posttoday

ชาวเน็ตฟิลิปปินส์ทวงบุญคุณ ไทยปิดมาหยาสำเร็จเพราะดูเตร์เต

12 พฤษภาคม 2562

ขณะที่ชาวโลกชื่นชมไทย ชาวฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่งอ้างว่าไทยลอกฟิลิปปินส์จนถูกสวนกลับ


หลังจากที่มีข่าวว่ากรมอุทยานแห่งชาติ ประกาศปิดอ่าวมาหยา ในเกาะพีพีเล ต่ออีก 2 ปีเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างความยินดีให้กับชาวไทยที่อยากจะเห็นสมบัติของชาติได้กลับมาฟื้นคืนสภาพที่สวยงามดังเดิม หลังจากถูกปู้ยี่ปู้ยำโดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมานานหลายสิบปี

ข่าวการปิดอ่าวมาหยาเป็นที่สนใจของชาวโลกอย่างมาก ไม่มาหยาไม่เพียงมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะฉากของภาพยนต์เรื่อง The Beach เท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงชัยชนะของการอนุรนักษ์เหนือความกระหายเงินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้มีชาวโลกแสดงความชื่นชมทางการไทยตามโพสต์รายงานข่าวของสื่อต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเห็นชื่นชมประเทศไทย กลับมีเพื่อนบ้านอาเซียนกลุ่มหนึ่งจากประเทศฟิลิปปินส์ที่ระดมโพสต์ความเห็นว่า ไทยลอกความคิดการปิดอ่าวมาหยา จากคำสั่งปิดชายหาดโบราไกย์ของฟิลิปปินส์ และพากันขอบคุณประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ซึ่งออกคำสั่งให้ปิดโบราไกย์

ความเห็นในโพสต์ข่าว ของสำนักข่าว CNN โดยชาวฟิลิปปินส์ที่ชื่อ Skie Bebot อ้างว่า "ได้รับแรงบันดาลใจจากการปิดโบราไกย์ของฟิลิปปินส์!"

หลังจากนั้นมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นโต้แย้งอย่างดุเดือด เช่น Korranat Khwan ที่โต้ว่า "ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้? นี่เป็นผลงานของการต่อสู้อย่างยาวนานของกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักอนุรักษ์ คุณควรให้เครดิตกับพวกเขานะ"

ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์อีกคนคือ Ako Si Chef Ronnie เถียงว่า "นักเคลื่อนไหวกับนักอนุรักษ์จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีแรงผลักดันทางการเมือง" ซึ่งคำกล่าวนี้ น่าจะหมายถึงคำสั่งของดูเตร์เตให้ปิดโบราไกย์ ถึงขนาดมีอิทธิพลต่อนักอนุรักษ์ในไทย

แต่ Korranat Khwan พยายามที่จะอธิบายอย่างมีเหตุผลว่า "คุณอาจจะไม่รู้ว่าคนอื่นเขามองประธานาธิบดีของคุณอย่างไร ฟิลิปปินส์ไม่ใช่ตัวอย่างในเรื่องนี้ ถ้าคุณอ่านบทความก็จะเห็นชื่อ ดร.ธรณ์ (ธำรงนาวาสวัสดิ์) เขาเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ... เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับฟิลิปปินส์"

นอกจากความเห็นนั้แล้วยังมีชาวฟิลิปนส์อีกประปรายเข้ามายกความดีความชอบให้ประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีชาวฟิลิปปินส์บางคนที่แสดงความเห็นชื่นชมไทย เช่น Don Claro Ramirez ที่บอกว่า "อิจฉาพวกเขา (คนไทย) โบราไกย์ของฟิลิปปินส์ปิดแค่แป๊บเดียว"

ทั้งนี้ มีข่าวว่าไทยจะปิดอ่าวมาหยามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 และทางการไทยประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม2561 ว่า จะปิดอ่าวมาหยาเป็นเวลา 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่หน้าที่จะปิดอ่าวมาหยา ไทยประสบความสำเร็จจากการปิดเกาะยูง ในหมู่เกาะพีพีมาแล้วในปี 2559 โดยการผลักดันของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และคณะ และหลังจากนั้นมีการทดลองโมเดลการจัดการเกาะท่องเที่ยวต่างๆ อย่างต่อเนื่องรวมถึง "พีพีโมเดล" ที่ ดร.ธรณ์ เริ่มต้นเมื่อ 4 ปีก่อน กล่าวได้ว่า ไทยคือหัวหอกของประเทศอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่กล้าปิดเกาะ เพื่อรักษาสมบัติของชาติ

ขณะที่ดูเตร์เต กล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ว่า เขาคิดจะปิดโบราไกย์ที่มีสภาพเหมือนบ่อเกรอะ และต่อมารัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศปิดหาดโบราไกย์เมื่อเดือนเมษายน 2561 แต่ปิดเพียง 6 เดือนเท่านั้น 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเน็ตฟิลิปปินส์อ้างว่า ประเทศไทยเดินตามรอยพวกเขา ก่อนหน้านี้มีข่าวเป็นระยะเรื่องการปิดอ่าวมาหยาต่อเนื่อง และการปรากฎตัวอีกครั้งของสัตว์ทะเล เมื่อสื่อทั่วโลกรายงานข่าวก็ยังมีชาวฟิลิปปินส์เข้าไปแสดงความเห็นในทำนองนี้ เช่น Michael Asprec Balagan แสดงความเห็นในโพสต์ของ SBS News ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ว่า "ประธานธิบดี ตาตัย ดิกอง (ดูเตร์เต) ของเราตระหนักถึงเรื่องนี้ก่อน เราทำแบบนี้ที่โบราไกย์ ฟิลิปปินส์ ภูมิใจที่เป็นผู้สนับสนุนดิกอง" เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะรายแรกที่เจ้าของไอเดียปิดเกาะ สิ่งที่สำคัญกว่าคือการยับยั้งความกระหายผลกำไรจากการท่องเที่ยว จนทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า ซึ่งไทยกับฟิลิปปินส์ถือเป็นตัวอย่างที่ดีร่วมกัน

 

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP