posttoday

ใครจะกล้าซื้อรถเวียดนาม (ขณะที่เวียดนามซื้อโตโยต้าที่ผลิตจากไทย)?

16 มิถุนายน 2562

บทวิเคราะห์ความฝันของเวียดนามที่จะเดินตามเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่พื้นฐานยังง่อนแง่น โดยกรกิจ ดิษฐาน

บทวิเคราะห์ความฝันของเวียดนามที่จะเดินตามเกาหลีใต้ ทั้งๆ ที่พื้นฐานยังง่อนแง่น โดยกรกิจ ดิษฐาน

เวียดนามอาจกำลังจะแข่งกับไทย แต่โมเดลการพัฒนาของเวียดนามเดินตามรอยเกาหลีใต้ ความก้าวหน้าของเกาหลีใต้เริ่มต้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักของตัวเอง เช่น ริเริ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ ริเริ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และต่อมาเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

เวียดนามพยายามเดินตามรอยนี้แต่ดูเหมือนจะเดินแบบก้าวกระโดดเกินไป และไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดของเกาหลีใต้เลย

อุตสาหกรรมต่อเรือของเกาหลีใต้เป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าหลายๆ อย่าง บริษัทต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกคือฮุนได อันดับที่ 5 คือ STX อันดับที่ 6 คือแดวู และอันดับที่ 7 คือซัมซุง

ฮุนได, แดวู และซัมซุง เป็นบริษัทที่เรียกว่า "แชบอล" หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่กุมความเคลื่อนไหวทางธุรกิจในเกาหลีใต้ แม้ว่าจะมีธุรกิจที่หลากหลายตั้งแต่ของกินไปจนถึงเรือเดินสมุทร แต่เสาหลักสำคัญของแชบอลเหล่านี้คือการต่อเรือ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทุกวันนี้คนรู้จักซัมซุงในด้านสมาร์ทโฟนมากกว่าอย่างอื่น แต่ไม่รู้ว่าซัมซุงต่อเรือมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน

ใครจะกล้าซื้อรถเวียดนาม (ขณะที่เวียดนามซื้อโตโยต้าที่ผลิตจากไทย)? AFP PHOTO/HOANG DINH NAM

เวียดนามพยายามเลียนแบบความสำเร็จของเกาหลีใต้ด้วยสร้างรากฐานของอุตสาหกรรมหนักขึ้นมาก่อน นั่นคือการต่อเรือ โดยตั้งบริษัท Vinashin ขึ้นมา แต่แทนที่จะเป็นเสาหลักการพัฒนาตามโมเดลเกาหลีใต้ บริษัทนี้กลับมีปัญหาคอร์รัปชั่นรุนแรง รัฐบาลให้เงินกู้แล้วก็ยังไปไม่รอด จนกระทั่งบริษัทพัง ต้องปรับโครงสร้างเป็นบริษัท SBIC ที่ยังต่อเรืออยู่ แต่ความฝันไม่ได้สวยหรูเหมือนแต่ก่อน

ปัจจุบันหนึ่งในกิจการของ Vinashin เป็นการร่วมทุนกับฮุนได นั่นคืออู่ซ่อมเรือ Hyundai-Vinashin ซึ่งเป็นกิจการเกาหลี แต่มีคนทำงานเป็นเวียดนาม

Vinashin เป็นบริษัทที่มีการจ้างงานเป็นจำนวนมากแ แถมยังมีรัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก เมื่อเกิดปัญหาจึงกลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจไปด้วย

ในช่วงที่ Vinashin ล่มสลายนั้น เศรษฐกิจเวียดนามกำลังแปรสภาพจากที่กำลังรุ่งมาเป็นร่วงพอดี ทำให้นักวิเคราะห์เลิกตั้งความหวังกับเวียดนามกันไปพักใหญ่

