posttoday

ทำสตาร์ทอัพทำไมเจ๊ง? ดูบทเรียนจากอดีตดาวรุ่ง Northern Girl

25 มิถุนายน 2562

ถอดรหัสธุรกิจเกษตรสตาร์ทอัพกับฟาร์มออร์แกนิคชุมชนที่เคยเป็นดาวเด่นในวงการแต่แล้วกลับหมดอนาคตเสียอย่างนั้น



ถอดรหัสธุรกิจเกษตรสตาร์ทอัพกับฟาร์มออร์แกนิคชุมชนที่เคยเป็นดาวเด่นในวงการแต่แล้วกลับหมดอนาคตเสียอย่างนั้น

รัฐบาลหลายประเทศมีโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพ เพราะเล็งเห็นว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ บางประเทศที่ภาคเกษตรมีขนาดใหญ่ ยังสนับนนุนไปถึงสตาร์ทอัพเกษตร เพราะมีส่วนจัดหาตลาดให้กับเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่น ช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น

อย่างในสหรัฐ แต่ละรัฐจะจัดหาเงินทุนในรูปแบบของการกู้ยืมให้กับธุรกิจขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้น หรือไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ ยกตัวอย่างในรัฐเมน กระทรวงเกษตรของสหรัฐได้สนับสนุนเงินทุนค่าก่อสร้างโรงงานสำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคท้องถิ่นชื่อ นอร์เธิร์นเกิร์ล (Northern Girl) เมื่อปี 2011

บริษัทนี้ก่อตั้งโดยสองพี่น้องครอบครับ "คุก" คือ มาราดา และ ลีอาห์ คุก จำหน่ายผักออร์แกนิคแบบสดๆ ที่ปลูกเอง และรับมาจากเกษตรกรออร์แกนิคในชุมชน และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ดัดแปลงมาจากผักที่ถูกคัดออกเพราะมีตำหนิ โดยเริ่มจากการขอรับเงินทุนสนับสนุนจากทางรัฐบาลและระดมทุนจากนักลงทุนรายย่อยในรัฐเมน

ทำสตาร์ทอัพทำไมเจ๊ง? ดูบทเรียนจากอดีตดาวรุ่ง Northern Girl ภาพ Northern Girl

เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ครอบครัวคุกย้ายมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แถบเกษตรกรรมของรัฐเมน และเริ่มทำเกษตรแบบไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน ด้วยการปลูกมันฝรั่งแบบออร์แกนิคและจำหน่ายภายในชุมชน ผลผลิตจากแปลงผักของครอบครัวคุกขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ ภายหลังจึงเริ่มรวมตัวกับเกษตรกรรายอื่นตั้งเป็นสหกรณ์

ทุกวันจะเหลือผักที่ไม่ผ่านมาตรฐานเป็นจำนวนมาก พ่อของมาราดา และ ลีอาห์ จึงตั้งคำถามที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญว่า เราจะทำอย่างไรกับผักพวกนี้

ในปี 2011 สองสาวจึงก่อตั้งบริษัท Northern Girl ขึ้นมา เพื่อแปรรูปผักที่ล้นตลาดและมีความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า และในเวลาเดียวกันก็ช่วยลดการทิ้งเศษอาหารไปในตัว ครึ่งหนึ่งของสินค้าแปรรูปที่ส่งจำหน่ายล้วนมาจากผักที่เกือบจะต้องถูกทิ้งเพราะหน้าตาไม่สวยงาม

อาหารแปรรูปมักถูกมองในแง่ตัวร้ายทำลายสุขภาพ แต่ผักแปรรูปของ Northern Girl ไม่ได้ผ่านกระบวนการและการเติมสารเคมี เพียงแต่มีการตัดแต่ง หั่น สไลซ์ หรือแช่แข็ง เพื่อนำไปปรุงอาหารได้สะดวกขึ้น โดยที่ยังคงคุณค่าของสารอาหารไว้เต็มเปี่ยม สินค้าหลักของที่นี่ ได้แก่ บีทรูทและมันฝรั่งชิ้นใหญ่แช่แข็ง

Northern Girl ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทั้งผู้คนและองค์กรในชุมชน โดยโรงเรียนเอกชนในเมืองพอร์ทแลนด์ จะสั่งเฟรนช์ฟรายส์แบบชิ้นใหญ่ไปเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนทุกสัปดาห์ นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของบริษัทที่ขยายตลาดไปสู่ลูกค้าที่เป็นสถาบันการศึกษาได้

