posttoday

30ปีรถถังบุกเทียนอันเหมิน ภาพจำที่ไม่อาจลบเลือน

04 มิถุนายน 2562

ย้อนรำลึกการสังหารหมู่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

ย้อนรำลึกการสังหารหมู่ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

วันนี้ของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง สาดกระสุนใส่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุงปักกิ่งเสียชีวิตหลายร้อยหลายพันคน แม้จะผ่านไปแล้ว 30 ปีแต่เหตุการณ์นองเลือดนี้ไม่เคยลบเลือนไปจากใจชาวจีนเลย

ย้อนไปในช่วงปี 1980 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจีน จากที่เป็นประเทศปิด รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มเปิดให้บริษัทเอกชนและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ ตามนโยบายของประธานาธิบดี เติ้งเสี่ยวผิง ด้วยความหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวจีน

ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลับนำมาสู่การคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่จากบรรดากลุ่มชนชั้นนำ โอกาสทางธุรกิจที่เอื้อเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับความชอบธรรมของระบบพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว บวกกับความผิดหวังของประชาชนจากปัญหาเงินเฟ้อ การจำกัดการมีส่วนร่วมทางการเมือง ทำให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเริ่มลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ประเด็นที่จุดชนวนการรวมตัวประท้วงคือ การเสียชีวิตของ หูเย่าปัง นักการเมืองที่ดูแลนโยบายการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ และผู้ที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมือง  เมื่อเดือน เม.ย. 1989 หลังจากที่เขาถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามบีบให้ออกจากตำแหน่งในพรรคเมื่อปี 1987 ทำให้ชาวจีนนับหมื่นคนมารวมตัวกันในพิธีศพของหูที่จัตุรัสเทียนอันเหมินชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เพื่อเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์คืนเกียรติยศชื่อเสียงให้กับหู เพราะพรรคยัดเยียดข้อหาว่าหูยอมโอนอ่อนกับนักศึกษามากเกินไป และโยนความผิดในการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศให้

30ปีรถถังบุกเทียนอันเหมิน ภาพจำที่ไม่อาจลบเลือน วินาทีที่ชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษาปะทะกับเจ้าหน้าที่ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนเมื่อวันที่ 4 ม.ย.1989 หลังจากรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ ภาพ : เอเอฟพี

วันที่ 22 เม.ย.นักศึกษาเริ่มมารวมตัวกดดันรัฐบาลที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่การประท้วงจุดติดแล้วคาดว่ามีผู้ร่วมประท้วงสูงสุดถึง 1 ล้านคน และในขณะที่การประท้วงดำเนินไปนั้น ภายในพรรคคอมมิวนิสต์เกิดการแตกแยกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ฝ่ายหนึ่งต้องการให้เจรจากับผู้ประท้วงอย่างสันติ อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้ใช้วิธีเด็ดขาดรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม

ระหว่างที่พรรคกำลังถกเถียงกันอยู่นั้น การประท้วงอดอาหารของนักศึกษาได้กระตุ้นให้ชาวจีนทั่วประเทศลุกขึ้นมาประท้วงจนลุกลามไปยังเมืองต่างๆ ราว 400 เมือง ในที่สุดรัฐบาลก็ตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกและเคลื่อนทหารราว 300,000 นายไปยังกรุงปักกิ่ง จนช่วงกลางดึกของวันที่ 4 มิ.ย.รถถังได้เคลื่อนเข้าไปยังจุดประท้วงและเกิดการกราดยิงทั้งผู้ประท้วงและผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาจนเลือดนองทั่วจัตุรัสเทียนอันเหมิน รวมทั้งมีการจับกุมผู้ประท้วงเพื่อเข้ายึดพื้นที่คืน

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้มีผู้สังเวยชีวิตไปกี่คน แต่ปลายเดือน มิ.ย. 1989 รัฐบาลจีนประกาศว่ามีพลเรือนและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเสียชีวิต 200 คน ส่วนผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่อยู่ในที่เกิดเหตุและตระเวนไปตามโรงพยาบาลทั่วเมืองหลวง ประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิต 2,000-3,000 คน และเมื่อปี 2017 รัฐบาลอังกฤษได้เปิดเผยบันทึกทางการทูตของ เซอร์ อลัน โดนัลด์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงปักกิ่ง ที่รายงานสถานการณ์กลับไปยังรัฐบาลอังกฤษ ที่ระบุว่าตัวเลขสูงถึง 10,000 คน

30ปีรถถังบุกเทียนอันเหมิน ภาพจำที่ไม่อาจลบเลือน

หนึ่งในภาพที่เป็นที่จดจำจากเหตุประท้วงกลางกรุงปักกิ่งคือ ภาพชายคนหนึ่งยืนประจันหน้ากับรถถังที่กำลังถอนกำลังออกจากจัตุรัสเทียนอันเหมินไปตามถนนฉางอันซึ่งเป็นจุดที่เกิดการนองเลือดมากที่สุด ก่อนที่ชายคนดังกล่าวจะปืนขึ้นไปบนรถถังแล้วปะทะคารมณ์กับเจ้าหน้าที่ผ่านป้อมปืน แม้จะไม่ถูกยิงแต่สุดท้ายแล้วชายคนนี้ก็ผละจากไปโดยที่ไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขาจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ภายนอกมองว่าภาพดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับการกวาดล้างของรัฐบาลด้วยการแข็งขืนอย่างไม่ลดละ แต่รัฐบาลจีนกลับพยายามเซ็นเซอร์เหตุการณ์นี้ทุกช่องทาง หนำซ้ำระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง หรือแชงกรี-ลา ไดอะล็อกที่สิงคโปร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เว่ยเฝิ้งเหอ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีนยังเอ่ยว่าการกระทำของรัฐบาลขณะนั้นเป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมแล้ว คล้อยหลังหนึ่งวันหนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลยังระบุอีกว่า การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นวัคซีนป้องกันความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศในอนาคตชั้นดี

ด้านคณะกรรมการกิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน เรียกร้องให้จีนเผชิญหน้าและยอมรับความผิดพลาดในอดีต และขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจีนไม่เคยมองเห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 4 มิ.ย. แต่กลับปิดกั้นข้อมูล บิดเบือนความจริง และพยายามปกปิดความผิดของตัวเอง”

แต่สำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากการชุมนุมในครั้งนั้น รวมทั้งญาติของผู้เสียชีวิต วันนี้ถือเป็นวันแห่งความเจ็บปวดที่ไม่อาจลบเลือนไปจากใจ และไม่มีการพูดถึงหรือจัดพิธีรำลึกจากรัฐบาลจีน