posttoday

ส.ส.อังกฤษหวั่น "เบร็กซิต" ไร้ทางออก จ่อขอพึ่งพระบารมีควีน

20 กรกฎาคม 2562

ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมห่วงเกิด "โนดีลเบร็กซิต" หวั่นพาชาติวิกฤติ เตรียมขอพึ่งพระบารมีควีนเอลิซาเบธ

ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมห่วงเกิด "โนดีลเบร็กซิต" หวั่นพาชาติวิกฤติ เตรียมขอพึ่งพระบารมีควีนเอลิซาเบธ

สมาชิกรัฐสภาสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมบางส่วนกำลังกังวลต่อปัญหาเบร็กซิตของสหราชอาณาจักรที่ยังคงไม่แน่นอนอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากอังกฤษยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ที่จะผลักดันรวมถึงหาทางออกในประเด็นดังกล่าว หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

นักการเมืองหลายฝ่ายกำลังหวั่นวิตกว่า หากนายบอริส จอห์นสัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของกระบวนการเบร็กซิตแบบ"โนดีล" จะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อจากนางเมย์ จะส่งผลต่อให้อังกฤษต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในรูปแบบไม่มีข้อตกลงใดๆกับอียู ซึ่งเรื่องดังกล่าวหลายฝ่ายเตือนว่าจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างร้ายแรง

 

ส.ส.อังกฤษหวั่น "เบร็กซิต" ไร้ทางออก จ่อขอพึ่งพระบารมีควีน บอริส จอห์นสัน

สำหรับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคนใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไปนั้นจะมีความชัดเจนภายในสัปดาห์หน้าว่าใครจะเป็นผู้นำรัฐบาลอังกฤษคนต่อไป

ส่วนกำหนดการเส้นตายที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปนั้นจะมีขึ้นภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

กลุ่มสมาชิกอาวุโสของพรรคอนุรักษ์นิยมบางส่วนเปิดเผยกับบีบีซีว่า พวกเขารู้สึกหมดหวังในการหยุดกระบวนการเบร็กซิตแบบ "โนดีล" โดยความหวังที่เหลืออยู่ของพวกเขาในขณะนี้คือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง

ที่ผ่านมาสมเด็จพระราชินีเอลซาเบธที่สอง ได้ชื่อทรงวางพระองค์อย่างเป็นกลางทางการเมือง แต่ในบางครั้งบางสถานการณ์ นักการเมืองอังกฤษบางกลุ่มต้องการให้พระองค์ลงมา"แก้ไข"ปัญหาทางการเมืองบางประการ โดยอาศัย"สิทธิ์"ของพระองค์ในฐานะประมุขของรัฐร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการยุโรป

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญระบุว่า การทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้สมเด็จพระราชินีต้องอึดอัดพระทัย และพระองค์อาจตอบสนองกลุ่มนักการเมืองด้วยการให้รัฐบาลเป็นผู้จัดการ

 

ส.ส.อังกฤษหวั่น "เบร็กซิต" ไร้ทางออก จ่อขอพึ่งพระบารมีควีน

ศาสตราจารย์ Vernon Bogdanor จาก King College London เผยกับซีเอ็นเอ็นว่า "สิ่งที่ปลอดภัยที่สุดของพระราชินีคือ ทรงทำตามคำแนะนำของรัฐบาล ซึ่งนั่นทำให้พระองค์ทรงปลอดจากคำวิจารณ์อยู่เสมอ"

ศ.Bogdanor อธิบายอีกว่า "กลุ่มสมาชิกอนุรักษ์นิยมเหล่านี้เคลื่อนไหวเนื่องจากต้องการแสดงให้เห็นถึงการคัดค้านเบร็กซิตแบบ "โนดีล" ซึ่งมากสุดกลุ่มนักการเมืองเหล่านี้ได้แค่แสดงออกในสภา แต่การจะเรียกร้องให้ควีนเสด็จไปร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นเรื่องไร้สาระอย่างมาก"

ความคิดเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ ศาตราจารย์ Robert Hazell จากมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน ระบุคล้ายกันว่า "ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยุโรปนั้นจริงอยู่ที่เป็นการประชุมของประมุขของ"หัวหน้ารัฐบาล" ไม่ใช่การร่วมประชุมของ"ประมุขของรัฐ" อย่างไรก็ดี ต่อให้การประชุมนี้เป็นการประชุมของประมุขแห่งรัฐ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธก็ทรงไม่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมเช่นกัน เหมือนกับชาติสมาชิกอียูอื่นที่มีระบบกษัตริย์อย่าง เดนมาร์ก สวีเดน หรือเนเธอร์แลนด์ ที่พระราชาและพระราชินี ผู้ทรงสถานเป็น"ประมุขแห่งรัฐ"ไม่ได้เกี่่ยวในการประชุมของอียูแต่อย่างใด"