงินอ่อนเกิน เพื่อความได้เปรียบทางการค้า)

ดังนั้น ค่าเงินแข็งไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะดี ยิ่งถ้าพื้นฐานไม่ดี การมีค่าเงินที่แข็งจะเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ ดังนั้นหลายๆ ประเทศ ภาวะ overvalued จึงเท่ากับ uncompetitive (ค่าเงินแข็งเกินไป ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันลดลง)

ตามหลักการ เมื่อเงินไหลเข้าประเทศ เงินบาทจะแข็งขึ้น เมื่อแข็งขึ้นศักยภาพการแข่งขันจะลดลง เมื่อลดลงแล้วเงินก็จะไหลออก แล้วค่าเงินก็จะอ่อนไปเอง

แต่ปัญหาก็คือมันมักจะไม่เป็นไปตามกลไกอย่างราบรื่น

การมีค่าเงินแข็งเป็นสิ่งที่เป็นดาบสองคม แต่สำหรับประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทย คงจะเป็นด้านที่อันตรายมากกว่า ไม่เช่นนั้น จีนคงไม่แทรกแซงค่าเงินให้อ่อนจนผิดธรรมชาติ กระทั่งกลายเป็นประเด็นขัดแย้งกับสหรัฐมานานนับสิบปี