posttoday

เยอรมนีเศรษฐกิจส่อทรุด จีดีพีหด-ภาคการผลิตหาย

14 สิงหาคม 2562

'เบร็กซิต-ปัญหาการค้าโลก' กระทบเยอรมนีเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

'เบร็กซิต-ปัญหาการค้าโลก' กระทบเยอรมนีเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ได้เปิดเผยในวันพุธ (14 ส.ค.) ถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสสองของปี 2019 หดตัวลง 0.1% ลดลงจากไตรมาสหนึ่งซึ่งเคยอยู่ที่ 0.4%

สำนักสถิติเยอรมนีให้เหตุผลว่าเหตุที่จีดีพีไตรมาสสองชะลอตัวสืบเนื่องจากปัจจัยการส่งออกที่ทรุดตัว อันเกิดจากกลุ่มผู้ผลิตเยอรมนีได้รับผลกระทบด้านอุปสงค์ที่อ่อนแอจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ความไม่แน่นอนของเบร็กซิต รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

ขณะที่ดัชนีภาคภาคอุตสาหกรรมลดลงมากกว่า 5.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่บ่งชี้ว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเสี่ยงหดตัวในไตรมาสที่สอง

เยอรมนีนับเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยปีที่ผ่านเศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตเพียง 0.4%

Kit Juckes นักวิเคราะห์จากธนาคาร Societe Generale มองว่า ปัญหาการค้าโลก, การถดถอยของอุตสาหกรรมยานยนต์, เบร็กซิต, และสงครามการค้าจีน ทำให้เยอรมนีเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบจากพายุเศรษฐกิจดังกล่าว

สอดคล้องกับด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) ได้เปิดเผยรายงานดัชนีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ (Economic Sentiment Index) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีทรุดตัวลงสู่ระดับ -44.1 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี

อย่างไรก็ดี เยอรมนีไม่ใช่เป็นเพียงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวที่อาจเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นยังรายงานอีกว่า "พายุเศรษฐกิจ"ลูกนี้ยังส่งผลกระทบถึงอังกฤษ อิตาลี เม็กซิโก และบราซิลด้วย

สำหรับอังกฤษนอกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2012 แล้ว ปีนี้อังกฤษยังเผชิญความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนของเบร็กซิต

ส่วนอิตาลี หนี้สาธารณะและอัตราการว่างงานยังคงสูง จีดีพีในไตรมาสที่สองโตเพียง 0.1% ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านการเมืองภายใน

ขณะที่เม็กซิโก จีดีพีขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสถึงมิถุนายนปีนี้ ส่วนการลงทุนลดลงในเม็กซิโกและภาคบริการของประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดัน ส่งผลให้ในแง่รายปีเศรษฐกิจของเม็กซิโกขยายตัวเพียง 1.2%

ด้านบราซิลซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกากำลังเผชิญความปั่นป่วนจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอและการว่างงานสูงแม้รัฐบาลขวาจัดของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู พยายามงัดทุกแผนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปใช้ทรัพยากรพื้นที่ป่าอเมซอน ซึ่งทำให้มีเสียงวิจารณ์นักอนุรักษ์หลายฝ่ายก็ตาม