posttoday

พายุมีพลังทำลายล้างสูงเพราะภาวะโลกร้อน

31 สิงหาคม 2562

ที่สภาพอากาศเลวร้ายขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะฝีมือมนุษย์เรานี่แหละ

ที่สภาพอากาศเลวร้ายขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะฝีมือมนุษย์เรานี่แหละ

จากรายงานของคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นตัวแปรให้เกิด “สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather)” ที่ส่งผลกระทบไปแล้วทั่วโลก

ในปีนี้ ออสเตรเลียต้องเผชิญกับความร้อนทะลุสถิติ ขณะที่ตอนกลางของสหรัฐต้องรับมือกับอุณหภูมิติดลบที่หนาวกว่าทวีปแอนตาร์กติกาในขั้วโลกใต้เสียอีก ส่วนในยุโรปก็เจอกับคลื่นความร้อนเล่นงานในหลายประเทศ ด้านอังกฤษอุณหภูมิในฤดูหนาวพุ่งเกิน 20 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ ไหนจะพายุเฮอร์ริเคนที่มาถี่ขึ้น น้ำท่วมฉับพลัน และไฟป่าที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ลองมาดูกันว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สภาพอากาศสุดขั้วอย่างไรบ้าง

พายุเฮอร์ริเคน

พายุเฮอร์ริเคนก่อตัวขึ้นโดยอาศัยพลังจากน้ำในมหาสมุทร ยิ่งอุณหภูมิของผิวน้ำในมหาสมุทรสูงเท่าไรพายุก็ยิ่งทรงพลังมากเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าในอนาคตมนุษย์ต้องเจอกับพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงในระดับเดียวกับเฮอร์ริเคนมาเรียที่ถล่มโดมนิกา หมู่เกาะเวอร์จิน และเปอร์โตริโกเมื่อปี 2017 ด้วยแรงลม 281 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คร่าชีวิตผู้คนถึง 3,000 คน

คลื่นความร้อน

ยิ่งอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนมากเท่านั้น  และภายในปี 2050 หากมนุษย์ยังไม่หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอีกราว 5 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าเราต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น

ความแห้งแล้ง

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อากาศแห้งตามไปด้วย เนื่องจากความชื้นจะละเหยออกจากแหล่งน้ำและดิน ปัจจุบันนี้ทั้งในสหรัฐและพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะความแห้งแล้งยาวนานและรุนแรงขึ้นๆ โดยผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่า ฝั่งตะวันตกของสหรัฐกำลังเผชิญกับความแห้งแล้งครั้งใหญ่ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 1,200 ปี

ปริมาณฝน

อากาศที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอขึ้นไปสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นการเพิ่มไอน้ำให้กับก้อนเมฆและกลั่นตัวเป็นน้ำฝนในปริมาณมาก

น้ำท่วม

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายลงสู่มหาสมุทร ในรอบ 150 ปีที่ผ่านมาระดับน้ำทะเลเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นถึง 8 เซนติเมตร ขณะนี้ชายฝั่งแอตแลนติกของสหรัฐและอ่าวเม็กซิโกกำลังเผชิญกับภาวะน้ำทะเลขึ้นสูงมากที่สุดในโลก เมื่อรวมกับน้ำฝนก็ยิ่งเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้นอีก

*** หมายเหตุ ในภาพเป็นภาพถ่ายพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ที่ก่อตัวขึ้นนอกชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2018 ที่ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ Photo by Handout and Ricky ARNOLD / NASA / AFP