posttoday

รอดหรือไม่รอด? เมื่อประเทศถูกปกครองโดย สว.( สูงวัย )

20 เมษายน 2562

Gerontocracy หรืออาวุโสธิปไตย หรือที่บางคนแปลว่าชราธิปไตย กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่

โดย กรกิจ ดิษฐาน

ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่คนหนุ่มสาวเผชิญหน้ากับคนรุ่นก่อนเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน แต่มันจำเป็นจะต้องเป็นการเผชิญหน้าระหว่างวัยหรือไม่?

หรือเป็นเพียงความหงุดหงิดใจชั่วครั้งชั่วคราวที่อีกไม่นานก็จะจืดจางไปเองตามกาลเวลา เหมือนที่ครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยผ่านการรัฐประหารปี 2549 และหลังจากนั้นได้รัฐบาลที่มีฉายาว่า "ขิงแก่" เพราะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีล้วนแต่เป็น "สว." หรือคนสูงวัย ในช่วงนั้นนักวิชาการได้หยิบยกศัพท์ทางรัฐศาสตร์คำหนึ่งขึ้นมาสะท้อนสังคมไทยยุครัฐบาลขิงแก่ นั่นคือคำว่า Gerontocracy

Gerontocracy ในภาษาอังกฤษอ่านออกเสียงว่า เจอรันโตเครซี่ มาจากภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า Geron (เจรอน) แปลว่า ชายชราหรือผู้สูงวัย และ Kratos (คราตอส) แปลว่า อำนาจหรือการปกครอง

ดังนั้น Gerontocracy จึงแปลว่า การปกครองของคนสูงวัย หรือเรียกอย่างเป็นทางการคือ อาวุโสธิปไตย

แนวคิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เช่น นครรัฐสปาร์ต้า ซึ่งปกครองโดยคณะผู้อาวุโส หรือ เจอรูเซีย (Gerousia) ซึ่งสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนนักปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ชาวกรีก คือ เพลโต กล่าวว่า "ผู้ปกครองคือผู้สูงวัย ส่วนผู้อ่อนวัยต้องเชื่อฟัง"

รอดหรือไม่รอด? เมื่อประเทศถูกปกครองโดย สว.( สูงวัย ) เจียงเจ๋อหมิน อดีตผู้นำจีน AFP PHOTO/GOH CHAI HIN

 

ในยุคโรมัน มีวุฒิสภา หรือ Senate ซึ่งเป็นต้นแบบของสภาสูงในระบบ 2 สภาทั่วโลกคำว่า Senate มาจากภาษาลาตินว่า Senex ที่แปลว่าชายชรา ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับคำว่า Geron ในภาษากรีก ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าทั้งกรีกและโรมัน ซึ่งเป็นต้นแบบประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ต่างมีความเชื่อเรื่องการปกครองโดยผู้อาวุโส และแนวคิดนี้ส่งทอดมาถึงการเมืองยุคปัจจุบัน เช่น วุฒิสมาชิกของสหรัฐส่วนใหญ่มักมีอายุมาก และประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ มักเลือกเอาจากนักการเมืองที่มีอายุมากและประสบการณ์สูง ผลปรากฎว่าประธานคณะกรรมาธิการของสภามีอายุสูงถึง 70 - 80 ปี และไม่มีวุฒิสมาชิกที่อายุน้อยกว่า 40 ปีเลย

ในระบบการเมืองบางประเภท การที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศต้องอาศัยระยะยาวในการสร้างผลงานแล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมา ทำให้ผู้ที่กุมอำนาจสูงสุดมักเป็นผู้สูงวัย เช่น ระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนและอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะในโซเวียต ช่วงทศวรรษที่ 80 หรือช่วงสุดท้ายก่อนที่จะล่มสลาย บรรดาสมาชิกกรมการเมืองต่างก็มีอายุ 70 ปีโดยเฉลี่ย

