posttoday

จับตาการกระแสล่าแม่มดแพร่ระบาด เมื่อโพสต์เก่าๆ ไล่ล่าคุณ

25 มิถุนายน 2562

โพสต์อะไรต้องคิดหน้าคิดหลังเพราะความเห็นต่างทางการเมืองแบบสมานฉันท์อาจไม่มีอยู่ในบางประเทศ รายงานพิเศษโดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

โพสต์อะไรต้องคิดหน้าคิดหลังเพราะความเห็นต่างทางการเมืองแบบสมานฉันท์อาจไม่มีอยู่ในบางประเทศ รายงานพิเศษโดยทีมข่าวโพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟ

ในตอนนี้เกิดดราม่าเกี่ยวกับยูทูเบอร์ชื่อดัง Point of View หรือ ชนัญญา เตชจักรเสมา เมื่อมีคนขุดโพสต์เก่าๆ ของเธอในโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมา ซึ่งแสดงทัศนะทางการเมืองบางอย่างตรงข้ามกับบางกลุ่ม ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจเธอ บวกกับการที่เธอทำเนื้อหาเกี่ยวกับ "การล่าแม่มด" ทำให้บางกลุ่มใช้ประเด็นนี้มา "ล่าแม่มด" เธอบ้าง

ก่อนหน้านี้ ยังมีกรณีของนางสาวพรรณิการ์ วานิช หรือ "ช่อ" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกอนาคตใหม่ ที่ถูกขุดโพสต์เก่าๆ ซึ่งมีทัศนะทางการเมืองล่อแหลม ทำให้เกิดกระแสไม่พอใจขึ้นในสังคม ส่วนนางสาวพรรณิการ์ ได้โพสต์ชี้แจงว่าการใช้ประเด็นล่อแหลมมาทำร้ายกันทางการเมืองถือเป็น "การล่าแม่มด"

หรือแม้แต่กรณีของ "ปั้นจั่น" ปรมะ อิ่มอโนทัย ที่โพสต์ข้อความทางการเมือง จนถูกฝ่ายที่ไม่ใจประกาศคว่ำบาตร ก็มีผู้มองว่าเป็นการล่าแม่มดเช่นกัน

ตอนนี้คำว่า "ล่าแม่มด" กลายเป็นคำที่หนาหูขึ้นมาในสังคมไทยเรื่อยๆ แต่มันคืออะไรกันแน่?

ในยุคโบราณ การล่าแม่มด (Witch-hunt) หมายถึงการไล่ล่าผู้ที่มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มาลงโทษ ในยุคที่วิทยาศาสตร์และแนวคิดมนุษย์นิยมยังไม่แพร่หลาย ผู้ที่มีความเชื่ออื่นๆ นอกเหนือจากศาสนาหลัก มักถูกตราห้นาว่าเป็นแม่มดหรือพวกนอกรีต และจะถูกล่าตัวมาลงโทษ โดยโทษที่นิยมกันคือการเผาทั้งเป็น แม้แต่นักวิทยาศาสตร์และนักเคมียุคแรกๆ ก็ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหมอผี และถูกไล่ล่าเช่นกัน

จับตาการกระแสล่าแม่มดแพร่ระบาด เมื่อโพสต์เก่าๆ ไล่ล่าคุณ ภาพจาก Youtube/Point of View

เมื่อมองจากทัศนะของคนปัจจุบัน การล่าแม่แม่ดก็คือการไล่ล่าคนที่มีความเชื่อ หรือมีความเห็นแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ เช่นในยุโรปยุคกลาง ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาคริสต์จะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคม และผู้ที่ถือลัทธิอื่น (Paganism) เป็นตัวอันตรายที่จะต้องกำจัด

ในยุคสมัยใหม่ การเป็นแม่มด (Witch) ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่การล่าแม่มดยังไม่หายไปไหน เพราะเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการล่าคนเห็นต่าง หรือคนที่ถูกมองว่าเป็นภัย (ต่อฝ่ายมีอำนาจหรือมีพรรคพวกมากกว่า)

ในทางการเมือง มีการใช้คำว่าล่าแม่มดเพื่ออธิบายปรากฎการณ์การไล่ล่า ขึงพืด และการประจานฝ่ายที่มีอุดมการณ์การเมืองฝ่ายตรงข้าม เหตุการณ์ทำนองนี้มักเกิดในประเทศที่มีความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง รูปแบบนี้เรียกว่า การล่าแม่มดทางการเมือง (Political witch-unt)

