posttoday

ระวัง! สูดพีเอ็ม 2.5 เยอะๆ เสี่ยงเป็นหมัน

25 มีนาคม 2562

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเปาลูของบราซิลชี้ การหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็ก หรือพีเอ็ม 2.5 เข้าร่างกายส่งผลกระทบต่อระดับยีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอัณฑะ ทำให้ผลิตสเปิร์มได้น้อยลง

งานวิจัยครั้งนี้ ซึ่งกำลังจะนำเข้าที่ประชุมประจำปีสมาคมต่อมไร้ท่อที่สหรัฐ ได้ศึกษาการผลิตสเปิร์มของหนูทดลองที่ได้รับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เก็บจากเมืองเซาเปาลู เมืองใหญ่ที่สุดของบราซิลและใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนโตเต็มวัย กลุ่มที่สองได้รับเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ กลุ่มที่สามได้รับหลังเกิดตั้งแต่ช่วงหย่านมถึงโตเต็มวัย กลุ่มที่สี่ได้รับอากาศบริสุทธิ์ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่จนถึงโตเต็มวัย

เมื่อนำสเปิร์มของหนูทั้งสี่กลุ่มมาวิเคราะห์ก็พบว่า คุณภาพสเปิร์มของหนูสามกลุ่มแรกที่ได้รับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แย่กว่าหนูกลุ่มที่สี่ที่ไม่ได้รับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยหนูกลุ่มแรกที่สัมผัสมลพิษในอากาศทั้งก่อนและหลังเกิดมีปริมาณและคุณภาพสเปิร์มต่ำที่สุด ผลวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่าช่วงเวลาการรับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่อันตรายต่อการทำงานของอัณฑะมากที่สุดคือ ช่วงหลังจากลืมตาดูโลก ทั้งการลดลงของสเปิร์มยังเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับดีเอ็นเอซึ่งอาจถ่ายทอดไปสู่หนูรุ่นลูกได้ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันภาวะมีบุตรยากกำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า ประชากรโลกราว 15% มีบุตรยาก โดยครึ่งหนึ่งมาจากภาวะมีบุตรยากในเพศชาย และหนึ่งในสาเหตุก็คือการหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนสารพิษต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย