posttoday

"เจ้าฟ้า" ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วฟ้าอุษาคเณย์ วันนี้เหลือแค่ที่ไทย

07 พฤษภาคม 2562

โดย กรกิจ ดิษฐาน

โดย กรกิจ ดิษฐาน


ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์พระองค์ต่างๆ ในบรรดาพระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ที่ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นคือ "เจ้าฟ้า" ซึ่งเป็นสกุลยศ หรือยศที่เกิดจากสถานะทางตระกูลอันสูงสุดของพระบรมวงศ์ แต่โบราณพระมหากษัตริย์มักทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาราชบุตร (ลูกชาย) ราชธิดา (ลูกสาว) หรือราชนัดดา (หลาน)

แต่ "เจ้าฟ้า" ไม่ได้เป็นแค่พระอิสริยยศฐานันดรศักดิ์ของพระบรมวงศ์ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะยังเป็นฐานันดรศักดิ์ของเจ้าผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ของคนไทยและคนลาวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ในประเทศจีน พม่า ลาว และรัฐอัสสัมในอินเดีย แต่ปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าฟ้าเหลือแต่ในเมืองไทยเท่านั้น

ในบางประเทศคำว่าเจ้าฟ้า เรียกเพี้ยนไปตามสำเนียงภาษาหลักของประเทศนั้นๆ เช่น ในพม่าออกเสียงว่า ซอ-บวา ในจีนออกเสียง ซูปา เป็นต้น แต่คนไทในดินแดนเหล่านั้นก็ยังออกเสียงว่า "เจ้าฟ้า" ด้วยสำเนียงภาษาของพวกเขาเช่นเดิมไม่มีผิดเพี้ยน

ความหมายของเจ้าฟ้าก็คือ "เจ้าแห่งฟ้า" คำว่า ฟ้าในที่นี้หมายถึงประเทศและแผ่นดิน ดังนั้นเจ้าฟ้าคือเจ้า (ผู้ปกครอง) ประเทศและแผ่นดิน ในภาษาอังกฤษแปลตรงตัวว่า lord of the sky หรือ lord of the heavens

"เจ้าฟ้า" ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วฟ้าอุษาคเณย์ วันนี้เหลือแค่ที่ไทย เจ้าส่วยแต้ก  ประธานาธิบดีคนแรกของพม่า และเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายของเมืองยองห้วย สิ้นพระชนม์ในคุกอินเส่ง

ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้คำว่า "ฟ้า" ในความหมายว่า ประเทศ/แผ่นดิน คือ "เมืองสองฝ่ายฟ้า" หมายถึงแคว้นที่ยอมเป็นประเทศราชของประเทศใหญ่ 2 ประเทศ เช่น แคว้นไทใหญ่ในพม่า ที่ยอมขึ้นกับพม่าและจีนในเวลาเดียวกัน หรือแคว้นไทพวน ในประเทศลาว ที่ยอมเป็นเมืองขึ้นกับทั้งสยามและเวียดนาม

ฟ้า จึงหมายถึงประเทศ เจ้าฟ้า ก็คือเจ้าแห่งประเทศ หรือกษัตริย์นั่นเอง

ตำแหน่งเจ้าฟ้าที่เป็นเสมือนกษัตริย์ ปรากฎอยู่ในแว่นแคว้นของชนชาติไทที่ตั้งถิ่นฐานอินเดียจนถึงจีน ในลาวก็เคยใช้คำว่าเจ้าฟ้าเช่นกัน ดังพระนามของกษัตริย์โบราณคือ เจ้าฟ้าเงี้ยว, เจ้าฟ้าคำเฮียว, เจ้าฟ้างุ้ม แต่หลังจากนั้นไม่นิยมใช้กัน ความนิยมในคำว่าเจ้าฟ้าจึงหมดไปในลาวอย่างรวดเร็ว

ในจีน มีกลุ่มคนไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในสมัยโบราณกษัตริย์จีนจะแต่งตั้งให้เจ้าฟ้าไทเป็นขุนนางท้องถิ่นพิเศษ เรียกว่า ถู่ซือ มีอำนาจปกครองตนเองแต่ต้องขึ้นกับราชสำนักจีน เมืองเจ้าฟ้าเหล่านี้ก็เช่น เจ้าฟ้าหอคำเมืองเชียงรุ่ง เจ้าฟ้าเมืองมาว และเจ้าฟ้าเมืองขอน แต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยกเลิกตำแหน่ง ถู่ซือ/เจ้าฟ้าไปด้วย

