posttoday

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น

01 พฤษภาคม 2562

เผยประวัติและภาพส่วนตัวของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ

เผยประวัติและภาพส่วนตัวของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ

ในวันนี้ญี่ปุ่นได้ผลัดเปลี่ยนจากยุคเฮเซเข้าสู่รัชศกเรวะภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะอย่างเป็นทางการแล้ว โพสต์ทูเดย์จึงนำประวัติของสมเด็จพระจักรพรรดิและครอบครัวมาให้เราชาวไทยได้ทราบคร่าวๆ ดังนี้

ชีวิตส่วนพระองค์

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะขณะพระชนมายุ 2 เดือน ภาพ : สำนักพระราชวังญี่ปุ่น

สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะพระราชสมภพเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 1960 ที่กรุงโตเกียว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ และถือเป็นเจ้าชายญี่ปุ่นองค์แรกที่ได้อาศัยอยู่กับพระบิดาและพระมารดา รวมทั้งพี่น้ององค์อื่น เนื่องจากพระบิดาและพระมารดาประสงค์จะเลี้ยงดูเจ้าชายด้วยตัวเอง (ก่อนหน้านี้บรรดาเจ้าชายและเจ้าหญิงจะถูกเลี้ยงดูโดยพระพี่เลี้ยงและพระอาจารย์) ทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าชายฮิโระนับตั้งแต่พระราชสมภพจนกระทั่งวันที่ 23 ก.พ.1991 จึงได้รับการสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงเข้าพิธีฉลองพระชนมายุครบ 5 พรรษาตามธรรมเนียมของญี่ปุ่นที่พระราชวังโทงูในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 1964 ภาพ : สำนักพระราชวังญี่ปุ่น

เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษาทรงเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนงะกุชูอิน ซึ่งเป็นสถานศึกษาสำหรับชนชั้นสูงของญี่ปุ่นในสมัยนั้น และทรงเข้าร่วมชมรมภูมิศาสตร์ในชั้นมัธยมปลาย เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษาทรงถูกส่งตัวไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ (host family) ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยทรงไวโอลิน ทรงเทนนิส และทรงปีนโขดหินอูลูรูร่วมกับสมาชิกในครอบครัวอุปถัมภ์อย่างสนิทสนม โดยครั้งหนึ่งยังทรงไวโอลินต่อหน้าแขกคนสำคัญของรัฐบาลในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบรัฐบาลออสเตรเลียด้วย

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะขณะทรงศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1975 ภาพ : สำนักพระราชวังญี่ปุ่น

หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยงะกุชูอินของญี่ปุ่นในปี 1982 ก็ทรงเสด็จไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเมอร์ตัน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดตั้งแต่ปี 1983-1986 โดยทรงเขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการเดินเรือและการจราจรในแม่น้ำเทมส์ในช่วงศตวรรษที่ 18 ตลอดเวลาที่ประทับที่ประเทศอังกฤษทรงใช้ชีวิตเช่นสามัญชนร่วมกับพระสหายและพระราชวงศ์จากอังกฤษ  นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า พระองค์ทรงตกแต่งห้องประทับด้วยโปสเตอร์ของ บรูค ชิลด์ส นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกันที่ทรงโปรด  

เจ้าชายนารูฮิโตะทรงโปรดช่วงเวลาดังกล่าวมากจนภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ THE THAMES AND I : A MEMOIR OF TWO YEARS AT OXFORD (แม่น้ำเทมส์และข้าพเจ้า : ความทรงจำสองปีที่ออกซ์ฟอร์ด) และจากนั้นทรงเสด็จกลับญี่ปุ่นและเข้าศึกษาระดับปริญญาโทด้านมนุษยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยงะกุชูอินอีกครั้ง โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปี 1988

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ทรงเข้าร่วมพิธีจบการศึกษาของเจ้าหญิงไอโกะที่โรงเรียนมัธยมหญิงงะกุชูอินในกรุงโตเกียวเมื่อปี 2017 ภาพ : ISSEI KATO/AFP