ตอนนี้อุตสาหกรรมต่อเรือของเวียดนามก็ยังเป็นรากฐานให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ได้เหมือนเกาหลีใต้ แต่เวียดนามก็ยังไม่เข็ด รีบเร่งที่จะพัฒนาทั้งๆ ที่รากฐานไม่ได้มั่นคง

ตัวอย่างความล้มเหลวอีกเรื่อง คือการเร่งสร้างรถยนต์ "ของตัวเอง" โดยที่ไม่มีตลาดรองรับ

ใครจะกล้าซื้อรถเวียดนาม (ขณะที่เวียดนามซื้อโตโยต้าที่ผลิตจากไทย)? Photo by Manan VATSYAYANA / AFP

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าบริษัท Vingroup กำลังจะปล่อยรถยนต์รุ่นแรกวางจำหน่าย นั่นคือ Vinafast สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ที่ได้ยินข่าว และต่างแสดงความเห็นกันว่าเวียดนามกำลังก้าวไปอีกขึ้นแล้ว และกำลังจะแซงไทยไป

แต่ความจริงสิ่งที่เรียกว่า "รถยนต์สัญชาติเวียดนาม" แท้ๆ นั้นไม่มี เพราะ Vinafast เป็นแค่การนำเอาเทคโนโลยียานยนต์ของ Siemens, Bosch, Magna International, และ BMW และออกแบบโดย Pininfarina ดีไซเนอร์ของอิตาลี เพียงแต่ประกอบชิ้นส่วนในเวียดนามเท่านั้น

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการเกือบทั้งหมดยังยกขบวนมาจาก GM และซื้อกิจการดีเลอร์จาก Daewoo-GM

สภาพแบบนี้เรียกว่าแย่กว่ากรณีของ Proton ของมาเลเซียเสียอีก คำถามก็คือ ใครที่จะเสียเงินซื้อรถรุ่นนี้ที่มีราคาถึงกว่า 500,000 บาท แทนที่จะซื้อรถที่มีดีกรีจากค่ายดังๆ ที่ราคาถูกกว่า และใครที่จะกล้าซื้อรถที่ประกอบโดยประเทศที่ไม่มีประสบการณ์เรื่องยานยนต์เลย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เวียดนามปั้นรถยนต์แบรนด์เวียด แต่มีประสบการณ์มาแล้วกับแบรนด์ Xuan Kien ที่พับแผนไปโดยยังไม่ได้ผลิตรถออกมาเมื่อปี 2015 นี่ขนาดเป็นรถยนต์ทั่วไปที่ยังอยู่ระหว่างวางแผน ไม่ได้กำหนดตัวเป็นแบรนด์ดังยังขายไม่ออก

Nikkei Asian Review รายงานว่า แม้ว่าคนเวียดนามจะมีกำลังซื้อมากขึ้น (เฉพาะแค่ในเมืองใหญ่) แต่ตลาดยานยนต์ยังมีขนาดแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และคนเวียดนามเองก็ยังซื้อรถโตโยต้ามากที่สุด โดยมีส่วนแบ่งตลาดถึง 24% แน่นอนว่า โตโยต้านำเข้าจากไทย และรถยนต์อีกส่วนนำเข้าจากอินโดนีเซีย

ใครจะกล้าซื้อรถเวียดนาม (ขณะที่เวียดนามซื้อโตโยต้าที่ผลิตจากไทย)? Photo by Kao NGUYEN / AFP

ความสำเร็จของบริษัทแชบอลในเกาหลีใต้ คือการทำให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ แต่สิ่งที่เวียดนามยังเลียนแบบเกาหลีใต้ไม่ได้คือการทำให้ประชาชนใช้ของที่ผลิตในประเทศตัวเอง

คนนอกเวียดนามคงไม่ซื้อ Vinafast แน่ๆ ส่วนในประเทศก็ซื้อโตโยโต้า ที่ส่งมาขายจากประเทศไทย ดังนั้น Vinafast เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความฝันที่ไม่มีพื้นฐานความจริงโดยแท้