ทำสตาร์ทอัพทำไมเจ๊ง? ดูบทเรียนจากอดีตดาวรุ่ง Northern Girl ภาพ Northern Girl

แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป สองพี่น้องคุกต้องเผชิญกับทั้งปัญหาจากการจัดการสินค้าและคู่แข่ง อายุของผักสดที่อยู่ได้ไม่นานจึงกลายเป็นความท้าทาย พวกเธอแก้ปัญหาด้วยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเมนเพื่อหาวิธียืดอายุของผักให้ยาวนานขึ้น ส่วนคู่แข่งนั้น ทั้งคู่เลือกรับมือด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและสร้างความแตกต่างให้สินค้าของตัวเอง แค่เปลี่ยนวิธีสไลซ์มันฝรั่งก็ช่วยให้ใช้วัตถุดิบได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและช่วยเพิ่มกำไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ ความสำเร็จของ Northern Girl เป็นตัวอย่างที่ดีของสตาร์ทอัพสายสินค้าเกษตรในช่วงเวลานั้น

แม้จะประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว แต่ปัญหาก็ไล่ล่าพวกเธอย่างรวดเร็วเช่นกัน แม้ว่า Northern Girl พยายามยึดมั่นในเป้าหมายเดิมอย่างเหนียวแน่นคือการเป็นผู้กระจายสินค้ารายใหญ่ระดับท้องถิ่นเท่านั้น รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยลง แต่เป้าหมายเพียงเล็กน้อยแค่นี้ก็ยังถูกทุนใหญ่บดขยี้ไม่มีชิ้นดี

ในปี 2017 หลังดำเนินการมาได้ 6 ปี Northern Girl ก็ประกาศยุติกิจการเนื่องจากพาร์ทเนอร์สำคัญคือ Whole Foods ซูเปอร์มาเก็ตใหญ่ในสหรัฐไม่รับวางจำหน่ายผลิตผลประเภทผักคัดสรรในบรรจุภัณฑ์อีกต่อไป ทำให้ Northern Girl สูญเสียรายได้ แม้จะพยายามอุดช่องโหว่นี้แต่ก็ไม่เป็นผล

กลายเป็นว่าสตาร์ทอัพที่พยายามหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรในท้องถิ่น กลับถูกปัญหาเรื่องตลาดเล่นงานเสียเอง เพราะไปผูกกับเชนธุรกิจขนาดใหญ่

อุทาหรณ์นี้สอนให้รู้ว่า สตาร์ทอัพที่พึ่งพาบริษัทใหญ่ๆ โดยไม่มีตลาดของตัวเองมารองรับ อาจจะเจ๊งเอาง่ายๆ

ทำสตาร์ทอัพทำไมเจ๊ง? ดูบทเรียนจากอดีตดาวรุ่ง Northern Girl ภาพ Northern Girl

 

ทำไมสินค้าออร์แกนิคถึงแพง

หลายคนอาจคิดว่าราคาของอาหารออร์แกนิคจะถูกกว่าสินค้าทั่วไป เนื่องจากไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการผลิต แต่ความจริงแล้วสินค้าเหล่านี้กลับราคาสูงกว่าราว 20-100% สาเหตุมาจาก

1. ใช้แรงงานคนมาก เมื่อไม่ใช้สารเคมีก็หมายความว่าต้องจ้างแรงงานคนเพิ่มขึ้นเพื่อมากำาจัดวัชพืชและการดูแลผลผลิต

2. อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ฟาร์มเกษตรแบบออร์แกนิคนั้นยังมีจำานวนน้อย แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเลือกอาหารออร์แกนิคมากกว่าอาหารทั่วไป ทำาให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาสูงตามมา

3. ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ ในฟาร์มออร์แกนิคราคาสูงกว่าปุ๋ยเคมี

4. ต้องปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อรักษาคุณภาพของดินและป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืช นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวฟาร์มออร์แกนิคยังต้องปลูกพืชคลุมดินเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดินเป็นสารอาหารให้กับพืชรุ่นต่อไป

5. ค่าใช้จ่ายหลังการเก็บเกี่ยวสูงเนื่องจากผลผลิตของฟาร์มออร์แกนิคแต่ละครั้งน้อยกว่าฟาร์มทั่วไป ดังนั้น ค่าขนส่งเฉลี่ยแต่ละครั้งจึงสูงกว่า


ภาพ Northern Girl