posttoday

อำลา "เฮเซ" ยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นเลิกทำงานถวายหัวให้องค์กร

30 เมษายน 2562

ชื่อรัชศกมีความหมายว่าบรรลุสันติภาพ แต่ในทางเศรษฐกิจไม่ใช่ยุคที่สงบสุขเลย เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเลวร้าย


โดย กรกิจ ดิษฐาน

ชื่อรัชศกเฮเซของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ มีความหมายว่า บรรลุสันติภาพ เพื่อสะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่สงบสุขหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ในทางเศรษฐกิจ เฮเซไม่ใช่ยุคที่สงบสุขเลย เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ จากภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ระหว่างปี 1986 - 1991 และภาวะเงินฝืดยืดเยื้อยาวนานถึง 2 ทศวรรษ คือ 1991 - 2010 ยังไม่นับวิกฤตด้านทรัพยากรมนุษย์อันเกิดจากอัตราการเกิดของประชากรต่ำที่สุดในโลก และญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว

ในรัชสมัยโชวะ หรือรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ แม้ว่าจะเป็นยุคสงครามและการขยายดินแดน แต่หลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ คนญี่ปุ่นจับจ่ายใช้สอยแบบไม่เสียดายเงินโดยเฉพาะทศวรรษที่ 70 - 80 ในช่วงเวลานั้นผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นถือเป็นลูกค้าชั้นดีของสินค้าแบรนด์เนม และบริษัทญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ทั่วโลก

ในช่วงเวลาดังกล่าว พนักงานบริษัทญี่ปุ่นทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ มีจิตใจทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างถึงที่สุด ขณะที่องค์กรจะให้สวัสดิการอย่างเต็มที่กับพนักงานเช่นกัน โดยจะดูแลอย่างดีหลังเกษียณ และดูแลไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วย และมักจะไม่ไล่พนักงานออก เป็นความสัมพันธ์ที่คล้ายกับซามูไรในสังกัดขุนศึกสมัยโบราณ ที่นักรบ (พนักงาน) จะยอมสู้ตายถวายหัวให้กับแคว้น (บริษัท)

อำลา "เฮเซ" ยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นเลิกทำงานถวายหัวให้องค์กร Photo by Toshifumi KITAMURA / AFP

รัชสมัยโชวะคือยุคเฟื่องฟูของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่น (ซะระรีมัง/Salaryman) ซึ่งเชื่อมั่นในองค์กรและยอมทำงานจนตายเพื่อองค์กร หรือที่เรียกว่า โมเรตสึ ฌะอิน (Mouretsu shain) แปลว่าพนักงานที่ทำงานอจย่างเป็นล้าเป็นหลัง ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า คะโรชิ (Karōshi) คืออาการไหลตายที่เกิดจากการทำงานแบบนันสต็อป หรือการฆ่าตัวตายจากความเครียดที่ต้องทุ่มเทให้องค์กร สาเหตุก็เพราะที่ญี่ปุ่นมีความเชื่อกันว่า การใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิศนานๆ มีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น

ด้วยความที่มนุษย์เงินเดือนยุคโชวะยอมอุทิศกายใจให้องค์กรแบบไม่เสียดายชีวิต จึงถูกล้อเลียนว่าเป็น "ทหารขององค์กร" บางครั้งเรียกว่าเป็น "ปศุสัตว์ขององค์กร" และถึงขั้นเรียกอย่างดูหมิ่นว่า "สุนัขรับใช้บริษัท" แต่ถึงกระนั้นองค์กรเลี้ยงดูพวกเขาอย่างดี อีกทั้งสังคมยังคาดหวังเอาไว้สูงกับการทำงานในสังกัด ครอบครัวส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกๆ เป็นพนักงานบริษัทดีๆ ถ้าพลาดไปถือเป็นความอับอายของวงตระกูลเลยทีเดียว

ความล่มสลายของระบบซะระรีมังมาถึงหลังจากเปลี่ยนรัชสมัยจากโชวะมาเป็นเฮเซได้ไม่กี่เดือน ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกปั่นจนมีราคาสูงกว่าความเป็นจริงก็แตกโพล๊ะในปี 1989 เงินเยนอ่อนค่าลงเป็นเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายน ตามราคาที่ดินในโตเกียวที่จู่ๆ ก็ตกลงพรวดพราด พอเข้าเดือนมกราคม 1990 ก็ถึงคิวตลาดหุ้นนิกเคอิที่ตกลงถึง 35% และในปี 1991 วิกฤตอสังหาฯ ก็ลามจากโตเกียวไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจนราคาติดลบกันถ้วนหน้า

ผลที่ตามมาก็คือ ภาคธุรกิจที่เคยฟุ้งเฟื่องของญี่ปุ่นล้มระเนระนาดเหมือนโดมิโน บริษัทที่ไม่เคยมีนโยบายไล่คนออกก็ต้องหันมาไล่พนักงานออก พนักงานภักดีและเคยคาดหวังว่าจะต้องทำงานที่เดิมไปตลอดชีวิตจู่ๆ ก็ไม่มีที่พึ่ง หลังจากนั้นจนถึงวันนี้ ภาคธุรกิจญี่ปุ่นเปลี่ยนโมเดลจากการจ้างงานซะระรีมัง มาเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวที่มีความมั่นคงน้อยและมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของพนักงานประจำ ขณะที่อัตราค่าจ้างมุนษย์เงินเดือนลดลงถึง 13% หรือต่ำที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว

อำลา "เฮเซ" ยุคสมัยที่คนญี่ปุ่นเลิกทำงานถวายหัวให้องค์กร Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นที่เคยใช้เงินแบบเป็นบ้าเป็นหลัง เริ่มเก็บเงินกันอย่างเดียว เพราะความไม่มั่นใจในอนาคต ทำให้ญี่ปุ่นมีอัตราเงินออมสูงที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ญี่ปุ่นขาดเงินไหลเวียนในระบบ เพราะผู้คนไม่กล้าใช้จ่าย ภาคธุรกิจก็ไม่เฟื่องฟูอีก ทั้งประเทศต้องจมอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงันนานถึง 20 ปี หรือ 2 ใน 3 ของยุคเฮเซเลยทีเดียว

นี่คือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "ศตวรรษที่สาบสูญ" หรือ Lost Decade หมายความว่าพลังทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหายสาบสูญไปโดยสิ้นเชิงในช่วงนี้ ซึ่งตอนแรกกินเวลานาน 10 ปี ระหว่างปี 1991 - 2000 แต่แล้วก็ยังแก้ไม่หาย จนต้องยืดช่วงเวลามาอีก 10 ปี มาสิ้นสุดเอาในปี 2010 ในระยะหลังจึงเรียกเป็น "สองทศวรรษที่สาบสูญ" และช่วงนี้เองที่เราเริ่มจะไม่เห็นสินค้า "เมด อิน เจแปน" แต่จะเริ่มเห็นสินค้าจากเกาหลี และหลังจากนั้นคือคลื่นสินค้าจากจีน

ยังไม่ต้องพูดถึงช่วงปลายสมัยเฮเซที่เกิดวิกฤตอัตราการเกิดต่ำ อันเป็นผลกระทบจากการล่มสลายของระบอบซะระรีมัง ทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะมีงานถาวร บวกกับความรู้สึกไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของคนยุคหลังฟองสบู่แตก ทำให้ไม่กล้าที่จะมีลูกเป็นภาระ และส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำในที่สุด

ยุคนี้เองที่เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "ชายกินพืช" หรือ Herbivore men คือผู้ชายที่ไม่มีความอยากจะแต่งงานมีครอบครัวและมีลูก สาเหตุมาจากความล่มสลายของระบบภักดีองค์กรหลังฟองสบู่แตก ทำให้ผู้ชายญี่ปุ่นไม่อยากจะแบกรับภาพความเป็นชายแกร่ง หรือสถานะผู้นำครอบครัวอีกต่อไป เพราะชีวิตของพวกเขามีความมั่นคงน้อยลง

จะเห็นได้ว่า ยุคเฮเซ คือยุคที่ญี่ปุ่นพบกับความตกต่ำอย่างถึงที่สุดในด้านเศรษฐกิจ เป็นยุคที่คนญี่ปุ่นเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับความภักดีต่อองค์กร ซึ่งสืบทอดมาจากยุคซามูไร ต่อมาถึงยุคสงครามโลครั้งที่ 2 และยุคเศรษฐกิจบูมรัชสมัยโชวะ

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของรัชสมัยและไม่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระจักรรรดิ ถ้าจะถามหาคนผิด ก็คงเป็นความผิดพลาดของภาคธุรกิจ และการกำหนดนโยบายที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล

 

อ้างอิง
Wingate, Kristin (2011). "Japanese Salarymen: On the Way to Extinction?" (PDF). Undergraduate Journal of Global Citizenship 1.1. Archived from the original (PDF) on 2015-04-16.

"1 in 4 men, 1 in 7 women in Japan still unmarried at age 50: Report". The Japan Times Online. 2017-04-05.

Yamada, Masahiro (3 August 2012). "Japan's Deepening Social Divides: Last Days for the "Parasite Singles"". Nippon.com. Retrieved 14 January 2016.

"Why the Japanese are having so few babies". The Economist. 23 July 2014. Retrieved 14 January 2016.

Ishimura, Sawako (October 24, 2017). "お疲れ女子の6割は恋愛したくない!?「疲労の原因」2位は仕事内容、1位は?(60% of tired women do not want to love!? "Cause of fatigue" second place work content, first place?)". Cocoloni Inc. Archived from the original on January 7, 2018. Retrieved April 21, 2019.