posttoday

เจาะท้องวัวทรมานสัตว์หรือไม่ ทำไมต้องเจาะ?

23 มิถุนายน 2562

รัฐมนตรีฝรั่งเศสกล่าวว่า การเปิดเผยภาพการเจาะท้องวัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์

 

จากกรณีที่กลุ่มสิทธิสัตว์ L214 ของฝรั่งเศสเผยแพร่ภาพวัวที่ถูกเจาะท้องให้เป็นรู แล้วครอบด้วยฝาด้วยพลาสติก เรียกว่า "porthole" เพื่อที่จะเป็นช่องในการล้วงเข้าไปในกระเพาะอาหารของวัว เพื่อควบคุมการกินอาหารของวัว กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

แม้ว่า การเจาะท้องวัวดังกล่าวทำกันมานานหลายทศวรรษแล้ว ทั้งในต่างประเทศและในไทย แต่สาธารณชนไม่ค่อยทราบว่ามีการทรมานวัวด้วยการเจาะท้องกันมากนัก เมื่อมีการเผยแพร่ภาพดังกล่าว ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สาธารณชนที่รู้สึกว่าการทำ "porthole" เป็นการทรมานสัตว์

วัวที่ถูกเจาะรูที่ท้องเรียกว่า Cannulated cow โดยจะใช้การเจาะให้เป็นช่องลึกลงไป หรือแคนนูลา (Cannula) ไปถึงรูเมน (Rumen) หรือกระเพาะผ้าขี้ริ้ว อันเป็นกระเพาะอาหารลำดับแรกของสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มี 4 กระเพาะ วิธีการนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำการวิจัยและวิเคราะห์อาหารที่สัตว์กินเข้าไปได้ (Forage analysis) รวมถึงวิเคราะห์ระบบย่อยอาหาร โดยทำกันมานานหลายทศวรรษแล้ว อย่างเร็วที่สุดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 แต่ก็มีหักฐานว่าทำกันมาตั้งแต่ปี 1833

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันมาโดยตลอดระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์กับนักสิทธิสัตว์ โดยฝ่ายหลังมองว่าเป็นการทรมานวัว และโจมตีว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย แต่ฝ่ายผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์กล่าวว่าวิธีการนี้ไม่ใช่การทรมานวัวหรือทำให้พวกมันมีอายุขัยสั้นลง นอกจากนี้แผลจากการผ่าตัดใส่แคนนูลายังสมานภายในเวลา 4 - 6 สัปดาห์

คำถามสำคัญก็คือ การใส่แคนนูลาทำให้วัวถูกทรมานหรือไม่?

ในงานวิจัยชื่อ Identifying and preventing pain during and after surgery in farm animals (การระบุและป้องกันอาการเจ็บปวดระหว่างและหลังการผ่าตัดในสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม) โดย Kristen A.Walker, Todd F.Duffield และ Daniel M.Weary ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Applied Animal Behaviour Science (15 December 2011) ระบุว่า

"การสวมแคนนูลาในวัวเข้าไปในกระเพาะรูเมน ช่วยให้เข้าถึงกระเพาะรูเมนเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย เช่นการศึกษาด้านโภชนาการและการย่อยอาหาร อาการปวดปฐมภูมิมีแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเพื่อสอดแคนนูลาเข้าไป และอาการเจ็บปวดจากการติดตามรักษาและการตอบสนองการอักเสบ การสวมแคนนูลาในระยะยาวอาจเกี่ยวข้องกับอาการปวดเรื้อรังเนื่องจากการติดตั้งอุปกรณ์ไว้ในกล้ามเนื้อหน้าท้องและเยื่อบุช่องท้อง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีรายงานวิจัยกล่าวถึงแหล่งที่มาของความเจ็บปวดในวัว อย่างไรก็ตามหนึ่งในคณะวิจัยของเรา ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเจ็บปวดหลังสวมแคนนูลาในโคนม ... ผลลัพธ์เบื้องต้นแสดงการตอบสนองความเจ็บปวดเป็นเวลาอย่างน้อยสองวันหลังจากการผ่าตัด"

กล่าวโดยสรุปก็คือ วัวมีอาการเจ็บปวดทั้งในระยะสั้นจากการสวมแคนนูลาประมาณ 2 วัน แต่ยังอาจมีความทรมานจากการเจาะท้องและสวมแคนนูลาไว้ในระยะยาว ซึ่งยังไม่มีการศึกษาเรื่องนี้

บราวน์ ปัวร์ซง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของฝรั่งเศสกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ Public Senate ว่า การเปิดเผยภาพการเจาะท้องวัวเพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัย ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่เรายังไม่มีวิธีการอื่นในการศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์

ปัวร์ซง ยืนยันว่า "นี่คือกระบวนการทางวิธีศาสตร์ที่ไม่ทำให้สัตว์ทรมาน เรามั่นใจในเรื่องนี้เพราะเรามีวิธีการในการวัดความเครียดในสัตว์" อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฝรั่งเศสย้ำว่า จะต้องมีการตรวจสอบการเจาะท้องวัวให้มากขึ้นกว่านี้

ด้านดิดีเยร์ กิลโยม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสกล่าวผ่าน BFMTV ว่า การเจาะท้องเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก และผ่านการควบคุมโดยหน่วยงานภาครัฐ

เจมี นิวโบลด์ แห่งคณะ Rural College แห่งสถาบัน Academic Director at Scotland กล่าวกับ BBC ว่า โดยปกติแล้วจะใช้ยาชาในการผ่าตัด และแม้วัวจะรู้สึกเจ็บปวดในระหว่างกระบวนการนี้แต่วัวที่ทำการเจาะท้องจะมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 12 - 15 ปี หรือยืนยาวกว่าวัวทั่วๆ ไป