posttoday

เคลียร์ทุกคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับแคชเมียร์

06 สิงหาคม 2562

หลังจากนี้รัฐชัมมูและกัศมีร์จะเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปกครองของรัฐบาลกลาง ซึ่งหมายความว่ารัฐนี้จะไม่มีรัฐธรรมูญและอำนาจปกครองตนเองอีก

 

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ประธานาธิบดีอินเดียมีคำสั่งให้ยกเลิกมาตราที่ 370 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจปกครองตนเองกับรัฐชัมมูและกัศมีร์ และหลังจากนี้รัฐชัมมูและกัศมีร์จะเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในปกครองของรัฐบาลกลาง ซึ่งหมายความว่ารัฐนี้จะไม่มีรัฐธรรมูญและอำนาจปกครองตนเองอีก

1. แคชเมียร์สำคัญอย่างไร?

แคชเมียร์ หรือรัฐชัมมูและกัศมีร์เป็นดินแดนที่มีความขัดแย้งมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือฝั่งอินเดียกับฝั่งปากีสถาน หลังจากอินเดียจะได้รับเอกราช รัฐชัมมูและกัศมีร์ยังไม่ตัดสินใจเลือกว่าจะเข้ากับอินเดียที่เป็นฮินดู หรือปากีสถานที่เป็นมุสลิม เพราะมหาราชผู้นำรัฐชัมมูและกัศมีร์เป็นฮินดู ส่วนประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ความลักลั่นนี้ทำให้ชาวมุสลิมยึดอำนาจจากมหาราชเพื่อนำแคว้นไปรวมกับปากีสถาน ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มหาราชได้ตัดสินใจนำแคว้นไปรวมกับอินเดีย ทำให้อินเดียและปากีสถานต้องขัดแย้งกันในเรื่องการอ้างสิทธิ กลายเป็นสงครามในปี 1947 จนต้องดินแดนแยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ทั้ง 2 ประเทศยังพิพาทและปะทะกันอยู่เนืองๆ รวมแล้วมีสงครามในดินแดนนี้ 3 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อีกส่วนที่จีนอ้างสิทธิและเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามกับอินเดียมาแล้ว และทำให้บางส่วนตกเป็นของจีนในปี 1962 คืออักไสชิน รัฐชัมมูและกัศมีร์จึงมีความเปราะบางสูงและเสี่ยงต่อความมั่นคงของอินเดีย

เคลียร์ทุกคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับแคชเมียร์ ชาวอินเดียเฉลิมฉลองการยกเลิกมาตรา 370 Photo by NARINDER NANU / AFP

2. ประชากรส่วนใหญ่ของรัฐชัมมูและกัศมีร์คือใคร?

รัฐชัมมูและกัศมีร์ประกอบไปด้วยชาวมุสลิมส่วนใหญ่ 68.31% รองลงมาคือชาวฮินดู 28.43% และยังมีชาวพุทธที่พูดภาษาตระกูลทิเบตในเขตลาดัก ในพื้นที่กัศมีร์มีคนมุสลิมจำนวนมากกว่า และมักก่อจลาจลอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ชาวฮินดูต้องอพยพหนีเป็นจำนวนมาก การเคลื่อนไหวของชาวกัศมีร์มีทั้งการเรียกร้องเอกราชและความต้องการเข้าไปรวมกับชาวมุสลิมในปากีสถาน มีทั้งการประท้วงโดยสันติและการก่อการร้ายโดยกลุ่มติดอาวุธ

เคลียร์ทุกคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับแคชเมียร์ ชาวอินเดียประท้วงต่อต้านการยกเลิกมาตรา 370 Photo by Manjunath Kiran / AF

3. รัฐชัมมูและกัศมีร์มีสถานะอย่างไร?