ส่วนในประเทศประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะแสวงหาคนรุ่นใหม่มาบริหารบ้านเมืองเท่านั้น หลายแห่งยังมีมีปรากฎการณ์อาวุโสธิปไตยทั้งในแบบธรรมเนียมปฏิบัติ เช่นที่วุฒิสภาของสหรัฐ (สมาชิกสภาคองเกรสอายุเฉลี่ย 59 ปี) และที่เป็นผลจากการเลือกตั้งโดยตรง เช่นที่อิตาลี เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีคณะรัฐมนตรีสูงวัยที่สุดแห่งหนึ่ง และเป็นเช่นนี้หลายรัฐบาล ล่าสุด คือรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกตะวันตก คือ 64 ปี นายกฯ คนต่อมาคือซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อายุ 75 ปี, โรมาโน โปรดี 70 ปี และล่าสุดคือจูเซปเป คอนเต อายุ 54 ปี ถือว่าหนุ่มกว่าใคร

รอดหรือไม่รอด? เมื่อประเทศถูกปกครองโดย สว.( สูงวัย ) แบร์ลุสโคนี Photo by Andreas SOLARO / AFP

ข้อดีของระบอบอาวุโสธิปไตย คือ มีผู้นำที่สุขุมรอบคอบและเขี้ยวลากดิน เช่น นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้กลับมาบริหารประเทศอีกครั้งแม้จะมีวัยถึง 92 ปีแล้วก็ตาม และเสือเหลืองเฒ่าก็ทำให้พญามังกรออกลายไม่ออก ด้วยการเดินเกมเจรจาแบบเด็ดขาด ทำให้พอจะชะลอปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลชุดก่อนก่อไว้ได้ แต่ก็ต้องรอดูกันต่อไปมาว่ามหาเธร์จะซื้อเวลาจากจีนไปได้อีกนานแค่ไหน

ข้อเสียของการมีผู้สูงวัยมาบริหารบ้านเมือง คือ คนสูงวัยอาจจะตามเทคโนโลยีไม่ทันจนไม่เข้าใจปรากฎการณ์ทางสังคมในหมู่คนรุ่นใหม่ Daniel Bessner และ David Austin Walsh ผู้เขียนบทความเรื่อง America has become a gerontocracy. We must change that (อเมริกากำลังกลายเป็นสังคมอาวุโสธิปไตย เราต้องเปลี่ยนแปลงมัน) ชี้ให้เห็นถึงตัวอย่างจากกรณีที่ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารของเฟซบุ๊คให้การกับคณะกรรมาธิการสภาคองเกรส แต่ออร์ริน แฮตช์ วุฒิสมาชิกวัย 85 ปี และเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกยาวนานที่สุดถามซักเคอร์เบิร์ก ว่าเฟซบุ๊คมีรายได้ทางไหน ซึ่งซักเคอร์เบิร์กถึงกับชะงัก แล้วตอบสั้นๆ ด้วยรอยยิ้มว่า "ท่านครับ เราติดโฆษณาครับ"

รอดหรือไม่รอด? เมื่อประเทศถูกปกครองโดย สว.( สูงวัย ) ออร์ริน แฮตช์ Photo by Mark Wilson/Getty Images/AFP

ผู้เขียนบทความยังแสดงทัศนะว่า ผู้นำสูงวัยเป็นผู้ตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ต้องรับผลของนโยบายนั้น เช่น ผู้นำที่อ่อนวัยกว่าน่าจะตัดสินใจนโยบายเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนได้ดีกว่า เพราะเป็นคนรุ่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในอนาคต ส่วนผู้นำสูงวัยมีแนวโน้มที่จะอยู่ไม่ถึงวันที่โลกถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากปัญหานี้

แต่ในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำ และมีคนสูงวัยเป็นจำนวนมาก ยากที่จะหลีกเลี่ยงระบอบอาวุโสธิปไตย เช่นในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงวัยเต็มตัวแล้ว รวมถึงหลายประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น อิตาลี ซึ่งผู้มีสิทธิออกเสียงครึ่งหนึ่งมีอายุมากกว่า 50 ปี

ส่วนไทยที่กำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัย ไม่วันนี้หรือวันหน้าก็หลีกเลี่ยงอิทธิพลของผู้สูงวัยได้ยาก

ภาพ Photo by Sakchai Lalit / POOL / AFP