นอกจากรถยนต์แล้ว Vingroup ยังประกาศวางจำหน่ายสมาร์ทโฟนสัญชาติเวียดนาม ที่ซื้อกิจการและเทคโนโลยีมาจากบริษัท BQ ของสเปน โดยจะปล่อยออกมาถึง 125 ล้านเครื่องต่อปี ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนเวียดนาม แต่มาจากสเปนล้วนๆ และถ้าจะขายคนเวียดนามด้วยกัน ยังต้องแข่งกับซัมซุงและแอปเปิล

เจ้าของบริษัท Vingroup คือ "ฟามเญิตเวือง" ประกาศว่าภายใน 10 ปี เขาจะผลักดันเวียดนามให้เป็นคู่แข่งขันที่ทรงศักยภาพในดานเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรม และการบริการ

ใครจะกล้าซื้อรถเวียดนาม (ขณะที่เวียดนามซื้อโตโยต้าที่ผลิตจากไทย)? Photo by Manan VATSYAYANA / AFP

คำประกาศนี้ฟังดูเหมือนคำคุยเขื่อง เพราะธุรกิจหลัก Vingroup ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพวกนั้นเลย แต่มาจากอสังหาริมทรัพย์ และรายได้ถึง 82.7% มาจากอสังหาริมทรัพย์ หากคิดจะเดินตามรอยแชบอลของเกาหลีใต้ เวียดนามจะต้องปั้นบริษัทที่เริ่มจากอุตสาหกรรมหนักจริงๆ ไม่ใช่นำเงินจากการขายบ้านขายที่ดินมาลงทุนโดยไม่มีดีมานด์มากมายในบ้านตัวเองแบบนี้

Vingroup ยังไม่สามารถสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาของตัวเองในบ้าน ต้องไปตั้งศูนย์เมืองแทกู ซึ่งเป็นของเกาหลีใต้ ส่วนเงินวิจัยพัฒนาของ Vingroup ก็มีแค่ 11 ล้านเหรียญสหรัฐจะไปพอทำอะไร?

ในตอนนี้เวียดนามได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ จนสื่อพากันพูดถึง "ปฏิหาริย์ของเวียดนาม" กันอีกครั้ง การลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 69% แต่สิ่งที่สื่อไม่ได้รายงานคือ บริษัทหลายแห่งมีปัญหาในการจ้างแรงงานมีฝีมือในเวียดนาม ประเทศนี้ขาดแคลนแรงงานมีฝีมืออย่างมาก ซึ่งสู้จีนไม่ได้ในเรื่องนี้ และยิ่งไม่ต้องเทียบกับไทย

ปัญหาของเวียดนามอีกอย่างคือคอร์รัปชั่น ซึ่งเลวร้ายขนาดติดอันดับที่ 117 จาก 180 ประเทศ จากการจัดอันดับโดย Transparency International เมื่อปี 2018 (เทียบไทยที่ 36) และทำให้ความฝันที่จะเป็นแบบเกาหลีของ Vinashin ต้องล่มสลายมาแล้ว


อ้างอิง

• Tomoya Onishi. JUNE 15, 2019. Vietnam car with BMW tech takes on Japanese rivals. Nikkei Asian Review.

• Nikkei. MARCH 05, 2019. Vingroup invests in global R&D network to accelerate shift to tech. Nikkei Asian Review

• Safet Satara. September 20, 2018. VinFast - Follow The Birth Of A Car Company Using BMW Tech And Italian Design From Pininfarina. Topspeed.

• Techspynews. March 20, 2019. The Transformation Of BQ To Vsmart Is Definitive With The New Active 1+. Techspynews.

• Reuters. June 10, 2019.Vietnam's Vingroup says new phone plant can make 125 million units per year. Euronews

• Dezan Shira & Associates. June 29, 2018. Labor Market Trends in Vietnam. Vietnam Briefing.