posttoday

เขาเอาตัวรอดกันยังไง ในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก

21 เมษายน 2562

ลำปาง กรุงเทพฯ หรือทุ่งทกุลาร้องไห้ก็ยังต้องยอมแพ้เมืองเหล่านี้

ลำปาง กรุงเทพฯ หรือทุ่งทกุลาร้องไห้ก็ยังต้องยอมแพ้เมืองเหล่านี้

โพสต์ทูเดย์เคยรายงานเรื่องสถานที่มีอุณหภูมิร้อนทีสุดในโลกไปแล้ว นั่นคือ Death Valley ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในโลกด้วยอุณหภูมิถึง 56.7 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1913 แต่สถานที่แห่งนี้ไม่มีมุนษย์อาศัยอยู่ในลักษณะชุมชน คราวนี้เราจะมาดูกันว่าเมืองไหนในโลกที่ร้อนที่สุด แต่ก็ยังมีมนุษย์ทนอยู่กันได้

แอฟริกา

เมืองเอลบายัธ (El Bayadh) ประเทศแอลจีเรีย เคยมีอุณหภูมิสูงถึง 51.3 องศา ระอุที่สุดในแอฟริกา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2018 แถมยังเคยทำสถิตินี้มาแล้วเมื่อวันที่ 2 กันยายน 1979 แม้จะทำลายสถิติร้อนที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่เมืองนี้มีผู้คนอาศัยเป็นเมืองขนาดกลาง และไม่ได้ร้อนตลอดเวลา ในฤดูหนาวยังมีหิมะตกด้วยซ้ำ พยากรณ์อากาศวันที่ 21 เมษายนยังระบุว่า มีฝนตกปรอยๆ ด้วยอุณหภูมิหนาวเย็นเพียง 7 องศาเท่านั้น สาเหตุที่เอลบายัธมีสภาพอากาศสุดขั้วขนาดนี้ เพราะเป็นเมืองที่อยู่ท่ามกลางทะเลทราย แต่อยู่ใกล้เทือกเขาแอตลาสที่มีอากาศเย็นสบาย ดังนั้นชาวเอลบายัธ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะร้อนชั่วนาตาปี ทั้งยังมีหิมะให้เล่นอีกด้วย

เขาเอาตัวรอดกันยังไง ในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก ทะเลทรายคูเวต ภาพโดย Jacques Descloitres, MODIS Land Rapid Response Team, NASA/GSFC

เอเชีย

เมืองมิตริบาห์ (Mitribah) เป็นสถานีวัดอากาศของคูเวต จึงมีความเที่ยงตรงเรื่องการจับสภาพอากาศ และพบว่าเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2016 เมืองนี้ร้อนถึง 54 องศา หรือร้อนที่สุดในเอเชียและโลก สาเหตุที่ร้อนจัด เพราะอยู่กลางทะเลทรายที่เวิ้งว้าง แม้ว่าจะอยู่ใกล้กับชายทะเลอ่าวเปอร์เซียก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะที่นี่ถูกถล่มโดย ชามัล (shamal) หรือลมทะเลทรายตะวันตกเฉียงเหนือที่ร้อนจัด แม้ว่าเมืองนี้จะมีคนอยู่น้อย แต่ไม่ไกลจากกันคือเมืองหลวงของประเทศ ในวันที่ทุบสถิตินั้น สนามบินนานาชาติคูเวตร้อนถึง 50.9 องศา แต่ชาวกรุงก็ยังเอาชีวิตรอดกันมาได้ เพราะพวกเขาปรับตัวให้อยู่ร่วมกับชามัลตามปกติ ด้วยการแต่งกายมิดชิด ปกปิดเนื้อตัวจากแสงแดด และอยู่ในร่ม

เขาเอาตัวรอดกันยังไง ในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ภาพโดย A.Savin

ยุโรป

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1977 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซร้อนถึง 48.0 องศา เป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดในยุโรปตลอดกาล ในวันนั้นคลื่นความร้อนถล่มคาบสมุทรกรีซและคาบสมุทรอนาโตเลีย (ตุรกี) รวมถึงเกาะครีต มีคนป่วยเพราะฮีทสโตรกถึง 40 คนในเมืองอันตัลยา ที่ตุรกี ส่วนทีเกาะครีต มีนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กตายไป 1 ราย ถูกส่งไปโรงพยาบาลอีก 10 ราย ตามปกติคลื่นความร้อนจะปกคลุมหลายพื้นที่ของยุโรช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ด้วยอุณหภูมิใกล้กับ 40 องศา ทำให้มีผู้ล้มป่วยและล้มตายอยู่บ่อยครั้ง แม้เทคโนโลยีการควบคุมอุณหภูมิในบ้านจะก้าวหน้าจากปี 1977 ไปมากแล้ว แต่ที่ยุโรปก็ยังมีความสูญเสียในชีวิตทุกๆ ปี

เขาเอาตัวรอดกันยังไง ในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงเขตเมืองเม็กฮิกาลีที่แห้งแล้งกับเมืองในฝรั่งสหรัฐที่เขียวชอุ่ม ภาพจาก NASA

อเมริกา

Death Valley เป็นดินแดนที่ร้อนที่สุดในโลก ทำให้ผู้คนแทบจะอยู่ไม่ได้ ชุมชนที่มีคนใจกล้าอยู่ในเขตนี้คือเฟอร์เนซครีก (Furnace Creek) จำนวนประชากรลดลงเหลือ 24 คนแล้ว เคยมีอุณหภูมิร้อนถึง 56.7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 1913 แต่เพราะประชากรของเฟอร์เนซครีกมีน้อยมาก จึงไม่น่าจะเรียกเป็นชุมชนใหญ่ได้ หากจะวัดกันที่จำนวนประชากร เขตเมืองเม็กฮิกาลี (Mexicali) ประเทศเม็กซิโกที่มีผู้นอาศัยถึง 689,775 คน เคยร้อนถึง 52 องศา เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1995 แต่เพราะเขตนี้เป็นทะเลทราย สภาพอากาศจึงร้อนสุดขั้วในตอนเช้า เย็นสุดขีดในตอนค่ำ เคยหนาวสุดๆ ถึง -7 องศามาแล้วในปี 1963 แน่นอนว่า ผู้คนที่อาศัยในเขตทะเลทราย มีศักยภาพในการปรับตัว ให้เข้ากับความผันผวนที่รวดเร็วนี้แบบวันต่อวัน

เขาเอาตัวรอดกันยังไง ในเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก เมืองอุดนาดัตตา ภาพโดย Kr.afol

โอเชียเนีย

เมืองอุดนาดัตตา (Oodnadatta) รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ทุบสถิติ 50.7 องศาเมื่อวันที่ 2 มกราคม 1960 เมืองนี้เป็นชุมชนขนาดพอเหมาะของเกษตรผู้เลี้ยงสัตว์ ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ร้อนแล้งและใกล้ทะเลทรายซิมป์สัน เช่นเดียวกันดินแดนทะเลทรายแห่งอื่นๆ ประชากร 277 คนของที่นี่รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่สุดขั้วได้ดี และยังรักษาเมืองชุมทางแห่งนี้ให้มีชีวิตชีวามาตลอด 100 กว่าปีนับตั้งแต่การสำรวจดินแดนที่ร้อนจัดแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1859 โชคดีที่อุดนาดัตตา ไม่ได้ร้อนอย่างสาหัสทุกปี เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยช่วงหน้าร้อนอยู่ที่เพียง 37 องศาเท่านั้น