ในสหรัฐ ในช่วงต้นสงครามเย็น ระหว่างปลายทศวรรษที่ 1940 - ทศวรรษที่ 1950 วุฒิสมาชิกจอห์น แมคคาร์ที (Joseph McCarthy) ปลุกกระแสต่อต้านแนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ เพราะถือเป็นภัยต่อประเทศ เนื่องจากมีอุดมการณ์เดียวกับสหภาพโซเวียตศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ จึงมีการออกคำสั่งให้สืบสวนและไต่สวนชาวอเมริกันที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย ทำให้หลายคนที่ถูกไล่ล่าและถูกประจานทัศนะส่วนตัวต้องถูกขั้นบัญชีดำ ต้องตกงาน หรือบางคนถูกจำคุก หลายคนต้องหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือชาร์ลี แชปลิน นักแสดงชื่อดังที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

จับตาการกระแสล่าแม่มดแพร่ระบาด เมื่อโพสต์เก่าๆ ไล่ล่าคุณ การบังคับให้สารภาพความผิดที่สเปน ช่วงศตวรรษที่ 19

การล่าแม่มดของแมคคาร์ที ทำโดยฝ่ายคณะกรรมมาธิการพิจารณาพฤติกรรมที่ไม่เป็นอเมริกัน (House Un-American Activities Committee) จะเห็นได้ว่า การมีแนวคิดตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ ทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นอเมริกัน

การล่าแม่มดในไทยมีลักษณะที่คล้ายกัน และมีการตราหน้าฝ่ายที่เห็นต่างว่า "ไม่เป็นไทย" "ชังชาติ" "คลั่งชาติ" "ไดโนเสาร์" "ซ้ายตกยุค" หรือ "ศัตรูประชาธิปไตย"

สิ่งที่ต่างไปจากยุคของแมคคาร์ทีก็คือ การล่าแม่มดไม่ได้ทำผ่านคณะกรรมาธิการ ไม่มีตุลาการ แต่ทำโดยสมาชิกสังคมออนไลน์ เป็นปรากฎการณ์ล่าแม่มดแบบใหม่ที่บางคนเรียกว่า digital inquisition หรือการตั้งศาลเตี้ยลงโทษคนในโลกออนไลน์

Inquisition ในที่นี้หมายถึงศาลศาสนาในช่วงยุคกลาง ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดี "คนเห็นต่าง" คือพวกที่มีแนวคิดนอกรีต และการกรกระทำอันไม่เป็นคริสเตียน

จับตาการกระแสล่าแม่มดแพร่ระบาด เมื่อโพสต์เก่าๆ ไล่ล่าคุณ การพิจารณาคดีแม่มด ที่เมืองซาเล็ม ประเทศสหรัฐ

ที่สเปน ในยุคก่อนสมัยใหม่มีการไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามกับศาสนจักรอย่างจริงจังมากกว่าประเทศใดๆ โดยหลังจากลากตัวผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เป็นคริสเตียนมาได้แล้ว จะบังคับให้แสดงศรัทธาต่อศาสนา สารภาพความผิด แล้วประณามความเชื่อเดิม เรียกว่า "เอาโต ดา เฟ" (Auto-da-fé) ถ้าไม่ยอมทำจะถูกลงโทษ สูงสุดถึงขั้นประหาร

ในปัจจุบัน การล่าแม่มดออนไลน์ ยังมีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกับ "เอาโต ดา เฟ" คือจะมีการขุดคุ้ยโพสต์เก่าๆ ของเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นศัตรูทางการเมือง คนเห็นต่าง อินฟลูเอนเซอร์ หรือแค่คนธรมดาทั่วๆ ไป จากนั้นนำมาโพสต์ประจาน อาจมีการซักไซ้ให้เจ้าของโพสต์อธิบายข้อความนั้น หรือบีบให้ขอโทษ บางกรณีแม้ว่าจะถ้าไม่มีการเรีอกร้องใดๆ จากฝ่ายศาลเตี้ยเจ้าของโพสต์อาจทนกดดันไม่ไหวจนต้องขอโทษเอง หรือถึงกับบอกว่าโพสต์เก่าๆ นั้นไม่ได้สะท้อนความเชื่อส่วนตัว

สิ่งที่ต่างไปจากการล่าแม่มดยุคโบราณคือ digital inquisition ไม่มีตุลาการ หรือคณะไต่สวนที่อย่างน้อยจะคอยฟังคำแก้ต่างของผู้ถูกกล่าวหาบ้าง ไม่ใช่ฝูงชนที่รุมกระหน่ำอย่างไม่มีกฎกติกา