posttoday

"กุดั่น" คืออะไร? ชื่อโกศไทยที่มาไกลถึงอินเดีย

27 พฤษภาคม 2562

ความเกี่ยวโยงระหว่างศิลปะของโกศพระราชทานกับศิลปะชั้นสูงของชาวอินเดีย โดยกรกิจ ดิษฐาน


ความเกี่ยวโยงระหว่างศิลปะของโกศพระราชทานกับศิลปะชั้นสูงของชาวอินเดีย โดยกรกิจ ดิษฐาน

หลังจากที่มีการประกาศสำนักพระราชวังเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโกศกุดั่นน้อย เพื่อเป็นเกียรติแก่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษ ทำให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับโกศกุดั่นน้อยกันเป็นอันมาก และมีสื่อได้รายงานลักษณะของโกศกุดั่นน้อยกันไปบ้างแล้ว

แต่โกศกุดั่นน้อยยังมีแง่มุมด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่น้อยคนนักจะทราบ โดยเฉพาะที่มาของคำๆ นี้

ราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความหมายของคำว่า "กุดั่น" เอาไว้ว่า

(๑) น. ทองแกมแก้ว คือ เครื่องประดับเพชรพลอยหรือกระจก เช่น ลายปั้นกุดั่น คือ ลายปั้นปิดทองประดับกระจก, โกศกุดั่น คือ โกศทำด้วยไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก

(๒) น. ชื่อลายเป็นดอกไม้ ๔ กลีบรวมกันอยู่เป็นพืด, ถ้าแยกอยู่ห่าง ๆ เรียกว่า ประจำยาม.

ดังนั้นลักษณะของกุดั่น คือการประดับด้วยพลอยหรือกระจกและมีการปิดทอง ส่วนความหมายที่ ๒ เป็นความหมายในเชิงจิตรกรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับลักษณะโกศ

คำว่า กุดั่น จึงตรงกับ กุนดัน/กุนดาน (Kundan) ในภาษาท้องถิ่นอินเดีย ความหมายเดิมของกุนดัน คือทองคำที่มีคุณภาพสูง ส่วนอีกความหมายหนึ่ง คือหัตถกรรมการประดับอัญมณีที่ประกอบไปด้วยพลอยและทองคำเปลว มักใช้ประดับสร้อยสังวาล

"กุดั่น" คืออะไร? ชื่อโกศไทยที่มาไกลถึงอินเดีย Bazuband (armband), One of a Pair,late 18th–19th century. © 2000–2019 The Metropolitan Museum of Art.

การทำกุนดัน/กุนดาน มาจากรัฐราชสถาน หรือรัฐคุตราช และถ่ายทอดสู่ราชสำนักจักรวรรดิโมกุล วิธีการทำกุนดันจะเริ่มจากการขึ้นลายบนชิ้นทองคำหรือโลหะชุบทองจากนั้นทำการฝังอัญมณีลงไปในช่องลายที่ขึ้นไว้ แล้วทำการขัดให้เงางาม

ยังมีการทำกุนดันอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า กุนดัน มีนา (Kundan Meena) เป็นหัตถกรรมเลื่องชื่อของเมืองชัยปุระ แคว้นราชสถาน วิธีการก็คือจะขึ้นชิ้นทองเป็นช่องรูปทรงต่างๆ แล้วลงยาหรือประดับกระจกสี อีกด้านหนึ่งจะประดับอัญมณี

นอกจากนี้ เครื่องประดับกุนดันจำนวนไม่น้อยมักขึ้นรูปเป็นทรงดอกไม้ ซึ่งเขากับนิยามที่ ๒ ที่ให้ไว้โดยราชบัณฑิตยสถาน

ผู้เขียนคาดว่า ลายกุดั่นของไทยเป็นการเลียนแบบลายของกุนดัน หรือเครื่องทองประดับอัญมณีของอินเดียนั่นเอง เพราะความหมายและลักษณะตรงกันอย่างมาก

"กุดั่น" คืออะไร? ชื่อโกศไทยที่มาไกลถึงอินเดีย Necklace,18th century. The Metropolitan Museum of Art

นอกจากนี้ แต่โบราณราชสำนักไทยยังสั่งซื้อผ้าพิมพ์ลายจากอินเดียมาใช้ตั้งแต่สมัยอยุธยา จึงน่าจะมีการถ่ายทอดลวดลายและการทำเครื่องประดับแบบกุนดันมาจากอินเดียด้วย จนกลายเป็นที่มาของคำว่ากุดั่น

คำว่า "โกศกุดั่น" (ซึ่งมีทั้งโกศใหญ่และโกศน้อย) จึงหมายความว่า โกศนี้มีลักษณะการประดับประดาด้วยทองคำและกระจกแบบเดียวกับกุนดัน หรือกุนดันมีนา ศิลปะหัตถกรรมของชาวแคว้นราชสถานนั่นเอง

นี่คือความเกี่ยวโยงระหว่างศิลปะของโกศพระราชทานกับศิลปะชั้นสูงของชาวอินเดีย

อ้างอิง

Babb, Lawrence A. (2013) Emerald City: The Birth and Evolution of an Indian Gemstone Industry. SUNY Press. หน้า 44

Navina Najat Haidar, Marika Sardar. (2015) Sultans of Deccan India, 1500–1700: Opulence and Fantasy. Metropolitan Museum of Art. หน้า 134 - 136