ชีวิตสมรสและครอบครัว

สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงพบกับ มาซาโกะ โอวาดะ หรือสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะอดีตนักการทูตที่มีดีกรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ด ซึ่งศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวในขณะนั้น ระหว่างที่ทรงจัดงานเลี้ยงน้ำชาต้อนรับ อินฟันตา เอเลนา ดัชเชสแห่งลูโก พระราชธิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีฮวน กาโลสที่ 1 แห่งสเปนกับสมเด็จพระราชินีโซเฟีย จากนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิทรงนัดพบกับโอวาดะ หญิงสาวที่มาจากครอบครอบครัวนักการทูตอีกหลายครั้ง สมเด็จพระจักรพรรดิทรงขอโอวาดะแต่งงานถึง 3 ครั้งตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษาดูใจกัน 8 ปี ก่อนที่สำนักพระราชวังจะประกาศการหมั้นหมายของทั้งสองพระองค์ในวันที่ 19 ม.ค. 1993 และจัดพิธีเสกสมรสในวันที่ 9 มิ.ย.ปีเดียวกัน

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีทรงเข้าพิธีเสกสมรสเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 1993 ภาพ : สำนักพระราชวังญี่ปุ่น

8 ปีหลังจากเสกสมรส สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะทรงมีพระประสูติการเจ้าหญิงไอโกะเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2001 ท่ามกลางแรงกดดันจากโบราณราชประเพณีว่าจะต้องมีพระประสูติการเจ้าชายเพื่อสืบทอดบัลลังก์ เพราะญี่ปุ่นกำหนดให้เฉพาะเจ้าชายเท่านั้นที่จะสืบราชวงศ์ได้ ด้วยเหตุนี้เจ้าหญิงมาซาโกะจึงทรงห่างหายไปจากงานสังคม เนื่องจากมีปัญหาด้านการปรับตัวอันเนื่องมาจากความกดดันรอบตัว

อย่างไรก็ดี ในปี 2005 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาเพื่อแก้กฎหมายให้เจ้าหญิงไอโกะสืบทอดบัลลังก์ได้ตามลำดับ และนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคอิสุมิ ก็เห็นด้วย แต่คณะนี้ก็ต้องยุติไปหลังการประสูติของเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสของเจ้าชายฟุมิฮิโตะ พระอนุชาของมกุฎราชกุมารนารูฮิโตะ กับเจ้าหญิงคิโกะ พระราชนัดดาที่เป็นผู้ชายองค์แรกของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อปี 2006

วันภูเขาฟูจิ

จ.ชิซูโอกะและยามานาชิกำหนดให้วันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะเป็น “วันภูเขาฟูจิ” เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิทรงรักภูเขามาก

สมเด็จพระจักรพรรดินักสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะทรงสนพระทัยเกี่ยวกับนโยบายและการอนุรักษ์น้ำ ทรงเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับน้ำมากมาย อาทิ กล่าวเปิดประชุมน้ำโลกครั้งที่ 3 เมื่อปี 2003 ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ และการประชุมน้ำโลกครั้งที่ 4 ในปี 2006 รวมทั้งเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการน้ำโลกแห่งศตวรรษที่ 21 และทรงอุปถัมภ์องค์กรหุ้นส่วนน้ำโลก

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ (ซ้าย) ทรงเทนนิสกับสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะพระราชบิดาเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 1973 ภาพ : เอเอฟพี

งานอดิเรก

ปัจจุบันพระองค์หันมาทรงวิโอลาแทนไลโอลินที่ทรงโปรดในสมัยก่อน  เนื่องจากทรงมองว่าไวโอลินแสดงออกถึงการเป็นผู้นำและโดดเด่นมากเกินไป และวิโอลายังเข้ากับรสนิยมทางดนตรีของพระองค์มากกว่า นอกจากนี้ยังโปรดการจ็อกกิ้ง ปีนเขา และเทนนิส

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับจักรพรรดิองค์ใหม่ของญี่ปุ่น เจ้าชายฟูมิฮิโตะ (ซ้าย) และเจ้าหญิงคิโก และเจ้าชายฮิซาฮิโตะทรงยืนให้สื่อมวลชนฉายพระรูป หลังพิธีจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยโอฉะโนะมิสึในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2019 ภาพ : เอเอฟพี

ผู้สืบทอดบัลลังก์

รัชทายาทลำดับรองจากสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะคือ เจ้าชายฟูมิฮิโตะ พระอนุชาพระชันษา 53 ปี ตามด้วยเจ้าชายฮิซาฮิโตะพระชันษา 12 ปี พระโอรสของเจ้าชายฟูมิฮิโตะ