posttoday

ไร้ประสบการณ์ก็ชนะเลือกตั้งได้ เปิดประวัติผู้นำหญิงนักสู้แห่งสโลวาเกีย

01 เมษายน 2562

จากนักกฎหมายที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาชนสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสโลวาเกียสายลิเบอรัล

จากนักกฎหมายที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาชนสู่ผู้นำสโลวาเกียสายลิเบอรัล

ผลการเลือกตั้งของสโลวาเกียเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมากลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศ เมื่อ ซูซานา ชาปูโตวา ทนายความเสรีนิยมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวัย 45 ปี ซึ่งแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์ในสายการเมืองเลย สามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง มารอส เซฟโควิช รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเมืองมากว่า 25 ปีจากพรรครัฐบาล ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกและเป็นผู้นำที่อายุน้อยที่สุดของประเทศด้วยคะแนนเสียง 58% ต่อ 42%

ว่าที่ผู้นำหญิงประกาศว่าการลงเลือกตั้งครั้งนี้ของเธอเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย และจะหาเสียงอย่างขาวสะอาด ไม่โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดยชูนโยบายขจัดการคอร์รัปชั่นที่กัดกินประเทศซึ่งชักใยโดยกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งจะหนุนให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ได้จดทะเบียนสมรสและรับรองบุตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งที่สโลวาเกียยังถือว่าเรื่องดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอยู่ เธอยังเลือกหันหลังให้กับนโยบายที่พรรคสายประชานิยมในเพื่อนบ้าน อาทิ ฮังการี โปแลนด์ ใช้ดึงคะแนนเสียง เช่น ผู้อพยพและค่านิยมครอบครัว

ไร้ประสบการณ์ก็ชนะเลือกตั้งได้ เปิดประวัติผู้นำหญิงนักสู้แห่งสโลวาเกีย ภาพ : REUTERS/Radovan Stoklasa

แต่ถึงอย่างนั้นชาวสโลวาเกียก็ยังเทคะแนนเสียงให้นักการเมืองหน้าใหม่อย่างเธออย่างท่วมท้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ชัยชนะของชาปูโตวามาจากความเบื่อหน่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มคนมีการศึกษาสูง ที่มีต่อกลุ่มอำนาจเก่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สวนทางกับอัตราการคอร์รัปชั่นที่สูงขึ้น

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของ แยน คูแช็ก นักข่าวสายสอบสวนและคู่หมั้น ที่ถูก มาเรียน คอชเนอร์ นักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศสั่งเก็บเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว หลังจากนักข่าวรายนี้ลงมือตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองและองค์กรอาชญากรรม

เหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญครั้งนี้นำมาสู่การรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ของสโลวาเกีย ซึ่งว่าที่ผู้นำหญิงก็เข้าร่วมเป็นแกนนำด้วย จนนำมาสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรี โรเบิร์ต ฟิโช ในเวลาต่อมา เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองและข่าวว่าคนใกล้ชิดของเขาเคยร่วมทำธุรกิจกับสมาชิกแก๊งมาเฟีย ถึงอย่างนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ก็ยังเป็นนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ของประเทศอยู่

การเสียชีวิตของนักข่าวสายสอบสวนยังเป็นแรงบันดาลใจให้ชาปูโตวาลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำในครั้งนี้ เพื่อลุกขึ้นมากำจัดคนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลให้สิ้นซากด้วย  

ไร้ประสบการณ์ก็ชนะเลือกตั้งได้ เปิดประวัติผู้นำหญิงนักสู้แห่งสโลวาเกีย ภาพ : REUTERS/David W Cerny

อย่างไรก็ดี ถึงชาปูโตวาจะเป็นหน้าใหม่ในทางการเมือง ทว่าในด้านนักกฎหมายนั้นชื่อเสียงเธอไม่เป็นรองใคร เคสที่เป็นผลงานชิ้นโบแดงก็คือการต่อสู้กับแผนการสร้างบ่อทิ้งขยะของคอชเนอร์ในเมืองเปซิน็อกบ้านเกิดของเธอถึง 14 ปี จนกระทั่งเมื่อปี 2013 ศาลพิพากษาว่าบ่อขยะดังกล่าวผิดกฎหมายในที่สุด

ชัยชนะครั้งนั้นทำให้เธอได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ที่มอบให้กับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับรากหญ้าเมื่อปี 2016 พร้อมด้วยฉายา “เอริน บร็อกโควิชแห่งสโลวาเกีย” ซึ่งมาจากภาพยนตร์เรื่อง Erin Brockovich ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของทนายความหญิงคนหนึ่งที่เปิดโปงการลักลอบปล่อยสารพิษในแหล่งน้ำชุมชนของบริษัทยักษ์ใหญ่และเดินหน้าต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านจนชนะคดี

ระหว่างหาเสียงชาปูโตวาถูกโจมตีด้วยข่าวลือและทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาจากฝ่ายตรงข้ามที่ใช้เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลเท็จว่าเธอเป็นชาวยิว หรืออ้างว่าการหนุนกลุ่ม LGBTQ ของชาปูโตวาจะทำให้ศีลธรรมวิบัติ หรือใส่ร้ายว่าเธอเป็นผู้สมัครของ จอร์จ  โซรอส มหาเศรษฐีที่เป็นที่เกลียดชังของกลุ่มการเมืองขวาจัดในยุโรป แต่เธอเผยว่าไม่ได้หวั่นไหวกับข้อครหาต่างๆ เนื่องจากเธอฝึกโยคะแบบนิกายเซนเป็นประจำทำให้รู้สภาพอารมณ์ของตัวเอง และเชื่อมั่นว่า “ชาวสโลวักมีความสามารถและวุฒิภาวะพอที่จะแยกแยะได้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง”

ไร้ประสบการณ์ก็ชนะเลือกตั้งได้ เปิดประวัติผู้นำหญิงนักสู้แห่งสโลวาเกีย ชาปูโตวาเดินทางมาลงคะแนนเสียงพร้อมกับเอ็มม่า บุตรสาว ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกที่คูหาเลือกตั้งในเมืองเปซิน็อกบ้านเกิดเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา  ภาพ : REUTERS/David W Cerny