รัฐชัมมูและกัศมีร์เป็นรัฐเดียวในอินเดียที่มีเอกสิทธิพิเศษ ซึ่งให้อำนาจปกครองกับดินแดนนี้อย่างมาก เป็นรัฐเดียวที่มีรัฐธรรมนูญของตัวเอง มีธงของตัวเอง มีรัฐสภาที่มีอำนาจการผ่านกฎหมายปกครองตนเอง โดยที่ไม่มีกฎหมายของรัฐบาลกลางบังคับใช้ในดินแดนนี้ได้ ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ การติดต่อสื่อสาร และการต่างประเทศ กฎหมายของรัฐบาลกลางจะใช้ในดินแดนนี้ได้ก็ต่อเมื่อสภาท้องถิ่นมีมติยอมรับเสียก่อน สถานะนี้ได้มาจาก มาตรา 370

เคลียร์ทุกคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับแคชเมียร์ ทหารอินเดียลาดตระเวนในชัมมูหลังประกาศยกเลิกมาตรา 370 Photo by Rakesh BAKSHI / AFP

4. มาตรา 370 คืออะไร?

ตอนที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียประกอบไปด้วยรัฐมหาราชหลายรัฐ ที่ตกลงรวมตัวเป็นสหภาพ ในตอนแรกสหภาพอินเดียให้อำนาจแต่ละรัฐมีรัฐธรรมนูญของตัวเอง และรัฐบาลกลางมีอำนาจด้านกลาโหมและการต่างประเทศเท่านั้น แต่หลังจากพิจารณาแล้วส่วนใหญ่ตกลงจะใช้รัฐธรรมนูณของรัฐบาลกลาง และในที่สุดอำนาจท้องถิ่นก็ลดลงจนมีสถานะเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งที่ส่วนกลางมีอำนาจชี้ขาด ตอนที่รัฐชัมมูและกัศมีร์เสนอที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ได้ร้องขอว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของประเทศบางมาตราเท่านั้น จึงมีการใช้มาตรา 370 คือให้อำนาจปกครองตัวเองในระดับสูงมาก โดยตอนแรกตั้งใจกันว่าจะใช้มาตรา 370 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญของรัฐชัมมูและกัศมีร์จะประกาศยุติมาตรานี้ แต่ปราฎว่าสภาฯ ถูกยุบไปก่อนในปี 1957 ทำให้ไม่มีองคพายพทางกฎหมายที่จะพิจารณายกเลิกมาตรา 370 และยังผลให้มาตรานี้ยกเลิกไม่ได้เพราะจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอินเดีย

เคลียร์ทุกคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับแคชเมียร์ ชาวปากีสถานประท้วงการยกเลิกมาตรา 370 Photo by ARIF ALI / AFP

5. ทำไมรัฐบาลกลางต้องการยกเลิก?

กฎหมายสำคัญของรัฐชัมมูและกัศมีร์คือห้ามคนนอกรัฐซื้อที่ดิน และหากผู้หญิงชาวรัฐชัมมูและกัศมีร์แต่งงานกับคนรัฐอื่นจะเสียสถานะตามกฎหมายในรัฐทันที แต่เพราะดินแดนนี้มีความเปราะบางสูงเรื่องจากมีคนมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ รัฐบาลชาตินิยมฮินดูจึงพยายามหลายปีที่จะยกเลิกมาตรา 370 แม้จะถูกศาลสูงขวางมาโดยตลอด จนกระทั่งทำได้สำเร็จ หลังจากนี้ คนต่างรัฐจะสามารถเข้าไปตั้งถิ่นฐานในรัฐชัมมูและกัศมีร์ได้ และน่าจะทำให้ประชากรชาวฮินดูเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าจะต้องเกิดความขัดแย้งกับมุสลิมท้องถิ่นแน่นอน อีกเรื่องก็คือ รัฐชัมมูและกัศมีร์จะไม่ได้มีสถานะ "รัฐ" หรือ State อีก แต่จะเป็นดินแดนในอาณัติของรัฐบาลกลาง ที่เรียกว่า Union territory และจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ "ชัมมูและกัศมีร์" กับ "ลาดัก" ซึ่งเป็นพื้นที่วัฒนธรรมทิเบต/พุทธ โดยไม่มีสภาท้องถิ่น แต่จะปกครองโดยตรงจากรัฐบาลที่นิวเดลี