"เจ้าฟ้า" ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วฟ้าอุษาคเณย์ วันนี้เหลือแค่ที่ไทย หอคำ หรือวังเจ้าฟ้าเชียงแขง หรือเมืองสิง ประเทศลาว

ในอินเดียมีอาณาจักรอาหมของคนไทอาหม ตำแหน่งกษัตริย์เรียกว่า เจ้าหลวงหรือเจ้าฟ้า ในระยะหลังก่อนสิ้นราชวงศ์เรียกแค่ "เจ้า" เจ้าฟ้าอาหมหมดสิ้นไปในปี 1838 เมื่ออังกฤษเข้ามายึดครองและถอดเจ้าฟ้าออกจากตำแหน่ง

ในรัฐอัสสัมของอินเดียและตอนเหนือสุดของพม่าที่รัฐคะฉิ่น คือดินแดนของไทคำตี่ ซึ่งมีเจ้า 8 คนแบ่งหน้าที่กันปกครอง เรียกว่า เจ้าฟ้าไท

ในรัฐชานของพม่า มีเจ้าฟ้ามากที่สุดถึง 16 องค์ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ โดยที่อังกฤษให้อำนาจปกครองตนเองค่อนข้างมาก อนุญาตให้มีหอคำ (พระราชวัง) และคณะขุนนางเป็นของตัวเองได้ เจ้าฟ้าองค์สำคัญเช่น เจ้าฟ้าแสนหวี เจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฟ้าสีป่อ และเจ้าฟ้าเมืองเชียงแขง หรือเมืองสิง (ปัจจุบันอยู่ในสปป. ลาว)

อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าคำตี่และเจ้าฟ้ารัฐชานก็หมดสิ้นลงอีก หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ บรรดารัฐเจ้าฟ้าไทใหญ่ยอมที่จะเป็นแผ่นดินเดียวกับสหภาพพม่า ด้วยข้อแม้ว่าจะสามารถรักษาสถานะเจ้าฟ้าดังเดิม และรัฐเจ้าฟ้าไทใหญ่มีสิทธิที่จะแยกตัวจากสหภาพพม่าได้ แต่เมื่อเจ้าฟ้าไทใหญ่ยอมตกลงกับพม่าแล้ว พม่ากลับไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง อีกทั้งเมื่อนายพล เน วิน ยึดอำนาจในปี 1962 ยังจับกุมตัวเจ้าฟ้าทุกพระองค์มาคุมขัง บางพระองค์สิ้นพระชนม์ไปในเรือนจำนั่นเอง จนเจ้าฟ้าไทใหญ่สูญสิ้นจนหมด

"เจ้าฟ้า" ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ทั่วฟ้าอุษาคเณย์ วันนี้เหลือแค่ที่ไทย เจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงแห่งเชียงตุง

ปัจจุบัน ตำแหน่งเจ้าฟ้าที่มีพระเกียรติยศโดยสมบูรณ์ในฐานะประเทศเอกราช จึงเหลือเพียงประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เจ้าฟ้าไม่ใช่พระมหากษัตริย์แต่เป็นลูกของกษัตริย์ ขณะที่กษัตริย์ทรงถูกเรียกว่า "เจ้าแผ่นดิน" กระนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าฟ้าโดยปริยายตามธรรมเนียมของคนเผ่าไท/ลาว ดังคำว่า "เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน"

สันนิษฐานว่าการที่พระมหากษัตริย์ไทย ทรงยกฐานันดรเจ้าฟ้าให้กับพระราชบุตร อาจเป็นเพราะสถานะของพระมหากษัตริย์ไทยยกระดับขึ้นมาเป็น "อธิราช" หรือ "จักรพรรดิราช" มีอำนาจเหนือแว่นแคว้นอื่นๆ ที่ยอมเป็นประเทศราช จึงทรงเหนือกว่าเจ้าฟ้าแคว้นต่างๆ

พระมหากษัตริย์ไทยจึงทรงเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ส่วนพระราชบุตรทรงดำรงฐานันดรเจ้าฟ้าแทน และมีศักดิ์ประหนึ่งเจ้าประเทศราช ดังเช่นการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงสถาปนาเจ้าฟ้าชั้นเอก ก็จะทรงพระราชทานราชทินนามเป็นชื่อหัวเมืองชั้นเอก หรือเมืองประเทศราชเก่า เช่น กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ, กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา, กรมขุนนครศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ เป็นต้น